svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เซ็กส์เอาท์ดอร์ - "รสนิยม" สู่ "แฟชั่น"

16 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ความจริงการมีเพศสัมพันธ์ หรือการมีเซ็กส์นั้นเป็นธรรมชาติของสัตว์โลกที่ถูกสร้างมาเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ มนุษย์ก็เป็นสัตว์โลกชนิดหนึ่งที่ต้องสืบพันธุ์เพื่อดำรงอยู่เช่นกัน เพียงต่างกันตรงที่มนุษย์นั้นเป็นสัตว์สังคม มีวัฒนธรรม และอารยธรรม การมีเพศสัมพันธ์จึงต้องทำกันอย่างปกปิดและยึดถือกันเป็นอารยะ ดังนั้นการประกอบกิจกรรมทางเพศไม่ว่าจะลึกซึ้งระดับใดในที่สาธารณะจึงถูกเรียกว่า "อนาจาร" และ "น่ารังเกียจ"


อย่างในประเทศตะวันตก แม้ว่าวัฒนธรรมการแสดงออกทางเพศของเขาจะเสรีมากกว่าประเทศแถบเอเชีย รวมถึงในบ้านเรา แต่ก็ไม่เคยเห็นว่ามีประเทศไหนเห็นดีเห็นงามกับการมีเซ็กส์ในที่สาธารณะของคนบางจำพวก

เซ็กส์เอาท์ดอร์ - "รสนิยม" สู่ "แฟชั่น"


อย่างเมื่อไม่กี่วันมานี้มีข่าวคู่รักชายหญิงคู่หนึ่งพากันไปปูผ้าเล่นหนังสดกลางแจ้งในสวนสาธารณะราวด์เฮย์ พาร์ค ในเมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษ ท่ามกลางผู้คนและเด็กๆ ที่ไปเที่ยวพักผ่อนตอนกลางวันแสกๆ



ชายหญิงคู่นี้ประกอบกามกิจโดยไม่แคร์สายตาใครๆ แม้กระทั่งถูกขู่ว่าตำรวจกำลังมา พวกเขาก็ยังสนุกกันต่อ จนชายคนหนึ่งซึ่งมีลูกอยู่ที่นั่นด้วยทนดูภาพอุบาทว์ต่อไปไม่ไหว เดินปรี่เข้าไปใช้มือตบเข้าที่บ้องหูและต่อยฝ่ายชายซ้ำอีกสองสามที จนคู่รักคู่นี้ต้องรีบหอบผ้าหอบผ่อนวิ่งหนีไป



และในประเทศเดียวกันก็ยังมีข่าวฉาวโฉ่ คู่รักชายหญิงสองคู่นัดกันไปเซ็กส์หมู่กลางแจ้งในสวนสาธารณะอีกแห่งหนึ่ง โดยไม่สนว่าจะมีคนยืนก่นด่าอยู่มากเท่าไหร่ และแม้สุดท้ายคู่รักกามวิปริตทั้งสี่คนจะถูกตำรวจเข้ามาควบคุมตัวไปดำเนินคดีแล้ว แต่ภาพลักษณ์ของสังคมเมืองผู้ดีแห่งนี้ก็ถูกประจานให้อับอายไปทั่วโลก



ส่วนที่บ้านเรา ในเวลาไล่เลี่ยกับข่าวนี้ ชาวสังคมออนไลน์กำลังพากันประจานพฤติกรรมของกลุ่มชายรักชายกลุ่มหนึ่งที่เข้าไปยึดพื้นที่สวนสาธารณะกลางกรุงเป็นแหล่งพบปะเพื่อมีสัมพันธ์ทางเพศกันอย่างโจ๋งครึ่ม


ความจริงแล้ว "เซ็กส์ในสวนสาธารณะ" เป็นปรากฏการณ์ที่มีมานานและมีอยู่ทั่วไปไม่เฉพาะในกรุงเทพฯ เพียงแต่ที่ผ่านมาเรามักได้ยินแต่ข่าวคู่รักชายหญิงแอบเข้าไปพลอดรักกันตามมุมอับ หรือจุดลับตา บางครั้งมีบ้างที่เชื่อว่าเป็นการปลดปล่อยอารมณ์ของพวกซื้อขายบริการในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย แต่ก็ยังไม่ถือว่าอุจาดตาเหมือนกับพฤติกรรมของกลุ่มชายรักชายที่เพิ่งเป็นข่าวล่าสุดนี้

เซ็กส์เอาท์ดอร์ - "รสนิยม" สู่ "แฟชั่น"

เซ็กส์ของกลุ่มชายรักชายในสวนสาธารณะที่กำลังพูดถึงนี้เกิดขึ้นที่ สวนลุมพินี ซึ่งผู้ที่ไปวิ่งออกกำลังกายที่นั่นไปพบเข้าขณะเดินผ่านบริเวณ ศาลาแปดเหลี่ยม



