svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เปิดรับฟังความเห็น 2 ร่างกฎหมายปฏิรูปตำรวจ

02 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"คำนูณ" เผย กก.ทำกฎหมายตำรวจ ทำเนื้อหาเสร็จแล้ว 2 ฉบับ ประกาศบนเวปไซต์กฤษฎีกาเพื่อรับฟังความเห็นถึง 16 ส.ค. นี้ ก่อนส่ง ครม. ปลายเดือน เปิดสาระ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ กำหนดรายละเอียดชัดเจน ปมโยกย้าย ตร. จัดตั้ง 2 คณะกรรมการ ตร. ตรวจอสอบงานตำรวจ เปิดช่อง ให้ท้องถิ่น, เอกชน มีส่วนร่วมงานตำรวจ-ตรวจสอบ ด้าน ร่างกม.สอบสวน ขีดเส้นให้ ตร. ทำงานร่วมกับอัยการ

รัฐสภา 2 สิงหาคม 2561- นายคำนูณ สิทธิสมาน กรรมการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ตำรวจแห่งชาติ ในคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ เปิดเผยว่า คณะกรรมการฯ ที่มีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน พิจารณาเนื้อหาร่าง พ.ร.บ.ตำรวจแล้วเสร็จและได้เผยแพร่เนื้อหาของร่างกฎหมาย บนเว็ปไซต์ของสำนักงานกฤษฎีกาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปแสดงความคิดเห็น เช่นเดียวกัน ร่างพ.ร.บ.การสอบสวนคดีอาญา ที่กรรมการฯ ยกร่างขึ้นใหม่ ที่จัดทำแล้วเสร็จเป็นเบื้องต้น และเผยแพร่ในเวปไซต์เดียวกันเพื่อรับฟังความคิดเห็น ส่วนระยะเวลาการรับฟังความเห็นนั้นจะมีตั้งแต่วันนี้ ไปจนถึงวันที่ 16 สิงหาคม หลังจากนั้นคณะกรรมการฯส่งร่าง พ.ร.บ. ทั้ง 2 ฉบับให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปลายเดือนสิงหาคมนี้


โดยระหว่างที่รับฟังความเห็นและมีความเห็นที่สมควรแก้ไขปรับปรุงเนื้อหา กรรมการฯ สามารถนำมาพิจารณาได้ จนกว่าจะส่งร่างกฎหมายไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ สำหรับผู้ที่มีความเห็นเพิ่มเติมสามารถส่งความเห็นได้ทั้งทางจดหมาย ที่ ตู้ ปณ. 1 ปณจ.ราชดำเนิน กทม. 10200 และทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ที่อีเมล [email protected]


ผู้สื่อข่าวรายงานถึงสาระสำคัญของ ร่างพ.ร.บ.ตำรวจ  ว่า ร่างกฎหมายกำหนดให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.)เป็นส่วนราชการมีฐานะเป็นนิติบุคคลที่มีนายกฯ เป็นผู้บังคับบัญชา พร้อมกำหนดให้ สตช. จัดระบบบริหาร การปฏิบัติงานด้านป้องกันและปราบปรามการกระทำความผิดทางอาญา การรักษาความเรียบร้อย และรักษาความปลอดภัยของประชาชนให้เหมาะสมกับความต้องการของท้องถิ่น ชุมชน และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และองค์กรภาคเอกชนมีส่วนร่วม ทั้งส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย งบประมาณ และอาสาสมัคร รวมถึงบทบาทติดตามและตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ พร้อมกำหดนให้ให้องค์กรปกครองท้องถิ่น จัดสรรงบประมาณให้กับสถานีตำรวจ เพื่อใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ของข้าราชการตำรวจ


