svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ท่องเที่ยว

"(4016)ถนนกะโรม ทางหลวงแห่งตำนาน"

02 สิงหาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

คราวนี้พี่โน่ หนีความวุ่นวายในเมืองกรุง ลงใต้ไปยังเมืองที่เขาว่ากันว่า เป็นเมืองที่อากาศดีที่สุดในประเทศไทยนั่นคือ "อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช" เราปักหลักที่นี่อยู่นาน 7 วันเลยทีเดียว บอกเลยว่าฟินเวอร์เฟอร์บี้ 10 ตัว สำหรับคนที่ชอบความเชื่องช้า เนิบ ๆ แบบชาวสวนชาวไร่ และเหลือเวลาที่จะขี่มอเตอร์ไซต์แวะไป กินลมชมวิวตามร้านกาแฟต่าง ๆ ที่เพิ่งจะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้ดื่มด่ำธรรมชาติกัน


สำหรับชาวกรุงที่เดินทางมาลานสกา แน่นอนว่าคงมุ่งหน้าไปที่ เมืองแห่งหุบเขาอย่าง "คีรีวง"เพื่อสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนในชุมชนว่าเขากินอยู่และทำอะไรกันบ้าง แน่นอนนอนด้วยบรรยากาศของชุมชนที่ใกล้ทางน้ำไหล ติดภูเขา ชิดต้นไม้ รวมกับธรรมชาติที่ค่อยข้างจะจับต้องได้ตามอำเภอใจก็คงจะประทับใจเหล่านักเดินทาง


แต่พี่โน่ เลือกเบี่ยงเส้นทางมาอยู่โซนตำบลเขาแก้ว ถนนกะโรม เส้นทางสายหลักที่จะเดินทางไปต่อได้อีกหลาย ๆ อำเภอ ดูเหมือนว่าถนนเส้นนี้จะไม่มีอะไรมากมาย แต่เส้นทางที่ว่านี่แหละเคยถูกจัดเป็นเส้นทางการแข่งขั้นลานสกามาราธอนด้วย 


ตลอดถนนกะโรมเมื่อเราเดินทางผ่านป่าปูน ชุมชนบ้านพักอาศัยแล้ว เราจะพบกับป่าธรรมชาติ ต้นไม้ ห้วย หนอง คลอง บึง ลำธาร และจุดพักผ่อนเกือบตลอดเส้นทาง อย่างบ้านพักริมน้ำ "บ้านเขากอด"ที่บอกได้เพียงว่า แม้ขนาดช่วงโลซีซั่น ฤดูฝน ห้องพักก็เต็มเกือบทุกวัน ด้วยเป็นทั้งที่พัก และมีร้านกาแฟรับลม อาหารปรุงด้วยฝีมือคนใต้แท้ ๆ รวมถึงใกล้กับ แหล่งท่องเที่ยว "ถ้ำแก้วสุรกานต์"ถ้ำหินปูนที่มีหินงอกหินย้อยสวยงาม ภายในถ้ำมีรูปปั้นลักษณะต่างๆ และมีน้ำหยดตามเพดานถ้ำ ความลึกของถ้ำแก้วสุรกานต์แห่งนี้ ประมาณ 700 เมตร ทางเดินเข้าไปภายในถ้ำจะเป็นทรายและเป็นทางน้ำไหลในช่วงฤดูน้ำหลาก


ถ้ำแก้วสุรกานต์ชาวบ้านเล่าว่า ยุคสมัยหนึ่งเคยเป็นที่พักและเก็บตัวของกลุ่มคอมมิวนิสต์ที่เกิดขึ้นในเมืองไทยด้วย และเชื่อว่ายังมีเส้นทางที่เชื่อมต่อกันได้ แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังไม่เจอ ส่วนเหล่าประติมากรรมปูนปั้น ด้านในนั้นเกิดจากความศรัทธาของชาวบ้านต่อ พระยันตระ อมโรภิกขุ (พระวินัย อมโร) อดีตภิกษุชื่อ ดังที่มีผู้เคารพศรัทธามากทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศในช่วงหนึ่งที่ได้มาบุกเบิกและพำนักนานมากกว่า 10 ปี อีกหนึ่งเสียงจากปากผู้เฒ่าผู้แก่ ก็ด้วยความลึกลับจึงถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของคนละแวกนี้


ตรงกันข้ามถ้ำแก้วสุรกานต์ เราจะเจอสวนสร้างบุญจุดพักผ่อนแห่งใหม่ที่ทำเพื่อชุมชนจริง ๆโดยที่นี่จะถูกจัดเป็นธีมย้อนยุค พ่อค้าแม่ขายก็จะนุ่งผ้าไทย บ้างครั้งก็ห่มสไบกันเลยทีเดียว ซึ่งจะเปิดเฉพาะวันเสาร์เท่านั้น