ชาวบ้านคนนี้ทวิตข้อความบอกชาวโซเชียลว่า ขณะเดินลัดสนามเพื่อจะไปหลบฝน เขาได้เห็นกลุ่มชายรักชายกำลังทำกิจกรรมรักร่วมเพศกันที่ศาลาแปดเหลี่ยม ซึ่งทวิตของเขามีคนเข้ามาแสดงความเห็นด้วยการให้ข้อมูลพร้อมกับภาพประกอบว่า สิ่งที่เกิดในสวนลุมพินีนั้น ที่สวนรถไฟ สวนจตุจักร ก็มีเหมือนกัน



ความเห็นหลายๆ ความเห็นในทวิตเตอร์ถูกนำไปขยายต่อยังสื่อต่างๆ และพบว่า ในสังคมชายรักชายจะมีการนัดพบกันตามสวนสาธารณะผ่านทางแอพพลิเคชั่นหลายช่องทาง ทวิตเตอร์ก็เป็นช่องทางแสนสะดวกในการติดต่อกัน


บางครั้งข้อความของพวกเขาจะใช้คำที่รู้กันเฉพาะกลุ่ม แต่บางทีก็บอกกันตรงๆ ว่า ใครต้องการมีอะไรกันให้ไปเจอที่นั่นที่นี่ ซึ่งพวกเขาเรียกรสนิยมทางเพศแบบนี้ว่า "เทรนด์เอาท์ดอร์" และดูเหมือนว่าปัจจุบันรสนิยมแบบนี้กำลังจะกลายเป็น "แฟชั่นนิยม" ที่มีการปักหมุด เก็บแต้มแข่งกันไปแล้ว

กิตตินันท์ ธรมธัช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์รายการเรื่องเล่าเช้านี้ ทางช่อง 3 ให้นิยามศัพท์ "เอาท์ดอร์" ในที่นี้ว่า คือ นอกห้องนอน นอกบ้าน ซึ่งก็คือที่สาธารณะ หรือสถานที่เปิดเผย การมีเพศสัมพันธ์แบบเอาท์ดอร์ของกลุ่มชายรักชาย หรือแม้กระทั่งคู่ชายหญิงก็เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศและเพิ่มความตื่นเต้น ซึ่งเป็นรสนิยมของแต่ละคน

เซ็กส์เอาท์ดอร์ - "รสนิยม" สู่ "แฟชั่น"

เขาบอกว่าผู้ชายที่จะเอาท์ดอร์บางคนจับคู่กันผ่านทางโซเชียล ซึ่งอาจมีกลุ่มปิดของผู้ที่มีรสนิยมแบบนี้ หรือบางทีก็ไปจับคู่กันในสถานที่ที่จะไป โดยพวกเขาจะรู้กันเองว่ามีที่ใดบ้าง ซึ่งเรื่องแบบนี้ก็มีทั้งผู้หญิงผู้ชาย ไม่ใช่เฉพาะในกลุ่มชายรักชาย

เขายังบอกด้วยว่าเซ็กส์ในสวนสาธารณะของกลุ่มชายรักชาย ช่วงแรกๆ นัดกันที่สวนรัชวิภา ย่านรัชโยธิน และขยายไปเรื่อยจนตอนนี้สวนสาธารณะใน กทม.มีเรื่องแบบนี้แอบแฝงทุกที่ รวมถึงต่างจังหวัด

ในทางการแพทย์นั้น การมีเพศสัมพันธ์ที่แตกต่างจากคนปกติทั่วไปนั้น ยังไม่จัดได้ว่าเป็นผู้ป่วยทางจิต แต่อาจเรียกว่า "รสนิยม" แต่บางทีหากพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปมาก ก็อาจเข้าข่ายผู้มีความเสี่ยง

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ โฆษกกรมสุขภาพจิต อธิบายไว้ในรายการเดียวกันว่า บางกรณีเกิดจากความเข้าใจทางเพศที่ไม่ถูกต้อง เช่น กลุ่มวัยรุ่นที่ท้าทายกันเอง กลุ่มนี้หากได้รับการชี้แจงทำความเข้าใจที่ถูกต้องแล้วก็จะยุติไปเอง ส่วนอีกกลุ่มเป็นกลุ่ม "มีความสุขทางเพศแบบไม่ปกติ" หรือ พาราฟีเลีย (Paraphilia) เป็นเรื่องการชื่นชอบทางเพศที่เริ่มมีปัญหา ซึ่งต่างจากรสนิยมทางเพศ

เซ็กส์เอาท์ดอร์ - "รสนิยม" สู่ "แฟชั่น"

