svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ไอเดียเจ๋ง "เป้หยอดปุ๋ย ตะลุยไร่" ฝีมือ นศ.มทร.อีสาน

04 มิถุนายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไอเดียสุดเจ๋ง "เป้หยอดปุ๋ย ตะลุยไร่" สิ่งประดิษฐ์ราคาแค่ 500 บาท ฝีมือ นักศึกษา มทร.อีสาน ช่วยเกษตรกรลดต้นทุนจ้างแรงงานได้กว่า 50% และปลอดภัยจากสารเคมี

ที่ห้องประชุมอาคารคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ธนาคารไทยพาณิชย์ ได้มีการจัดพิธีมอบเงินรางวัลให้กับผู้ชนะเลิศโครงการ "เอสซีบีชาเล้นจ์ กล้าใหม่ สร้างสรรค์ชุมชน" ระดับอุดมศึกษา ประจำปี 2560 ขึ้น โดยจัดแข่งขันทั่วประเทศปีนี้ถือว่าเป็นปีที่ 12

ไอเดียเจ๋ง "เป้หยอดปุ๋ย ตะลุยไร่" ฝีมือ นศ.มทร.อีสาน



ซึ่งกลุ่มนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 300,000 บาท พร้อมด้วยถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จากผลงาน "เป้หยอดปุ๋ย ตะลุยไร่" สิ่งประดิษฐ์อุปกรณ์เครื่องหยอดปุ๋ย สำหรับใช้ในไร่ปลูกพืชผลทางการเกษตร ฝีมือการประดิษฐ์ของทีมนักศึกษาคณะบริหารธุรกิจ ปีที่ 4 สาขาการจัดการทั่วไป 

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน โดยมีนายปิยนุช รัตนาวังเจริญ ผู้จัดการโครงการกิจกรรมสังคม ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้มอบเงินรางวัลให้ทีมนักศึกษา จำนวน 6 คน พร้อมกันนี้ยังได้มอบเงินรางวัลให้กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา จำนวน 200,000 บาท โดยมี ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยฯ เป็นผู้รับมอบ และมอบรางวัลให้กับอาจารย์ที่ปรึกษา จำนวน 50,000 บาท มีนางวนิดา ซื่อตรง อาจารย์ที่ปรึกษาโครงงานฯ เป็นผู้รับมอบ

ไอเดียเจ๋ง "เป้หยอดปุ๋ย ตะลุยไร่" ฝีมือ นศ.มทร.อีสาน



น.ส.ณัฐธิดา เกตุมณี ตัวแทนนักศึกษาที่คว้ารางวัลชนะเลิศ เปิดเผยว่า ผลงาน "เป้หยอดปุ๋ย ตะลุยไร่" นี้ เกิดจากการนำปัญหาของเกษตรกรมาเป็นตัวตั้ง และพบว่าเกษตรกรที่อยู่ในชุมชนส่วนใหญ่ ใช้มือหยิบปุ๋ยเพื่อหยอดให้กับพืชที่ปลูก ส่งผลให้เกิดมือเป็นแผลพุพอง บางคนเกิดอาการแพ้ ต้องไปพบแพทย์ ทำให้ไม่สามารถทำงานในไร่ได้ จึงขาดรายได้ระหว่างที่รักษาตัว อีกทั้งการก้มๆ เงยๆ หยอดปุ๋ย ยังทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยหลังอีกด้วย

จากปัญหาดังกล่าว กลุ่มของตนเองจึงช่วยกันคิดแก้ไขปัญหาในการใช้มือหยอดปุ๋ยนี้ ด้วยการหาวัสดุทั่วไปที่สามารถหาได้ในชุมชน มาพัฒนาเป็นเครื่องหยอดปุ๋ย โดยออกแบบให้สามารถสะพายสะดวกสบายคล้ายแบกเป้ ซึ่งพัฒนามาจากถังพลาสติกทั่วไป และใช้ท่อ PVC ทำเป็นด้ามจับ มีเกียร์จักรยาน สำหรับเปิด-ปิดท่อ PVC เพื่อหยอดปุ๋ยลงดินตามที่ต้องการ ซึ่งช่วงแรกก็มีอุปสรรค์ในเรื่องของการควบคุมปริมาณปุ๋ยบ้าง โดยใช้เวลาในการพัฒนาอยู่ถึง 8 เดือน จากรุ่นที่ 1 ถึงรุ่นที่ 4 ในปัจจุบัน ทำให้กลายเป็นเป้หยอดปุ๋ยที่กะทัดรัด สามารถหยอดปุ๋ยได้ในปริมาณคงที่ รวดเร็ว ในราคาต้นทุนการผลิตเป้หยอดปุ๋ย เพียง 500 บาทเท่านั้น

