svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เภสัชกร ม.อุบลฯ คัดค้าน! พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่

31 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2561 - คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี จัดกิจกรรมเกี่ยวกับ พ.ร.บ. ยา ประเด็นปัญหา และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการรวมพลัง คัดค้าน พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ห้องประชุมศรีพานิชกุลชัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีเครือข่ายเภสัชกรจังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดใกล้เคียง อาจารย์ นักศึกษา ศิษย์เก่า จำนวนกว่า 400 คน จัดกิจกรรมเกี่ยวกับพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ยา ประเด็นปัญหา และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการรวมพลัง คัดค้านพรบ.ยาฉบับใหม่ ร่วมแปรอักษร เป็นรูป Rx UBU และร้องเพลงมงคลนามเภสัชกรรม รศ.ดร.ภญ.วันดี รังสีวิจิตรประภา รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ เปิดเผยถึงข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นมาของร่าง พ.ร.บ.ยา พ.ศ. 2510 และร่างฉบับปรับปรุง และได้นำสรุปประเด็นปัญหาของ (ร่าง) พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ ที่เป็นปัญหา หากไม่ได้รับการแก้ไข จะนำมาซึ่งการใช้ยาอย่างไม่สมเหตุผลและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนได้ ซึ่งเป็นที่มาของการจัดกิจกรรมเพื่อรวมพลังไม่เห็นด้วยกับ (ร่าง) พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่



ผศ.ดร.ภญ.ชุตินันท์ ประสิทธิภูริปรีชา คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า การจัดกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการรวมพลังแสดงจุดยืนในการคัดค้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้อยู่ระหว่างการพิจารณาปรับปรุง และจะดำเนินการเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข


เภสัชกร ม.อุบลฯ คัดค้าน! พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่



ทั้งนี้ ได้มีประเด็นที่เป็นสาระสำคัญที่ควรแก้ไข ตามที่นายกสภาเภสัชกรรม แจ้งไปยังเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา 9 ประเด็น ที่เป็นปัญหาที่ทำให้สภาเภสัชกรรมขอคัดค้าน ดังนี้

1. การแบ่งประเภทยาไม่เป็นไปตามหลักสากลและไม่ทันสมัย

2. การตัดเนื้อหาที่เป็นบทบาทของวิชาชีพเภสัชกรรมในการปรุงยาและจ่ายยาตามใบสั่งของแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ออกไป และได้ให้อำนาจแก่ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นในวงกว้างขึ้น ซึ่งในการผลิตหรือผสมยา จะต้องดำเนินการในสถานที่ตามมาตรฐาน อีกทั้งผู้ปฏิบัติจะต้องมีความรู้เรื่องการผลิตยาที่ถูกต้อง

3. ควรมีการกำหนดให้ผู้จ่ายยา หรือแบ่งจ่ายยา ต้องมีความรู้พื้นฐาน การศึกษา ความรู้ ทักษะ และความสามารถในการจ่ายยาตามมาตรฐานวิชาชีพอย่างเดียวกัน

4. ไม่มีการควบคุมที่เข้มงวดในการจดแจ้งชีววัตถุหรือการจดแจ้งการโฆษณายา

5. ควรมีการบัญญัติเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง E-commerce และ Tele-pharmacy

6. มีการกำหนดให้เภสัชกรสามารถอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานประกอบการณ์ได้มากกว่า 1 แห่ง

7. ไม่มีบทบัญญัติที่กล่าวถึงร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ (ขย.2)

8. การกำหนดบทลงโทษของผู้กระทำผิด ยังไม่เหมาะสม

9. มีความคาบเกี่ยวกับพรบ.ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ซึ่งยังอยู่ในระหว่างดำเนินการก่อนประกาศใช้


ด้านนายศิริพงศ์ พจนา นักศึกษาเภสัชศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 นายกสโมสรนักศึกษาคณะเภสัชศาสตร์ นำนักศึกษาเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นต่อ (ร่าง) พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ พร้อมเชื่อมั่นในบทบาทของนักศึกษาและเภสัชกรในการปฏิบัติหน้าที่ของตนตามหลักวิชาชีพและจรรยาบรรณที่ดี จากนั้น นักศึกษา คณาจารย์และเครือข่ายเภสัชกร ร่วมถ่ายภาพแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในการคัดค้าน พรบ.ยาฉบับ ดังกล่าว และร่วมกันแปรอักษร เป็นรูป Rx UBU ณ ลานยาหม้อ ทุกคนร่วมร้องเพลงมงคลนามเภสัชกรรม พร้อมจุด Flash light จากโทรศัพท์มือถือ อันเป็นสัญลักษณ์ของความสว่างไสวของระบบสาธารณสุขไทยในยุคดิจิตอลตามที่คาดหวัง นับเป็นการแสดงพลังครั้งสำคัญของวิชาชีพเภสัชกร และพลังแห่ง หมอยา ม.อุบลราชธานี

logoline