svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แผ่นแปะสมุนไพร รักษาแผลเบาหวาน

17 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

มหาวิทยาลัยนเรศวรพัฒนาวัสดุปิดแผลผู้ป่วยเบาหวานจากรังไหมและว่านหางจระเข้ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการสมานแผล เตรียมทดสอบ 7 โรงพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมหาผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุนต่อยอดเชิงพาณิชย์

มหาวิทยาลัยนเรศวรพัฒนาวัสดุปิดแผลผู้ป่วยเบาหวานจากรังไหมและว่านหางจระเข้ หวังเพิ่มประสิทธิภาพการสมานแผล เตรียมทดสอบ 7 โรงพยาบาลทั่วประเทศ พร้อมหาผู้ประกอบการที่สนใจเข้ามาลงทุนต่อยอดเชิงพาณิชย์


จุดเริ่มแนวคิดเกิดจาก นายแพทย์ศรัณย์ วรศักดิ์วุฒิพงษ์ ภาควิชาศัลยศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ร่วมกับ รศ.ภญ.จารุภา วิโยชน์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ คิดค้นวัสดุปิดแผลจากวัตถุดิบธรรมชาติ เพื่อใช้รักษาแผลผู้ป่วยโรคเบาหวานซึ่งมีจำนวนมากและเป็นแผลเรื้อรังที่รักษายาก ทดแทนแผ่นปิดที่นำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาแพง


รังไหมผสมว่านหางจระเข้


ปรียวัสส์ พิมพ์นวล นิสิตปริญญาเอก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของงานวิจัยเกิดจากการที่มองเห็นปัญหาของกลุ่มเป้าหมายหลักคือ ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นแผลและไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ทำให้แผลลุกลามจนเป็นที่มาของการตัดแขนหรือตัดขา ส่งผลให้เกิดปัญหาตามมาอีกมากมาย ฉะนั้น หากสามารถแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดจะช่วยลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจและเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย


แผ่นแปะสมุนไพร รักษาแผลเบาหวาน


แผ่นแปะแผลสมุนไพรใช้วัตถุดิบที่หาได้ง่ายในประเทศ ประกอบด้วย ไฟโปรอินและสารสกัดจากวุ้นว่านหางจระเข้ ร่วมกับกระบวนการผลิตสารสกัดและวัสดุปิดแผลที่ทำมาจากรังไหม ที่ไม่มีการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ โดยแช่ในน้ำเกลือและสกัดออกมา โดยไม่ใช้เครื่องมือชั้นสูงในการผลิตและไม่สร้างมลภาวะ ทำให้ต้นทุนผลิตภัณฑ์ต่ำ


โปรตีนจากรังไหมสามารถดูดซับน้ำได้ดี สามารถให้เซลล์เข้ามายึดเกาะ เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเซลล์ มีความแข็งแรงยืดหยุ่นที่เหมาะสม มีน้ำหนักเบา สามารถเข้ากันได้กับเนื้อเยื่อหรือเซลล์ของสิ่งมีชีวิต ขณะที่ว่านหางจระเข้เป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่มีคุณสมบัติในการรักษาแผลไหม้ น้ำร้อนลวก ต้านเชื้อแบคทีเรียและลดการอักเสบ


"แผ่นแปะแผลนี้ไม่ได้รักษาโรคเบาหวาน แต่รักษาแผลเรื้อรังจากโรคเบาหวาน จากการทดลองในหนูทดลอง พบว่า ประสิทธิภาพการทำงานของไฟโบรอินที่อยู่ในรังไหม ซึ่งเป็นโปรตีนที่สำคัญไปช่วยเสริมฤทธิ์กับว่านหางจระเข้ เข้าไปช่วยกระตุ้นเซลล์ในบริเวณที่เป็นแผล ช่วยในการสร้างเนื้อเยื่อ เพราะผู้ป่วยเบาหวานจะมีข้อจำกัดในการสร้างเนื้อเยื่อบริเวณที่เป็นแผล"


นอกจากนี้ ประสิทธิภาพของแผ่นสมุนไพรยังช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องทนเจ็บจากการทำแผลบ่อยครั้ง เนื่องจากแผ่นปิดแผลดังกล่าวไม่ต้องเปลี่ยนทุกวัน หรือใช้ได้นานครั้งละ 2-3 วันจึงเปลี่ยนใหม่ และจากการทดลองในเฟสสอง พบว่า อาสาสมัครที่ทำการทดลองมีเนื้อเยื่อในบริเวณแผลเบาหวานดีขึ้น ขณะนี้โครงการวิจัยกำลังเดินหน้าสู่เฟสสาม โดยทำการทดลองในโรงพยาบาล 7 แห่งทั่วประเทศในอาสาสมัคร 60 คน เพื่อทดสอบและเปรียบเทียบกับวัสดุปิดแผลที่มีอยู่ในท้องตลาด


แผ่นแปะสมุนไพร รักษาแผลเบาหวาน




คุณภาพสูง ต้นทุนต่ำ

ปรียวัสส์ กล่าวว่า ปัจจุบันต้นทุนของวัสดุปิดแผลสมุนไพร 6.5x6.5 เซนติเมตร ราคาอยู่ที่แผ่นละ 37 บาท ขณะที่วัสดุปิดแผลที่ใช้รักษาทั่วไปตามท้องตลาดอยู่ที่แผ่นละ 100 กว่าบาท อีกทั้งไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับแผลเบาหวาน โดยมีประสิทธิในการดูดซับหนอง เลือดหรือฆ่าเชื้อแบคทีเรียเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งประดิษฐ์ทางการแพทย์ยี้ยังต้องทดลองกับคนไข้อาสาสมัครในระยะที่สาม เพื่อตรวจสอบผลข้างเคียงต่างๆ ควบคู่ไปกับการจดสิทธิบัตรก่อนที่จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ภาคเอกชนนำไปผลิตเชิงพาณิชย์ต่อไป คาดว่าต้องใช้ระยะเวลา 3-5 ปีจึงสามารถนำออกสู่ตลาดได้

สำหรับจุดเด่นงานวิจัยนี้ จากการประเมินความปลอดภัยของวัสดุปิดแผลไฟโบรอินผสมสารสกัดจากวุ้นว่านหางจระเข้ในการรักษาแผลเรื้อรังในผู้ป่วยเบาหวาน ได้มีการขยายขนาดการผลิตเพื่อรองรับการผลิตในระดับอุตสาหกรรม เนื่องจากกระบวนการผลิตสารสกัดและวัสดุปิดแผล ไม่มีการใช้ตัวทำละลายอินทรีย์ ไม่ต้องใช้เครื่องมือชั้นสูงที่มีราคาแพง ไม่ใช้พลังงานสูง และไม่สร้างมลภาวะ จึงทำให้ต้นทุนผลิตภัณฑ์ไม่แพง ส่งผลให้เกิดความเป็นไปได้ในการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมเพื่อการผลิตภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น คาดว่าจะสามารถขายในราคาถูกกว่าผลิตภัณฑ์ที่มีขายในท้องตลาดปัจจุบัน

ทั้งนี้ ล่าสุดโครงการวิจัยอยู่ระหว่างการประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการผลิตต้นแบบวัสดุฯ เพื่อการทดลองเฟส 3 ใน 7 โรงพยาบาลที่ได้ติดต่อประสานงานไว้แล้ว

logoline