คำว่า "มีความสุขทางเพศแบบไม่ปกติ" ตามคำอธิบายของ นพ.อภิชาติ คือ พฤติกรรมที่ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ผิดกฎหมาย ผิดศีลธรรม ถ้ากอดกันหอมกันคงไม่เท่าไหร่ แต่เมื่อเริ่มที่จะไปคุกคามคนอื่น เช่น ขโมยกางเกงใน ชอบมีเซ็กส์กับเด็ก กับสัตว์ รวมไปถึงการชอบโชว์ หรือ Exhibitionism เป็นพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศชนิดชอบโชว์ของลับให้คนอื่นเห็น ในกลุ่มนี้มีความต่างจากคนทั่วไปคือจะมีความสุขทางเพศ มากๆ เวลามีคนมาดู โดยจะไม่สามารถมีความสุขทางเพศแบบปกติได้เหมือนคนทั่วไป

นพ.อภิชาติ บอกว่า กลุ่มที่มีพฤติกรรมมีความสุขทางเพศแบบไม่ปกติและมักทำซ้ำนั้น สงสัยว่าจะเข้าข่ายกลุ่มชอบโชว์ ซึ่งเป็นกลุ่ม "โรคกามวิปริต" ส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้จะกระทำโดยไม่รู้ตัว และจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการรักษา บางรายอาจมีอาการซึมเศร้าร่วมด้วย การบำบัดต้องมีการควบคุมพฤติกรรม มีการปลดปล่อยอย่างถูกต้อง ทำกิจกรรมอื่นๆ หากพบเห็นการมีเพศสัมพันธ์กลางแจ้งควรแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐ จะดีที่สุด ไม่ควรเข้าไปตักเตือนด้วยตนเอง

ส่วนทนายรณณรงค์ แก้วเพ็ชร์ จากเพจทนายคู่ใจ ชี้ว่าการมีเพศสัมพันธ์ในที่สาธารณะ ซึ่งเป็นที่ที่บุคคลทั่วไปสามารถเข้าถึงได้จะมีความผิดตามมาตรา 388 "ผู้ใดกระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกาย หรือกระทำการลามกอย่างอื่น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท"

นอกจากนี้หากกลุ่มคนดังกล่าวนัดหมายมีเพศสัมพันธ์กันและมีการจ่ายค่าตอบแทน ก็จะว่าถือมีโทษในเรื่องของการค้าประเวณี และหากมีคนกลางหรือผู้ที่เป็นธุระจัดหาให้มีการร่วมเพศ ผู้ที่เป็นคนจัดหาก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ด้วย

ขณะที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) หลังจากตั้งรับกับข่าวเซ็กส์ในสวนสาธารณะมาหลายวัน เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม วัลยา วัฒนรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ได้เรียกประชุมระดับหัวหน้าสวนสาธารณะใน กทม.ทั้ง 37 แห่ง เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันเรื่อง "บัดสี" เพิ่มเติมเป็นการเฉพาะ

เธอบอกว่า หลังมีข่าวเซ็กส์ในสวนสาธารณะ ทำให้ กทม.ต้องกลับมากำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยและดูแลความเรียบร้อยในสวนสาธารณะใหม่ 6 ข้อ

เซ็กส์เอาท์ดอร์ - "รสนิยม" สู่ "แฟชั่น"

1.เพิ่มความถี่ในการตรวจตราพื้นที่ภายในสวน และตั้งกล่องเขียวบันทึกข้อมูลและรายงานผลการตรวจสอบ เพื่อให้การบันทึกรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร จากที่ผ่านมามีเพียงการรายงานอย่างไม่เป็นทางการผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์

2.หากเกิดเหตุชิงทรัพย์ การทะเลาะวิวาท และการทำอนาจาร ให้หัวหน้าสวนดำเนินการแจ้งความและลงบันทึกประจำวันต่อตำรวจท้องที่ทันที

3.แก้ไขป้ายระเบียบข้อห้ามการใช้สวน เช่น การปรับตัวอักษรให้มีขนาดใหญ่ขึ้น จัดทำป้ายหลากหลายภาษา รวมถึงระบุการห้ามทำอนาจารภายในสวนสาธารณะในระเบียบการใช้สวนเพิ่มเติม

4.ติดตั้งกล้องโทรทัศน์วงจรปิดเพิ่มเติมในจุดอับ จุดเสี่ยง

5.จัดเจ้าหน้าที่ประจำห้องน้ำภายในสวนสาธารณะตลอด 24 ชั่วโมง และ

6.จัดทำป้ายสื่อความหมายเป็นภาษาอังกฤษ

กระนั้น ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อมฯ ยันยืนยันหนักแน่นว่า พฤติกรรมการร่วมเพศหรือทำอนาจารไม่เคยมีในสวนของ กทม. การกอด จับมือ และพลอดรักของคู่รักอาจพบเห็นได้มากกว่า แต่ยืนยันได้ว่า พฤติกรรมในลักษณะของการร่วมเพศนั้นไม่มีแน่นอน...!?

logoline