เดินทางไปต่อเรื่อย ๆ เราจะเห็นความคดเคี้ยวงูยักษ์ตัวดำที่ลาดยาวขึ้นลงตามผืนดินไปสุดลูกหู ลูกตา ตัดกับความเขียวฉ่ำของต้นไม้ใบหญ้าในฤดูฝน จะมีทางแยกจากถนนสายนี้ไปสู่หมู่บ้านริมหุบเขา และไร่สวนส่วนตัวของคนในชุมชนมากมาย ( และแน่นอนว่าพี่โน่ ก็จะแวะเข้าไปเผือกแล้วจะมาเล่าให้ฟังในรอบถัดไป )


ก่อนจะข้ามเขตแดนไปอีกหนึ่งอำเภอ ถนนกะโรม ยังมีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ หนึ่งจุดที่ชาวบ้านแห่งนี้เคารพและศรัทธานั่นคือ "ห้วยเทวานาคราช" จุดนี้จะอยู่ทางโค้ง ติดกับ "รีสอร์ทลอยชาเลด์" ซึ่งจะเห็นปูนปั้นงูมีหงอนขนาดยักษ์พ่นน้ำออกมาจากปาก สู่แอ่งขนาดพอประมาณ พร้อมกับศาลเพื่อแวะสักการะได้ "ห้วยเทวดานาคราช" คือแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์อีกหนึ่งจุดสำคัญของชาวจังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งน้ำจากแหล่งน้ำแห่งนี้ จะถูกนำไปประกอบพิธีพร้อมกับน้ำจากจุดอื่น ๆ อีก 5 แหล่ง เมื่อครั้งอดีตหากต้องการใช้น้ำพระพุทธมนต์ประกอบพระราชพิธี เช่น น้ำอภิเษก น้ำบรมราชาภิเษก และน้ำพิพัฒน์สัตยา  เจ้าเมืองก็จะให้ราชบุรุษไปพลีกรรม เพื่อเอาน้ำจากแหล่งน้ำศักดิ์สิทธิ์ มาประกอบพิธีทุกครั้งไป


เหตุที่ได้ชื่อว่า "ห้วยปากนาคราช " หรือที่มักเรียกว่า "ห้วยเทวดานาคราช" ก็เพราะเป็นลำห้วยที่มีน้ำไหลมาจากซอกหินที่มีลักษณะคล้ายปากพญานาคราช และมีน้ำใสไหลรินตลอดปี จุดที่นิยมตักไปใช้ประกอบพิธี คือ แอ่งน้ำซึ่งมีสายน้ำเล็กๆ สามสายไหลมารวมกัน น้ำแหล่งนี้จึงถือเป็นน้ำซึ่งอยู่ในชัยภูมิอันดี เปรียบดังปากพญานาคสามตัวพ่นลงอ่างทองคำพร้อมกัน น่าจะศักดิ์สิทธิ์และควรค่าแก่การนำไปใบ้ในงานมงคลพิธีเป็นอย่างยิ่ง และในปัจจุบันทุกปี จะเป็นแหล่งน้ำท่ีจังหวัดนครศรีธรรมราชใช้สำหรับงานบุญมหาสงกรานต์


สำหรับการตักน้ำจากจุดนี้ ตามธรรมเนียมโบราณที่บันทึกไว้ จะใช้ต้นไม้อยู่สามชนิด คือให้ตัดไผ่มาทำกระบอกใส่น้ำ ใช้ใบแร็ดทำจุกปิดปากกระบอกน้ำ และใช้หวายมัดกระบอกน้ำเข้าด้วยกัน ซึ่งต้องเป็นต้นที่ขึ้นอยู่ในบริเวณห้วยน้ำแห่งนี้เท่านั้น   


ครั้งอดีตเจ้าเมืองนคร เคยจัดให้มีคนเฝ้ามิให้ใครตันต้นไม้ทั้งสามชนิดนี้ ต้นใบแร็ด , กอไผ่ลำเล็ก  และหวาย ทั้งนี้เพราะเมื่อเวลาใช้น้ำมาเสวย หรือใช้ในพระราชพิธีนั้น ปัจจุบันต้นไม้ทั้ง 3 ชนิดก็ยังคงยืนต้นให้เห็นอยู่ในบริเวณ์ ห้วยเทวดา หรือ ห้วยปากนาคราช แห่งนี้ 


เรื่องราวความเชื่อของห้วยเทวดานาคาช ยังสอดคล้องกับข้อมูลของผู้สูงอายุและเรื่องเล่าที่บอกต่อ รุ่นแล้วรุ่นเล่าว่า พื้นที่แห่งนี้ก่อนความเจริญเรื่องการสัญจร และสิ่งต่าง ๆ จะเข้ามา ด้วยความอุดมสมบูรณ์ชาวบ้านที่เดินทางไปยังเมืองอีกฝากภูเขา และชาวบ้านโดยรอบ มักจะเห็น งูขนาดใหญ่ อาศัยและเล่นนำ้อยู่โดยรอบห้วยดังกล่าว ซึ่งชาวบ้านเชื่อว่างูยักษ์ตัวดังกล่าวไม่ใช่งูธรรมดา ซึ่งเป็นบริวารของโลกแห่งความเชื่อที่คอยปกปักพื้นที่แหล่งน้ำดังกล่าว จนเมื่อช่วงเกิดน้ำท่วมครั้งใหญ่จากนั้นก็ไม่มีใครเห็นงูใหญ่ดังดังกล่าวอีกเลย 