ขณะที่โครงสร้างการบริหารจัดการ กำหนดให้มี คณะกรรมการตำรวจแห่งชาติ (ก.ตร.)  จำนวน 21 คน มีนายกฯ เป็นประธาน และกำหนดให้มีคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรมข้าราชการตำรวจ  (ก.พ.ค.ตร.)  จำนวน 7 คน  ที่มาจากการคัดเลือกผ่านคณะกรรมการฯ ที่มี ประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นประธานกรรมการสรรหา, มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนตำรวจ (ก.ร.ตร.) จำนวน 9 คน จากบุคคลภายนอกองค์กรตำรวจ และผู้ที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านกฎฆมาย  และผู้แทนสภาชุมชน ซึ่งคัดเลือกในระดับชาติ มีหน้าที่และอำนาจพิจารณาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับความเดือดร้อน หรือ ไม่ได้รับความเป็นธรรมของปราชน จากการกระทำของข้าราชการตำรวจอันมิชอบหรือการประพฤติที่ไม่เหมาะสม เสื่อเสียแก่เกียรติศักดิ์ของตำรวจ


ส่วนการแต่งตั้งและโยกย้ายนายตำรวจ มีเนื้อหา อาทิ  ระบุให้การแต่งตั้ง ตำแหน่ง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) ให้คำนึงถึงความอาวุโส ความรู้ความสามารถในการบริหารงาน มีประสบการณ์ด้านงานสอบสวนและป้องกันและปราบปรามด้วย , ตำแหน่งจเรตำรวจ และรอง ผบ.ตร. กำหนดให้แต่งตั้งจาก ตำรวจยศ พล.ต.ท. หรือ พล.ต.อ. และ เคยดำรงตำแหน่งผู้ช่วย ผบ.ตร. หรือ รองจเรตำรวจแห่งชาติ ไม่น้อยกว่า 2 ปี สำหรับตำแหน่ง รอง ผบ.ตร. ต้องแต่งตั้งจากผู้เคยดำรงตำแหน่ง ผบ.สอบสวน อย่างน้อย 1 คน แล ผบ.สายงานป้องกัน อย่างน้อย 1 คน


ขณะที่ตำแหน่ง ผู้ช่วย ผบ.ตร. และ รองจเรตำรวจแห่งชาติ ต้องแต่งตั้งจาก พล.ต.ท. และเคยดำรงตำแหน่ง ผู้บัญชาการ, ผู้บัญชาการสอบสวน หรือ จเรตำรวจไม่น้อยกว่า 2 ปี ส่วนการแต่งตั้ง ผู้กำกับ รองผู้กำกับ กำหนดคุณสมบัติว่าต้องผ่านการดำรงตำแหน่งที่สถานีตำรวจระดับเล็กหรือกลาง 2ปีก่อนย้ายไปดำรงตำแหน่งสถานีตำรวจระดับใหญ่ได้


ผู้สื่อข่าวรายงาน ถึงเนื้อหาของร่าง พ.ร.บ. การสอบสวนคดีอาญา มีเหตุผลสำคัญ เพื่อปรับปรุงระบบานสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบ ถวงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการที่เหมาะสม และเพื่ออำนวยความยุติธรรมในคดีอาญาให้ถูกต้อง รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ โดยมี สาระสำคัญ อาทิ  กำหนดให้ประชาชนที่ได้รับความเสียหาย สามารถแจ้งความร้องทุกข์ กับพนักงานสอบสวนได้ทุกท้องที่, กำหนดให้พนักงานสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐานให้ถูกต้องตามข้อเท็จจริง และความจริงที่เกิดขึ้น โดยการปฏิบัติหน้าที่ต้องแจ้งพนักงานอัยการที่มีเขตอำนาจรับทราบด้วย กรณีที่คดีความผิดอาญา ที่มีอัตราโทษขึ้นต่ำให้จำคุกตั้งแต่ 10 ปี หรือโทษสถานหนัก, คดีว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ หรือ คดีอื่นที่อัยการสูงสุดกับ ผบ.ตร. ร่วมกำหนด, กรณีการตรวจค้น ไม่ว่าจะมีหมายค้นหรือไม่ ห้ามพนักงานเผยแพร่ภาพ หรือบันทึกภาพหรือเสียงในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน.

logoline