svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"บางซื่อ ซิตี้" ผ่านมุมมอง "เจ้าพ่อบีทีเอส"

10 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ตั้งแต่ผมเกิดมาก็เห็นหัวลำโพงแล้ว บ้านผมอยู่แถวเสาชิงช้า ตอนเด็กๆ ผมเดิมข้ามสะพานไปมองข้างหน้าเห็นรางรถไฟ มองไปด้านขวาเห็นกรมรถไฟ ตอนนั้นเขาเรียกกรมรถไฟ ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นการรถไฟแห่งประเทศไทย ตอนนี้ผมโตขึ้น อายุขนาดนี้เดินไม่ไหวแล้วก็ยังนั่งรถข้ามสะพานทางรถไฟ ผมก็เห็นหัวลำโพงเหมือนเดิม เหลียวไปทางขวาผมก็เห็นกรมรถไฟ หรือการรถไฟฯ เหมือนเดิม"


เปิดประเด็นเกริ่นนำเข้าสู่การเสวนาในหัวข้อ "บางซื่อ จังก์ชั่น เมกะ ซิตี้ แห่งภูมิภาค" ในมุมมองของ ดร.อาณัติ อาภาภิรม กรรมการและกรรมการบรรษัทภิบาล บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง ผู้มากประสบการณ์ในระบบราง จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมา



ความฝันของชายวัย 84 ที่ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน อยากจะเห็นประเทศไทยมี "แกรนด์สเตชั่น" หรือสถานีรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีทุกอย่างครบวงจรเหมือนในต่างประเทศ อาจจะไมใช่แค่ฝัน เมื่อรองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารสินทรัพย์การรถไฟแห่งประเทศไทย "วรวุฒิ มาลา" หนึ่งในวิทยากรร่วมวงเสวนาการันตีว่าเฟสแรกจะแล้วเสร็จเริ่มให้บริการได้ในปลายปี 2562 หากแต่จะให้ครบทุกเฟสอย่างสมบูรณ์แบบคงในปี 2575 หรืออีก 15 ปีข้างหน้า ดร.อาณัติกล่าวติดตลกว่าเฟสแรกยังพอไหว แต่อีก 15 ปีก็ยังไม่แน่ใจที่จะอยู่ให้ได้ชื่นชมความสำเร็จหรือไม่



ตอนเด็กๆ เขาเคยได้ยินวิสัยทัศน์ของกรมรถไฟ หรือการรถไฟฯ ที่จะมีการพัฒนาพื้นที่ของการรถไฟฯ ในบริเวณพื้นที่สถานีบางซื่อ และย่านพหลโยธินบนเนื้อที่ 2,325 ไร่ ว่าจะมีการพัฒนาและแนวคิดนี้มีมาเกือบร้อยปีแล้ว ถึงตอนนี้คนวางวิสัยทัศน์เสียชีวิตไปหมดแล้ว แต่การพัฒนายังไม่ไปถึงไหน เพราะฉะนั้นจะด้วยอะไรก็แล้วแต่ หากมีโอกาสก็จะมาช่วยพัฒนาระบบรางให้ได้ นี่เป็นความหวังและความตั้งใจของชายที่ชื่อ อาณัติ อาภาภิรม



ในที่สุดเขาก็ประสบความสำเร็จในการทำรถไฟฟ้าสายแรกของกรุงเทพมหานครเมื่อ 26 ปีที่แล้ว ถือเป็นสายแรกของประเทศไทยก็ว่าได้ ซึ่งตัวเขาเองก็ยังไม่รู้ว่าจะต้องทำไปอีกนานแค่ไหน อาณัติเล่าว่าในช่วงที่เริ่มทำรถไฟฟ้านั้นจะต้องตระเวนเดินทางไปศึกษาหาความรู้ระบบรถรางในต่างประเทศบ่อยมาก ไปญี่ปุ่นก็เห็นโตเกียวสเตชั่น เห็นโอซากาสเตชั่น ไปไต้หวันเห็นไทเปแกรนด์สเตชั่น ไปแฟรงเฟิร์ต เห็นแฟรงต์เฟิร์ตแกรนด์สเตชั่น แล้วกลับมานั่งถอนหายใจ ประเทศไทยมีแต่หัวลำโพง 



"ผมอายุปูนนี้แล้วฟังท่านรัฐมนตรี(อาคม เติมพิทยาไพสิฐ)แล้ว ฟังท่านรองผู้ว่าการรฟท.(วรวุฒิ มาลา)แล้ว ก่อนที่ผมจะไม่อยู่ไม่รู้ว่าจะได้เห็นโครงการพัฒนาตามที่ท่านรัฐมนตรีว่าไว้หรือไม่ ท่านรองผู้ว่าฯ ครับ(หันไปถามรองผู้ว่าฯ ที่นั่งอยู่ข้างๆ) เฟสแรกนี่ไม่เกิน 3 ปี เฟส 2 ไม่เกิน 10 ปี เฟส 3 เสร็จปี 2575 ก็ 15 ปี ไม่รู้จะอยู่ทันได้เห็นหรือเปล่า แต่อย่างน้อยผมก็คิดว่าสิ่งที่ได้เห็นวันนี้เหมือนที่เป็นอยู่ในหลายประเทศ" 



