โดยกรมเจ้าท่าได้ว่าจ้างบริษัท สปิทซ์ เทค จำกัด ให้ทำการกู้ซากเรือดังกล่าวขึ้นมา เพื่อทำการตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการอับปาง หลังจากทางบริษัท ทีซี บลู ดรีม จำกัด ซึ่งเป็นเจ้าของเรือ ปฏิเสธที่จะทำการกู้ โดยอ้างว่าอยู่ในระดับความลึกมาก และไม่กีดขวางเส้นทางการเดินเรือ ซึ่งได้เริ่มปฏิบัติการมาตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม จนถึงวันที่ 14 สิงหาคม ก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้สำเร็จ เนื่องจากเจอกระแสคลื่นลมแรง และความเร็วของกระแสน้ำใต้ทะเลไหลแรงมาก จึงเป็นอุปสรรคสำคัญของปฏิบัติการครั้งนี้ โดยจะมีการเริ่มดำเนินการอีกครั้งในวันนี้ (15 ส.ค.)
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของผู้ประกอบการเรือฟินิกซ์ กล่าวถึงกรณีการกู้ซากเรือ ว่า ขณะนี้เจ้าของเรือยังถูกคุมขังอยู่ ประกอบกับมีการบอกว่าต้องใช้งบในการกู้ถึง 45 ล้านบาท ขณะที่มีเอกชนรายหนึ่งเสนอราคามาให้กับทางบริษัทฯ อยู่ที่ 4 ล้านบาท เท่านั้น และหากไม่สามารถกู้ได้เขาก็จะไม่เอาเงินด้วย ซึ่งในการกู้เรือนั้นจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย มีเหตุผลในการกู้ 2 ประการ คือ เป็นอุปสรรคหรือเป็นอันตรายกีดขวางการเดินเรือและทำให้เกิดมลพิษ
"เหตุที่เจ้าของเรือปฏิเสธกู้เรือขึ้นมานั้น เนื่องจากเรือลำนี้จมอยู่ใต้น้ำในระดับความลึกถึง 45 เมตร จึงไม่กีดขวางและไม่เป็นอันตรายต่อการเดินเรือ รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดมลพิษด้วย แต่เหตุที่ต้องกู้เรือขึ้นมา เนื่องจากตำรวจจะต้องใช้เป็นวัตถุพยานในคดีอาญา ฉะนั้นหากการกู้เรือเป็นการดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา จึงเป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง สำหรับเรือลำนี้มีการทำประกันไว้ที่ 20 ล้านบาท หากไม่สามารถกู้เพื่อนำขึ้นมาซ่อมได้ ทางบริษัทประกันก็จะจ่ายในลักษณะเรือเสียหายทั้งลำ ดังนั้น หากมีการเรียกค่าใช้จ่ายในการกู้ของกรมเจ้าท่า แนวทางต่อสู้เราจะไปโต้แย้งว่า คำสั่งของกรมเจ้าท่าไม่ชอบตามพระราชบัญญัติเดินเรือในน่านน้ำไทย เพราะเรือไม่กีดขวางการเดินเรือ และไม่ก่อให้เกิดมลภาวะ และอยากตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ทำไมกรณีเรือไททานิคจึงไม่กู้ขึ้นมา" นายนิพิฏฐ์ กล่าว
- กรมบัญชีกลางเรียกเงินเบี้ยคนชราคืนร่วมแสน
- รองผู้ว่าฯกทม. เผยเคส "ดีเจมะตูม" พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่ม 5 ราย
- ด่วน! "กกต." สั่งเลือกตั้ง "นายกฯ-สมาชิก อบจ." ใหม่ใน 18 จังหวัด 7 ก.พ.นี้