ผ่านห้วยเทวดานาคราชไป จะเจอทางเข้าน้ำตกกะโรม น้ำตกที่อยู่ในเขตอุทยาน และครั้งหนึ่งพระมหาษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ถึงสองพระองค์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสด็จพระพาสที่น้ำตกแห่งนี้ 


ครั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าภาณุรังสีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช ได้เสด็จประพาสน้ำตกกะโรมโดยประทับช้างเป็นพาหนะ และสลักริมหน้าผาน้ำตกชั้น 7 หนานดาดฟ้าเป็นรูปพระอาทิตย์แผ่รัศมี 2458  ต่อมา ปี พ.ศ. 2460 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ได้เสร็จโดยรถยนต์พระที่นั่งพร้อมข้าราชบริพาร เสร็จประทับทอดพระเนตรน้ำตกกะโรม และทรงจารึกพระปรมาภิไธยย่อ วปร 2460 ไว้ที่ หน้าผาน้ำตกชั้น 7 หนานดาดฟ้า และได้ทรงนำความงามของน้ำตกนี้ไปเป็นฉากในบทละครเรื่องหลวงจำเนียรเดินทางในพระราชนิพนธ์


ปิดท้ายถนนกะโรม ทางหลวงในตำนานเส้นนี้ ด้วยสุดเขตอำเภอลานสกา เชื่อมต่ออำเภอช้างกลางโดยมีสันเขาเป็นจุดบอกเขตแดน ซึ่งจุดนี้เป็นอีกจุดพักนักท่องเที่ยว เป็นทางลัดที่จะไปยังอำเภอฉวาง ตามวิสัยทัศน์ของพ่อท่านคล้ายวาจาสิทธิ์ ผู้บุกเบิกเส้นทางดังกล่าว และจุดสูงสุดของถนนเส้นนี้ที่ชาวบ้านเรียกว่า"เขาธง"นั้น ก็เป็นสถานที่สักสิทธิ์ที่ผู้คนมักแวะเวียนและเดินทางผ่านคือ ศาลาพ่อท่านคล้าย วาจาศสิทธิ์ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตอำเภอช้างกลาง


จากข้อมูล thailandtourismdirectory เขียนถึงการสร้างถนนข้ามเข้าธง ว่า " พ่อท่านคล้ายได้ริเริ่มสร้างถนนข้ามเขาธง ซึ่งเป็นเขาที่กั้นระหว่างอำเภอฉวางกับอำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช โดยสมัยนั้นมีเพียงทางเดินเท้าขึ้นเขาและลงเขาเท่านั้น ถนนเส้นนี้ ทางราชการมาทำต่อหลังจากที่พ่อท่านคล้ายได้ริเริ่มดำเนินการไปแล้วบางส่วนตั้งแต่ปีพ.ศ.2499


ในการทางถนนเขาธงนี้พ่อท่านคล้ายได้มานั่งเป็นประธาน เพียงเท่านี้ก็มีชาวบ้านจำนวนมากมายเต็มใจมาร่วมสร้าง ช่วยกันขุด ช่วยกันแบก ช่วยกันทำครัว เล่ากันว่าในคืนหนึ่งพ่อท่านคล้ายเอ่ยว่า "เขานี้เป็นแดนคนธรรม์ คนธรรม์ก็มาร่วมสร้างเหมือนกัน นั่งรวมอยู่ในพวกเรานี้แหละ" อีกเรื่องหนึ่งเล่าว่าในการทำงานอยู่บนยอดเขา วันหนึ่งตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงพ่อท่านคล้ายนั่งเงียบขรึมอยู่ในศาลา 4 เสา และเรียกหาท่านหวั่นอยู่ตลอดหลายหนหลายครั้ง ตอนเที่ยงของวันนั้นมีพายุพัดต้นไม้ใหญ่หัก กิ่งไม้ฟาดลงมาที่ศาลาท่านหวั่นและถูกศีรษะท่านหวั่นถึงแก่มรณภาพ แสดงว่าพ่อท่านท่านทราบก่อนล่วงหน้าจึงเรียกหาท่านหวั่นหลายครั้ง"


สำหรับผู้เดินทางหรือผู้ที่ขับรถผ่านไป-มา ก็จะแวะขึ้นไป จุดธูป เทียน ไหว้สักการะขอพร หรือถ้าไม่จอดก็จะบีบแตร 3 ครั้ง เป็นการแสดงความสักการะ และขอพรให้ปลอดภัยในการเดินทาง

logoline