svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"บิ๊กตู่" ยกเคส "13 ชีวิตติดถ้ำหลวง" เป็นกรณีศึกษา

06 กรกฎาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นายกรัฐมนตรี ยกเหตุ "13 ชีวิตติดถ้ำหลวง" เป็นกรณีศึกษา การทำงานแบบ "ประชารัฐ" และความจำเป็นของ ยุทธศาสตร์ชาติ พร้อมฝากประโยชน์ 5 ข้อจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

6 ก.ค. 61 - พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ว่า ด้วยพระเมตตาธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสังฆราช และด้วยพระบารมีอันแผ่ไพศาลแห่งองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ช่วยอำนวยพร คุ้มครองภัยต่างๆ ให้เด็กและโค้ชทีมฟุตบอลหมูป่า อะคาเดมี แม่สาย ทั้ง 13 คน ที่พลัดหลงในถ้ำหลวง จ.เชียงราย ได้อยู่รอดปลอดภัย มีสวัสดิภาพทุกคน จวบจนถึงวินาที ที่ชุดดำน้ำกู้ภัยได้เข้าไปพบ


นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ทุกวิกฤต ย่อมแฝงไว้ด้วยโอกาสเสมอ หากเรามองด้วยสายตาที่สร้างสรรค์ อย่างน้อยก็จะแสดงให้ชาวโลกได้เห็นถึงพลังแห่งความรู้ รัก สามัคคี ของชาติไทย ทุกครั้งที่คนไทยร่วมแรง ร่วมใจกัน เราก็จะสามารถฟันฝ่าอุปสรรค และผ่านห้วงเวลาแห่งความยากลำบากไปด้วยกันได้เสมอ ทั้งนี้ตนอยากขอให้ทุกกระแสวิพากษ์วิจารณ์ได้ตระหนัก เมื่อเขาออกมาได้ เขาคงมีแต่เพียงคำพูดขอบคุณ คนไทยทั้งประเทศ แล้วเขาก็สามารถแสดงออกได้ ด้วยการตั้งใจศึกษาเล่าเรียน เพื่อเติบใหญ่ขึ้นมาเป็นพลังดีๆ รับใช้สังคม ถ่ายทอดประสบการณ์ต่างๆ ให้กับรุ่นน้องต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ตนอยากจะชวนให้พี่น้องประชาชนได้คิดตามถึงประโยชน์ที่เราทุกคนที่จะได้รับจากการมองโลกในแง่ดี กับเหตุการณ์ในครั้งนี้


1. ถ้าเราใฝ่รู้และเฝ้าติดตามข่าวสาร จากสื่อทุกแขนง อย่างต่อเนื่องแล้ว เราก็จะได้รับความรู้ในหลากหลายแง่มุม นำมาประมวล เกิดแนวความคิด ก็เหมือนกับการทำงานวิจัย หากหาความรู้เพิ่มเติม แล้วก็เป็นบทเรียน จากประสบการณ์ของผู้อื่น เช่น การเอาชีวิตรอดในถ้ำเป็นเวลานานๆ หรือในพื้นที่ที่ไม่สามารถที่จะพึ่งพาจากภายนอกได้ เป็นต้น ทั้งนี้ตนขอชื่นชมสื่อมวลชน ที่พยายามจะนำเสนอแง่มุมที่เป็นสาระประโยชน์ต่อสังคม ควบคู่ไปกับการรายงานสถานการณ์ และเป็นการรวบรวมกำลังใจ ส่งไปยัง 13 ครอบครัวของผู้ประสบภัย และเจ้าหน้าที่ทุกคนมาอย่างต่อเนื่อง


2.เรื่องการทำงานร่วมกันอย่างมีระเบียบ แบบแผน และการเคารพกติกา การปฏิบัติการครั้งนี้ ตนถือว่าเป็นการบูรณาการกัน แบบ "ประชารัฐ" ที่ภาครัฐ เอกชน ภาควิชาการ ภาคประชาชน รวมทั้งจิตอาสา ร่วมมือกัน ซึ่งอาจจะเรียกได้ว่าไร้ขอบเขต ทุกคนก็ทุ่มเท และลงมาอยากจะช่วย แล้วก็มีการขยายวงกว้างจากชาวแม่สาย ไปสู่เชียงราย ทั้งประเทศ แล้วไปสู่ชาวโลก โดยทำงานนสอดคล้องกันภายใต้ศูนย์อำนวยการร่วม ซึ่งตนมอบหมายให้ผู้ว่าฯเชียงราย ในขณะนั้น เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ อย่างต่อเนื่องจนถึง เพื่อความเป็นเอกภาพ ในการสั่งการ ตัดสินใจ และกำกับดูแลการทำงานในภาพรวม อย่างใกล้ชิด ให้การป้องกันบรรเทาสาธารณภัยเป็นไปตามแผนการปฏิบัติ - ข้อห้าม - ข้อบังคับที่กำหนด ซึ่งเกิดจากการหารือกันทุกฝ่ายอย่างรอบคอบแล้ว 


