svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เคมีไฟฟ้าจุฬาฯ คว้ารางวัลนักวิทย์ดีเด่น

03 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ขั้วไฟฟ้าเพชรเจือโบรอน , ตัวเร่งปฏิกิริยานาโนสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม, ผลึกวิทยาของวัสดุโคออร์ดิเนชันพอลิเมอร์และสารเชิงซ้อนชนิดใหม่ 3 ผลงานวิจัยเด่นด้านเคมี

ขั้วไฟฟ้าเพชรเจือโบรอน , ตัวเร่งปฏิกิริยานาโนสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม, ผลึกวิทยาของวัสดุโคออร์ดิเนชันพอลิเมอร์และสารเชิงซ้อนชนิดใหม่ 3 ผลงานวิจัยเด่นด้านเคมี ในงานเปิดตัวนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นและนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ ประจำปี 2561 ตอกย้ำบทบาทสำคัญในการผลักดันประเทศเติบโตแบบก้าวกระโดดด้วยนวัตกรรม


มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในพระบรมราชูปถัมภ์ มีมติเป็นเอกฉันท์ ให้ ศ.อรวรรณ ชัยลภากุล ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ส่วนรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ 2 คน ได้แก่ นางสาวจุฬารัตน์ วัฒนกิจ สำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) และ ผศ.เจ้าทรัพย์ บุญมาก มหาวิทยาลัยขอนแก่น


เคมีไฟฟ้าจุฬาฯ คว้ารางวัลนักวิทย์ดีเด่น


วิจัยหนุนอุตฯเติบโตยั่งยืน

ผลงานของนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ซึ่งจะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 4 แสนบาท เป็นการคิดค้นเทคนิคการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้าด้วยวัสดุเพชรเจือโบรอนรายแรกของไทย นำไปสู่นวัตกรรมการตรวจวิเคราะห์ที่สามารถประยุกต์ใช้ได้หลากหลายด้าน ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม อาหารรวมไปถึงทางด้านการแพทย์


หากสามารถผลักดันให้เทคนิคการตรวจวัดนี้ กลายเป็นอุปกรณ์ที่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงและนำไปใช้งานเองได้ จะช่วยลดการนำเข้าอุปกรณ์การตรวจวิเคราะห์จากต่างประเทศ ที่สำคัญเป็นการช่วยส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมในการผลิตอุปกรณ์เหล่านี้ เพื่อใช้งานได้เองภายในประเทศ


ศ.อรวรรณ กล่าวว่า วัสดุขั้วไฟฟ้าเพชรเจือโบรอนนี้ ถือได้ว่าเป็นวัสดุใหม่ของศตวรรษที่ 20 เนื่องจากมีคุณสมบัติเด่นเหนือกว่าขั้วไฟฟ้าคาร์บอนทั่วไป นอกจากนี้ได้พัฒนาขั้วไฟฟ้าโดยใช้นาโนคาร์บอน ได้แก่ ท่อนาโนคาร์บอน กราฟีน และนาโนคอมโพสิต รวมถึงอนุภาคโลหะขนาดนาโนเมตร เช่น อนุภาคทองขนาดนาโนเมตร อนุภาคเงินขนาดนาโนเมตร และควอนตัมดอท


ปัจจุบันทีมวิจัยยังได้พัฒนาระบบตรวจวัดรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า อุปกรณ์ปฏิบัติการบนกระดาษ (Lab-on-paper) ร่วมกับการตรวจวัดทางเคมีไฟฟ้า เพื่อนำมาใช้ตรวจวัดสาร หรือสิ่งผิดปกติได้ง่ายและสะดวกรวดเร็วขึ้น ขณะนี้มีผู้ประกอบการสนใจที่พัฒนานวัตกรรมเซนเซอร์ใช้ในอุตสาหกรรม อาทิ เอสซีจีเป็นการพัฒนาเซนเซอร์เกี่ยวกับสุขภาพ ขณะที่ ปตท. นำไปใช้เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนี้ได้พัฒนาให้ไปใช้ในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอีกด้วย


สำหรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ จะได้รับโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี และเงินรางวัล 1 แสนบาท จุฬารัตน์ได้วิจัยตัวเร่งปฏิกิริยานาโนสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมที่ยั่งยืน ขณะที่ ผศ.เจ้าทรัพย์ จากผลงานวิจัย "ผลึกวิทยาของวัสดุโคออร์ดิเนชันพอลิเมอร์และสารเชิงซ้อนชนิดใหม่"


เคมีไฟฟ้าจุฬาฯ คว้ารางวัลนักวิทย์ดีเด่น



ปีทองของนักเคมี


"เกณฑ์การคัดเลือกไม่ได้เลือกสาขาแต่ดูที่ผลงาน เช่น การตีพิมพ์ในวารสารคุณภาพสูง ถูกนำไปใช้หรือถูกอ้างอิงมาก ยกตัวอย่าง ผลงานนักวิทย์ฯ ดีเด่นถูกใช้อ้างอิงมากกว่า 6,000 ครั้ง ดัชนีในการประเมินคุณภาพผลงานตีพิมพ์ในวารสาร ( h-index) ถึง 42 ความจริงมากกว่า 20 ถือว่าเก่งแล้ว อาจารย์อรวรรณยังติดอันดับนักเคมี 1 ใน 5 ของประเทศที่ได้รับการยอมรับความสามารถด้านเคมี" ศ.จำรัส ลิ้มตระกูล ประธานคณะกรรมการรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น กล่าว


ในส่วนนักวิทย์ฯรุ่นใหม่ เหตุผลที่นางสาวจุฬารัตน์ จากสำนักวิชาวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยสิริเมธี ได้รับการคัดเลือก เพราะมีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติที่มีชื่อเสียงด้านการเร่งปฏิกิริยาเคมีและเคมี ไฟฟ้า เช่น Nature Communications, Chemical Communications และ ACS Applied Materials & Interfaces ภายในปีเดียวกัน ทั้งยังสามารถต่อยอดสู่อุตสาหกรรมได้ด้วย ที่สำคัญผลงานของเธอมีส่วนทำให้ประเทศไทยมีจำนวน Nature Index ซึ่งเป็นตัวชี้วัดคุณภาพงานวิจัยชั้นเลิศสูงกว่ามาเลเซีย


"เคมีถือว่าเป็นวิทยาศาสตร์พื้นฐานสำหรับทุกสาขาที่ต้องใช้เคมี ยกตัวอย่างเวลาที่หยิบนิตยสารวิทยาศาสตร์ขึ้นมา คนจบเคมีจะอ่านได้เกือบทุกเรื่อง แต่คนจบไบโออ่านได้เฉพาะชีวะ วิศวะก็อ่านได้บางส่วน ที่สำคัญแอพลิเคชั่นเคมีมีเยอะมาก ทำให้มองได้กว้าง และเคมีก็เป็นอุตสาหกรรมเดียวที่จากวิทยาศาสตร์ไปสู่อุตสาหกรรมได้เร็วที่สุด"80% ของงานวิจัยในไทยจะเป็นเคมีอยู่ในรูปแบบของวัสดุใหม่ ซึ่งมีพื้นฐานจากเคมีและอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น ปตท. เอสซีจี. ก็ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับเคมี

เคมีไฟฟ้าจุฬาฯ คว้ารางวัลนักวิทย์ดีเด่น

logoline