svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไอที

สรุป "กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล"

16 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากได้ข้อสรุปแล้ว เมื่อราชกิจจานุเบกษาประกาศใช้พระราชกําหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พุทธศักราช 2561 ให้มีผลตั้งแต่วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

กฎหมายใหม่ที่บังคับใช้นั้น สำคัญอย่างไร แล้วจะเข้ามาดูแลเรื่องไหนบ้าง จึงนำข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาสรุปและแจกแจงให้ทุกคนได้เข้าใจมากขึ้น


ทำไมต้องกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล


ด้วยปัจจุบันมีการนำสินทรัพย์ดิจิทัลมาใช้ระดมทุน และเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนจำนวนมาก แต่ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายอะไรรองรับ เพราะฉะนั้นเพื่อความชัดเจนในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงเพื่อป้องกันประชาชนจากการถูกหลอกลวง จึงจำเป็นต้องมี พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล เข้ามาดูแลการทำธุรกิจในส่วนนี้


สรุป "กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล"





สินทรัพย์ดิจิทัล คืออะไร


ความหมายของคำว่า "สินทรัพย์ดิจิทัล" (Digital Asset) ตามกฎหมายบอกไว้ จะครอบคลุมสินทรัพย์ต่าง ๆ ดังนี้


1. คริปโทเคอร์เรนซี : หน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้ในการแลกเปลี่ยนสินค้า บริการ และเงินดิจิทัลอื่น ๆ ตามที่นักลงทุนตกลงกัน เช่น Bitcoin, Ripple, Ethereum, Litecoin ฯลฯ


2. โทเคนดิจิทัล : เป็นหน่วยอิเล็กทรอนิกส์ที่เสนอขายผ่าน ICO ครอบคลุมทั้งโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน และโทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์


ธุรกิจหรือกิจกรรมอะไรบ้างที่จะถูกกำกับดูแล


ธุรกิจที่จัดว่าเกี่ยวข้องกับสินทรัพย์ดิจิทัล ประกอบด้วย 2 กิจกรรมหลัก ๆ คือ การระดมทุนด้วยการเสนอขาย ICO และการให้บริการตัวแทนซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล


สำหรับการระดมทุนด้วยการเสนอขาย ICO หลังจากนี้ หากใครต้องการระดมทุนจะต้องมายื่นขออนุญาตกับ ก.ล.ต. ก่อนทุกครั้ง แต่จะไม่มีผลย้อนหลังกับผู้ที่ระดมทุนสำเร็จไปแล้วก่อนหน้านี้ และผู้ระดมทุนจะต้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจํากัด หรือ บริษัทมหาชนจํากัด เท่านั้น บุคคลธรรมดาไม่สามารถระดมทุนเพื่อออก ICO ได้


สรุป "กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล"




ส่วนธุรกิจให้บริการตัวแทนซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งได้เป็น


1. ศูนย์ซื้อ-ขาย หรือเว็บไซต์แลกเปลี่ยนเงินดิจิทัลต่าง ๆ เช่น BX TDAX และ Coin Asset เป็นต้น


2. นายหน้า ซึ่งก็คือเหล่าโบรกเกอร์ที่เป็นตัวแทนรับซื้อ-ขายเงินดิจิทัลนั่นเอง


3. ผู้ค้าสินทรัพย์ดิจิทัล หมายถึงการดำเนินธุรกิจอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเงินดิจิทัล เช่น ขายสินค้าโดยรับชำระเป็นคริปโทเคอร์เรนซี


ผู้ที่ต้องการดำเนินธุรกิจเหล่านี้ต่อไป จะต้องยื่นขอใบอนุญาตภายใน 90 วัน หรือไม่เกินวันที่ 14 สิงหาคม 2561


สินทรัพย์ดิจิทัล เสียภาษียังไง


เป็นเรื่องค้างคาใจหลายคนมานาน สุดท้ายก็ได้ข้อสรุปแล้ว คือ ถ้ามีกำไรจากการซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัล (Capital gain) จะต้องโดนหักภาษี ณ ที่จ่ายในอัตรา 15% ของกำไรที่ได้ และยังรวมไปถึงผลประโยชน์อื่น ๆ ที่ได้รับด้วยนะ เช่น เงินปันผล หรือสิทธิประโยชน์ส่วนแบ่งกำไรต่าง ๆ ก็จะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% เช่นกัน


นอกจากนี้ แม้จะโดนหักภาษี ณ ที่จ่าย 15% ไปแล้ว นักลงทุนยังต้องนำรายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลมายื่นเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีอีกด้วย เพราะการหักภาษีสินทรัพย์ดิจิทัล ยังไม่ใช่การเสียภาษีสุดท้าย (Final Tax) และกฎหมายไม่ได้ระบุไว้ว่าให้สิทธิ์ไม่ต้องยื่นภาษี อีกทั้ง รายได้จากสินทรัพย์ดิจิทัลจะหักค่าใช้จ่ายไม่ได้ เนื่องจากจัดอยู่ในเงินได้ประเภท 4 เช่นเดียวกับดอกเบี้ยและเงินปันผล ดังนั้น ต้นทุนต่าง ๆ ทั้งค่าไฟ ค่าเครื่องขุด นักลงทุนต้องรับภาระเองทั้งหมด จะนำมาหักภาษีไม่ได้