3.ตนเชื่อว่าวันนี้ คนไทยได้เรียนรู้ว่าการทำงานใดๆ ก็ตาม จะต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ ที่เรียกว่า แผนหลัก แผนรอง แผนเผชิญเหตุ ที่เราต้องป้องกัน และเตรียมการแก้ไข อย่างไม่ประมาท ไม่ให้เกิดเสียหายแล้วค่อยไปล้อมคอกทีหลัง เหมือนวัวหายแล้วล้อมคอก ที่แก้ไขไม่ทัน เพราะอันนี้เป็นเรื่องของชีวิต การคิดการเตรียมการต่างๆ ก็ทำให้ครบวงจร เตรียมการล่วงหน้า วันนี้ก็เรื่องถ้ำ เรื่องน้ำเรื่องดำน้ำ อะไรต่างๆ ซึ่งรัฐบาล และ คสช. ก็พยายามนำเสนอว่า เราจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ชาติ - แผนปฏิรูปประเทศ - และแผนปฏิบัติต่างๆ ที่เราจำเป็นต้องมีวิสัยทัศน์ มีการมองไปสู่อนาคต และการกำหนดแนวทางการดำเนินงานล่วงหน้า อย่างเป็นขั้นเป็นตอน สามารถปรับเปลี่ยนได้ ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมภายใน ภายนอก ปัจจัยต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป


4.วันนี้ ประชาชนจากหลายประเทศทั่วโลก ได้รู้จักประเทศไทยของเรามากยิ่งขึ้นนะครับ จากสื่อต่างๆ ของไทย และสื่อต่างชาติแทบทุกสำนัก รวมทั้งสื่อโซเชียล ที่ไร้พรมแดน เรื่องนี้่ก็ต้องระมัดระวัง เพราะทุกคนเป็นนักข่าวได้ วิพากย์ วิจารณ์ ได้หมด บางครั้งข้อมูลอาจจะไม่ครบดังนั้นก็ต้องคิด ต้องเข้าใจ ว่าเรามีกฎหมายอย่างไร มีวิธีการปฏิบัติอย่างไร เราได้มีการปรับเปลี่ยนแผนได้แค่ไหนนะครับ ไม่ใช่ทำอย่างหนึ่งถูกใจ แต่สร้างอีกปัญหาหนึ่ง เกิดขึ้นมาภายหลัง ตามแก้กันอีก ดังนั้นต้องมีแผนสำรองไว้ทั้งหมด ทั้งในเรื่องของการป้องกัน แก้ไข แล้วก็ฟื้นฟู วันนี้เราก็จะได้ใช้ทั้ง 3 แผน 


"ต่างคน ต่างก็พยายามจะเสนอข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับบ้านเมืองของเรา ในหลากหลายมุมมอง ไม่ใช่เฉพาะเพียงเรื่องถ้ำนี้  หรือมาตรฐานการกู้ภัยของเรา ก็เป็นการสร้างความเชื่อมั่นกับเขาได้ว่า วันหนึ่ง ถ้าเขาเดินทางมาท่องเที่ยวในเมืองไทย แล้วอาจจะประสบภัยธรรมชาติ หรืออุบัติภัยต่างๆ ใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะอยู่ในบ้าน ในเมือง ในป่าลึก ในถ้ำ ในน้ำตก ในท้องทะเล หรือมุมใดก็ตามในแผ่นดินไทย ผืนน้ำไทย เขาจะได้รับความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพในโอกาสแรกๆ โดยที่เราไม่ลดละความพยายาม" นายกฯ กล่าว


5.ตนได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบันทึก เป็น "แผนบทเรียน" หรือแผนการฝึก ในส่วนของที่เป็น พลเรือน ตำรวจ ทหาร เพราะเป็นเรื่องที่เราต้องฝึกในยามที่ยังไม่เกิดเหตุการณ์ด้วย กระทรวงมหาดไทยในบทบาทของการแก้ไขบรรเทาภัยพิบัติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะที่เป็นศูนย์บริการ และในบทบาทของการเป็นศูนย์บรรเทาภัยพิบัติแห่งชาติของรัฐบาล ที่มีนายกฯ เป็นประธานซึ่งในขณะที่สถานการณ์อยู่ในระดับหนึ่ง ก็ได้มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทยโดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รับผิดชอบ วันนี้ก็เช่นเดียวกัน. 

logoline