svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

คดีพลิกกรมอุทยานฯชนะ"ชวน"เกาะปอดะ

18 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ศาลอุทธรณ์ ภาค8 ยกคำตัดสินศาลฎีกา ปี 2556 ที่ว่า ส.ค.ฝ่ายโจทก์ไม่ได้อยู่บนเกาะปอดะ ให้เพิกถอน น.ส.3ก.ทั้งหมด และการอ้าง ส.ค.หมายเลข 1 ถือว่าไม่ถูกต้อง อีกทั้งภาพถ่ายทางอากาศ 2510 ไม่พบร่องรอยทำประโยชน์ ชี้มูลค่าที่ดินสูงถึง 4,000 ล้าน "ชัยวัฒน์"พร้อมสู้ถึงฎีกา

สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 16 สิงหาคม ที่ผ่านมา ศาลจังหวัดกระบี่ อ่านคำพิพากษาอุธรณ์ ภาค 8 คดีที่ นายชวน ภูเก้าล้วน เป็นโจทก์ยื่นฟ้องกรมอุทยานแห่งชาติฯ กรณีพิพาทบนเกาะปอดะ หมู่ 2 ต.อ่าวนาง อ.เมือง จ.กระบี่ โดยคดีนี้ศาลชั้นต้น พิพากษา เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2560 ให้กรมอุทยานแห่งชาติฯ แพ้คดี เพราะเชื่อว่าโจทก์อยู่มาตั้งแต่ พ.ศ.2495 ตามหลักฐาน ส.ค.1 


วันนี้ (17 ส.ค.) นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ ร.ต.อ.วิษณุ ฉิมตระกูล ผู้เชียวชาญเฉพาะด้าน กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร อดีตหัวหน้าหน่วยพญาเสือ นายทรงธรรม สุขสว่าง ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา ผู้แทนกรมวิชาการเกษตรฯ ร่วมแถลงข่าว กรณีศาลอุทธรณ์ ภาค 8 พิพากษาให้กรมอุทยานฯ ชนะคดี และให้นายชวน ออกจากที่ดินแปลงพิพาทบนเกาะปอดะ


ทั้งนี้ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ภาค 8 อ้างคำพิพากษาศาลฎีกาเมื่อปี 2556 สรุปว่า ส.ค.1 หมายเลขสอง ที่ฝ่ายเอกชนอ้างว่าอยู่ติดกันกับส.ค.1 หมายเลขหนึ่ง นั้น ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ส.ค.1 หมายเลขสอง ไม่ได้อยู่บนเกาะปอดะ จึงพิพากษาให้เพิกถอน น.ส.3ก. ทั้งหมด ดังนั้น การที่โจทก์ นำส.ค.1 หมายเลขหนึ่ง มากล่าวอ้างถือว่าไม่ถูกต้อง และจากการพิสูจน์ภาพถ่ายทางอากาศ เมื่อปี พ.ศ.2510 ไม่พบร่องรอยการทำประโยชน์ จึงพิพากษาว่า คำกล่าวอ้างของโจทก์ ฟังไม่ขึ้น ให้โจทก์ คือนายชวน ภูเก้าล้วน ออกจากที่ดิน และชำระค่าทนาย 500,000 และชำระค่าธรรมเนียมศาล 400,000 บาทนายธัญญา แถลงว่า คดีนี่เป็นบทเรียนความร่วมมือบูรณาการดำเนินการเพื่อเอาทรัพยากรธรรมชาติ กลับมาเป็นสมบัติชาติไม่ให้ตกเป็นของผู้หนึ่งผู้ใด และจะใช้เป็นแนวทางการต่อสู้คดีพิพาทคดีอื่นๆ ที่เอกชนเข้ามาบุกรุกพื้นที่อุทยานฯ


ร.ต.อ.วิษณุ ผู้แทนดีเอสไอ แถลงว่า ในส่วนดีเอสไอ ได้วิเคราะห์คำพิพากษา กำหนดประเด็นหาข้อเท็จจริง คือ 1.ภาพถ่ายทางอากาศ 2510 แปลงพิพาทไม่มีการทำประโยชน์ ยังมีสภาพเป็นป่า ขัดกับหลักฐานฝ่ายเอกชน ที่อ้างว่าอยู่มาตั้งปี 2475 แต่จากการที่กรมวิชาการเกษตร นับอายุต้นมะพร้าวตามหลักสากล ซึ่งฝ่ายเอกชนระบุว่าปลูกเมื่อปี 2510 แต่รัฐระบุว่าปลูกปี 2515 พบว่ามีอายุ 45 ปี และถ้าส.ค.1 ตรงแปลง และปลูกมะพร้าวจริง มะพร้าวจะมีอายุ 65 ปี การนับอายุต้นมะพร้าวจึงมีน้ำหนักมีความน่าเชื่อถือ ประเด็นที่ 2.ส.ค.1 ที่ใช้กล่าวอ้าง ศาลฎีกาพิพากษาว่า ไม่ได้อยู่บนเกาะปอดะ เป็นที่มาของคำตัดสินให้กรมอุทยานชนะคดี



ส่วนนายชัยวัฒน์ แถลงว่า ตามกระแสพระราชดำรัส ในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้หน่วยงานบูรณาการร่วมกันงานจะสำเร็จ คดีนี้ถือเป็นคดีที่ได้ดำเนินตามพระราชดำรัส สำหรับที่ดินบนเกาะ มีมูลค่าไม่น้อยกว่า 4,000 ล้านบาท และเชื่อว่าฝ่ายโจทก์จะยื่นฎีกา แต่ทีมงานยังอยู่จะพยายามเอาที่ดินของรัฐมาเป็นที่ของส่วนรวม ให้ได้



ด้าน ผอ.สำนักอุทยานฯ บอกว่า นับเป็นคดีตัวอย่างต้นแบบในการต่อสู้คดีที่เอกชน หรือนายทุน ที่เข้าไปบุกรุกพื้นที่อุทยานแห่งชาติในแห่งอื่นๆ โดยจะบูรณาการใช้หลักกฎหมาย หลักวิชาการ บันทึกประวัติศาสตร์ เป็นหลักฐานต่อสู้คดีได้ แต่กว่าจะถึงวันนี้ นับว่ายากมากกว่าจะรวบรวมหลักฐานให้ศาลเชื่อ 



ขณะที่ นายวรพจน์ ล้อมลิ้ม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ ระบุว่า คดีนี้นับเป็นมหากาพย์การต่อสู้ยาวนานมาก และหากใครเคยไปเกาะปอดะ จะรู้สึกได้ว่าสถานที่แห่งนี้เป็นทรัพยากรของโลก เหมาะสมที่จะเป็นพื้นที่ส่วนรวมใช้ประโยชน์ร่วมกัน

logoline