สำหรับการเก็บภาษี จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ บุคคลธรรมดา จะถูกเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% ของกำไร และนำกำไรไปคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปี โดยได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ส่วนหากเป็นนิติบุคคล จะโดนเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายกับนิติบุคคลในอัตรา 15% เท่ากับบุคคลธรรมดา และนำกำไรไปยื่นภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่จะไม่ได้รับการยกเว้น VAT



สรุป "กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล"





นักลงทุนได้ประโยชน์อะไร จากการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัล


ถึงกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลจะเต็มไปด้วยข้อกำหนดจำนวนมาก แต่ในทางกลับกันก็เป็นข้อดีที่ช่วยลดความเสี่ยงของนักลงทุนจากการโดนหลอกได้ หากเลือกลงทุนกับสินทรัพย์ดิจิทัลที่ ก.ล.ต. อนุญาต เพราะผ่านการตรวจสอบอย่างเข้มงวด และมีมาตรฐานรองรับ


ความเสี่ยงในการลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัล


แม้จะมีกฎหมายคุ้มครองแล้วก็ตาม แต่การลงทุนสินทรัพย์ดิจิทัลก็ถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ เพราะฉะนั้นควรมีความเข้าใจที่ดีก่อนลงทุน โดยความเสี่ยงที่ควรระวัง มีดังนี้


บทลงโทษ หากไม่ทำตามกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล

หากมีการฝ่าฝืนไม่ทำตามกฎหมายกำหนด จะมีบทลงโทษทั้งทางแพ่งและอาญาที่สำคัญ ดังนี้


1. เสนอขาย ICO โดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่า ICO ที่ระดมทุน โดยจะไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (Filing) ด้วยข้อมูลเท็จ หรือปกปิดสาระสำคัญที่ควรแจ้ง โทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่า ICO ที่ระดมทุน โดยจะไม่น้อยกว่า 500,000 บาท


สรุป "กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล"




3. เสนอขาย ICO ก่อน ก.ล.ต. อนุมัติ Filing โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 เท่าของมูลค่า ICO ที่ระดมทุน โดยจะไม่น้อยกว่า 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


4. เสนอขาย ICO ในระหว่างที่ ก.ล.ต. สั่งระงับ Filing โทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 เท่าของมูลค่า ICO ที่ระดมทุน โดยจะไม่น้อยกว่า 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


5. เสนอขาย ICO โดยไม่รายงานฐานะทางการเงิน และสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับ โทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 3,000 บาท จนกว่าจะดำเนินการ


6. ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลโดยไม่ได้รับอนุญาต โทษจำคุก 2-5 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000-500,000 บาท และปรับวันละ 10,000 บาท ตลอดเวลาที่ฝ่าฝืน


7. ทำธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่ส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ โทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังดำเนินการ


สรุป "กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล"





8. ใช้บัญชีซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลของบุคคลอื่น เพื่อหาผลประโยชน์แบบไม่ถูกต้อง โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


9. การใช้บัญชีตัวแทน (Nominee) เพื่อซื้อ-ขายสินทรัพย์ดิจิทัลอย่างไม่เป็นธรรม โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


10. การขัดขวาง ไม่อำนวยความสะดวก หรือให้ข้อมูลเป็นเท็จ ต่อเจ้าพนักงาน โทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี และปรับไม่เกิน 100,000 บาท


11. กรรมการ ผู้จัดการ หากหาผลประโยชน์จากการลงทุนทรัพย์สินดิจิทัลแบบไม่ถูกต้อง จนเกิดความเสียหายแก่ธุรกิจและนักลงทุน โทษจำคุก 5-10 ปี และปรับตั้งแต่ 500,000-1,000,000 บาท


สรุป "กฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัล"




12. เปิดเผยข้อมูลวงใน (Insider Trading) เกี่ยวกับสินทรัพย์ดิจิทัล, คาดการณ์ราคาสินทรัพย์โดยใช้ข้อมูลเท็จ จนมีผลกระทบต่อราคา มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 500,000-2,000,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ถือว่าต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่เลย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนทั่วไป ธุรกิจให้บริการแลกเปลี่ยนเงินดิจิทัล รวมถึงบริษัทต่าง ๆ ที่มีแผนจะระดมทุนผ่าน ICO จากแนวทางกำกับดูแลของภาครัฐที่มีเป้าหมายในการดูแลธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลให้มีความโปร่งใส คุ้มครองนักลงทุนไม่ให้เกิดความเสียหายจากการหลอกลวง เพื่อไม่ให้กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงิน และเศรษฐกิจของประเทศ อย่างไรก็ดี กฎหมายนี้จะคุ้มครองเฉพาะการลงทุนโทเคนดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีในไทยเท่านั้น ไม่รวมไปถึงการลงทุนในต่างประเทศ


*** หมายเหตุ : อัปเดตข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2561

logoline