ไอเดียเจ๋ง "เป้หยอดปุ๋ย ตะลุยไร่" ฝีมือ นศ.มทร.อีสาน



ได้ทดลองนำไปใช้ในไร่มันสำปะหลังของเกษตรกร ในพื้นที่บ้านหนองโสมง หมู่ที่ 6 ต.หนองบัวศาลา อ.เมือง จ.นครราชสีมา ปรากฏว่า ช่วยลดต้นทุนการจ้างแรงงานหยอดปุ๋ยให้กับเกษตรกรเป็นอย่างมาก เนื่องจากในอดีต การใช้มือหยอดปุ๋ย 1 ไร่ ต้องใช้เวลานานกว่า 40 นาที แต่เมื่อใช้เป้หยอดปุ๋ย 1 ถัง สามารถใส่ปุ๋ยได้ 15 กิโลกรัม ใช้เวลาหยอดปุ๋ย 1 ไร่ เพียงแค่ 20 นาทีเท่านั้น ซึ่งถือว่าเร็วกว่าเท่าตัว จึงทำให้เกษตรกรประหยัดเวลา และไม่ต้องจ้างแรงานมาช่วยหยอดปุ๋ยเพิ่ม นอกจากนี้ยังทำให้ปลอดภัยกับผู้หยอดปุ๋ยด้วย เพราะไม่ต้องใช้มือสัมผัสปุ๋ยนั่นเอง หลังจากนี้ก็จะนำไปต่อยอดให้กับเกษตรกรในพื้นที่อื่นได้นำไปใช้งานต่อไป

ไอเดียเจ๋ง "เป้หยอดปุ๋ย ตะลุยไร่" ฝีมือ นศ.มทร.อีสาน



ดร.วิโรจน์ ลิ้มไขแสง อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา กล่าวว่า จากนโยบายของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน นครราชสีมา ที่ต้องการให้นักศึกษาออกไปหาโจทย์จากสังคม มาเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ช่วยเหลือชาวบ้านให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จึงมีการวางแผนการเรียนการสอนให้สอดคล้องเพื่อสนับสนุนทุกสาขาวิชา ให้มีการวางแผนใช้เทคโนโลยีต่างๆ เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านอย่างตรงเป้าหมาย ประกอบกับธนาคารไทยพาณิชย์ ได้จัดการแข่งขันโครงงาน "กล้าใหม่ สร้างสรรค์ชุมชน" ขึ้น จึงได้ส่งทีมนักศึกษาเข้าแข่งขันด้วย เพราะเห็นว่าเป็นโครงการที่มุ่งหวังให้นิสิตนักศึกษา นำความรู้ที่เป็นทฤษฎี และประสบการณ์จากการศึกษาในสถาบันการศึกษา มาคิดสร้างสรรค์จัดทำเป็นแผนการดำเนินงาน เพื่อประโยชน์ของคนชุมชน ที่อยู่ไม่ไกลจากสถาบันการศึกษาของตนเอง อีกทั้งยังสามารถบูรณาการการเรียนรู้และประสบการณ์จากการเข้าร่วมโครงการไปประยุกต์ใช้ในชีวิตการทำงานจริงของตนเอง และสร้างประโยชน์ให้กับสังคมระยะยาวด้วย ซึ่งสิ่งประดิษฐ์ "เป้หยอดปุ๋ย ตะลุ่ยไร่" นี้ ก็ถือว่าสามารถตอบโจทย์ของชาวบ้านที่เป็นเกษตรกรได้อย่างดีเยี่ยม ซึ่งนอกจากจะสามารถประดิษฐ์ใช้งานเองอย่างง่าย และประหยัดแล้ว ยังสามารถช่วยให้เกษตรกรมีสุขภาพดี มีคุณภาพชีวิตที่ดีอีกด้วย

logoline