svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

จิตแพทย์ติดตามเฝ้าดูภาวะจิตใจทีมหมูป่าต่อเนื่อง

04 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

กรมสุขภาพจิตยังเฝ้าระวังติดตามภาวะจิตใจของทีมหมูป่าอย่างต่อเนื่อง ไม่แยกกลุ่มในช่วง3-6เดือนแรก ห่วงข้อมูลกระทบจิตใจ ขณะที่สื่อมวลชนก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องดูแลสภาพจิตใจเช่นกัน


วันนี้ (4ส.ค.) 5 องค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ สหภาพแรงงานกลางสื่อมวลชนไทย และ ชมรมเพื่อเพื่อนช่างภาพ ร่วมกับทางแพทย์สภา กระทรวงสาธารณสุข กรมควบคุมโรค และกรมสุขภาพจิต เสวนาถอดบทเรียนสุขภาพการลงพื้นที่ทำข่าวถ้ำหลวงขุ่นน้ำนางนอน


รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต นายแพทย์สมัย ศิริทองถาวร เปิดเผยว่า หลังจากที่ติดตามการนำเสนอข่าว ทีมหมูป่า ของสื่อมวลชนถือว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะทำให้ความช่วยเหลือจากทั่วโลกหลั่งไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ในขณะเดียวกันก็มีผลกระทบด้านจิตใจกับผู้ชมทางบ้านที่ติดตามข่าวสารมากเกินไป จนทำให้เกิดภาวะเครียด นอนไม่หลับ ถึงแม้เหตุการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ แต่อาจจะเกิดบาดแผลทางจิตใจ จนนำไปสู่โรคซึมเศร้าตามมาได้ รวมถึงผู้สื่อข่าวที่ลงไปทำข่าวที่ถ้ำหลวง ที่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบสภาพจิตใจ


สำหรับเรื่องการดูแลสภาพจิตใจของทีมหมูป่าตอนนี้ ทางแพทย์ยังคงติดตามอาการอย่างต่อเนื่อง โดยจะให้น้องๆทีมหมูป่าทำกิจกรรมเป็นกลุ่มอย่างสม่ำเสมอ จะยังไม่ให้แยกออกจากกลุ่ม เช่น บวชเป็นกลุ่ม ให้สัมภาษณ์เป็นกลุ่ม และมีการติดตามเข้มข้น 3 เดือน 6 เดือน หรือ1 ปี และจะค่อยผ่อนลง จากนั้นก็จะนำบทเรียนของเด็กกลุ่มนี้มาถอดบทเรียนว่า เด็กสามารถมีความรัก ความสามัคคีที่เหนียวแน่นให้มีพลังต่อสู้กับอุปสรรคได้อย่างไร สิ่งเหล่านี้จึงจำเป็นต้องถอดบทเรียนเพื่อเป็นประโยชน์ให้กับเด็กคนอื่นๆในสังคมต่อไป


ผู้อำนวยการโรงพยาบาล ค่ายสมเด็จพระนเรศวรมหาราช(แพทย์ใหญ่กองทัพภาคที่3) พลตรีนายแพทย์ วุฒิไชย อิศระ กล่าวถึงความรู้สึกของทีมหมูป่าช่วงที่อยู่ในถ้ำว่า ในช่วง 4 วันแรก เด็กๆอาจจะมีการร้องไห้กันบ้าง แต่พอวันที่ 5 ขึ้นไป เด็กๆเริ่มมีพลังบวก ช่วยกันวางแผนหาทางออกจาถ้ำ ช่วงที่อยู่ภายในถ้ำมีการแบ่งปันไฟฉาย มีนาฬิกา 1 เรือน ไว้บอกเวลา เช้า -ค่ำ ถึงเวลานอน อุณภูมิในถ้ำประมาณ 20-23 องศาฯ ในน้ำ 15 องศา ถือว่าหนาวมาก ทีมหมูป่าใช้วิธี นอนกอดกัน สลับหัวท้าย เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น จะเห็นว่าเด็กกลุ่มนี้ไม่ธรรมดา แต่จากนี้ไป อย่าพยายามรื้อฟื้นถึงวิธีการนำตัวพวกเขาออกมาจากถ้ำ และได้บอกว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นถือเป็นประสบการณ์ที่ทุกคนทั่วโลกได้เรียนรู้ไปพร้อมกัน ทั้งเรื่องการช่วยเหลือ การเอาตัวรอดในถ้ำ



นายแพทย์โรม บัวทอง จากสำนักระบาดวิทยากรมควบคุมโรค บอกว่า ยังคงต้องติดตามอาการจากการติดเชื้อที่จะมาจากถ้ำโดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ อาจจะมีเชื้อจาก สัตว์ฟันแทะต่างๆ เช่น หนู เชื้อโปโตซัว จากริ้นฝอยทราย ซึ่งไม่ได้แสดงอาการเฉียบพลัน แต่จะค่อยๆแสดงอาการ ในระยะ 3เดือน6 เดือน และเชื้อแบคทีเรียที่มาจาก ดิน น้ำ โคลน ซึ่งต้องตรวจร่างกายเฝ้าระวังโรคอย่างละเอียด

logoline