ในมุมมองของอาณัติ พื้นที่บริเวณนี้จำนวน 2,325 ไร่ ที่เวนคืนมาเกือบ 100 ปีเตรียมไว้เพื่อการพัฒนาเป็นวิสัยทัศน์ที่ยาวไกลของคนรถไฟ แบ่งเป็นสวนสาธารณะหรือสวนรถไฟขณะนี้มีประมาณ 700 ไร่ เป็นที่ทำรายได้ให้แก่การรถไฟฯ ประมาณ 200-300 ไร่ อีกส่วนที่เป็นเสน่ห์ของคนกรุงเทพฯ คือตลาดนัดจตุจักร จากแผนแม่บทของสนข.และของรฟท. โดยความช่วยเหลือของไจก้าจะมีการพัฒนาพื้นที่อย่างเต็มรูปแบบและครบวงจร มีทั้งสวนสาธารณะ ตลาดนัดจตุจักร แล้วก็มีแกรนด์สเตชั่น รวมถึงย่านธุรกิจในพื้นที่



"ฟังแล้วตื่นเต้นครับ ท่านที่มองไม่เห็นภาพนะครับ แกรนด์สเตชั่นของท่านรองผู้ว่าฯ ตอนนี้มีรถไฟฟ้ากรุงเทพมหานคร 4 สาย เอาของผมก่อนดีกว่า บีทีเอส สายสีเขียว สายสีแดง สายสีม่วง  และสายสีน้ำเงิน ถ้าตามท่านรัฐมนตรีบอกในปี 2575 จะมี 10 สาย รวมระยะทาง 464 กว่ากิโลเมตรจะมีผู้ใช้บริการประมาณ 6.24 แสนต่อวัน ผมเรียนอย่างนี้ครับว่าถึงจะมี 4 สาย ถ้าเป็นคนบ้านนอกหรือมาจากต่างประเทศก็นั่งรถไฟมาลงที่บางซื่อ ท่านคงได้ยินคำว่ารถไฟความเร็วสูง ถ้ารถไฟความเร็วสูงเกิดขึ้นอีก ก็มีสายเหนือ สายตะวันออกเฉียงเหนือ สายตะวันออกและสายใต้ เท่าที่ผมทราบทั้ง 4 สายก็จะมารวมที่บางซื่อเช่นเดียวกัน ในอนาคตเชื่อว่าประเทศอาเซียนใกล้ๆ บ้านเรา ก็มีพม่า ลาว เขมร เวียดนาม และมาเลเซีย จะมีเน็ตเวิร์กระบบรางต่อเชื่อมกันแน่นอน แล้วก็ที่ต่อเป็นเน็ตเวิร์กนั้นมันจะมาลงที่บางซื่อนี่ทั้งหมด" ดร.อาณัติให้มุมมอง



จากประสบการณ์ทำรถไฟฟ้ามาหลายปี ตัวเขาเองไม่เคยตอบว่ารถไฟฟ้าจะช่วยแก้ปัญหาการจราจร แต่รถไฟฟ้าจะช่วยขนคนแก้ปัญหาการเดินทางของพี่น้องประชาชน ดร.อาณัติย้ำชัดๆ อีกครั้งว่า การมีรถไฟฟ้าอย่าหวังว่าถนนจะโล่ง ไม่มีทางเป็นไปได้ เพราะถนนในกทม.มีแค่ 7% เท่านั้นเมื่อเทียบกับแคลิฟอร์เนีย สหรัฐมีพื้นที่ถนนมากถึง 30% ต่างกันมาก



"บ้านเราถ้าไม่มีระบบรางจบครับ เพราะฉะนั้นระบบรางคือทางออก บางซื่อจะเรียกแกรนด์สเตชั่นหรืออะไรก็แล้วแต่ มันก็จะเป็นศูนย์กลางของรถไฟฟ้า ผมก็คิดว่าคงจะได้เห็นแกรนด์สเตชั่นของไทยเหมือนในต่างประเทศก่อนที่ผมจะตาย"เรียกเสียงฮาทั้งห้องประชุม ก่อนสรุปปิดท้ายอย่างอารมณ์ดี 

 


แนวเส้นทางรถไฟฟ้าตัวชี้วัดธุรกิจอสังหาฯ



อุทัย อุทัยแสงสุข ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บมจ.แสนสิริ กล่าวในวงเสวนาตอนหนึ่งว่า ในแง่ของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ เรามีความหวังกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟราสตรัคเจอร์ เพราะถือว่าบางซื่อแกรนด์สเตชั่นนั้นเป็นอินฟราสตรัคเจอร์ตัวหนึ่งที่มีโอกาสเกิดความสำเร็จทางเศรษฐกิจ หรืออย่างน้อยการเกิดสถานีกลางบางซื่อจะสร้างความเจริญให้แก่ประเทศได้ในระดับหนึ่ง แสนสิริเองก็สนใจโครงการนี้ เนื่องจากที่ผ่านมาเมืองจะเติบโตตามการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เห็นได้จากการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาคอนโดมิเนียม จากเมื่อก่อนคนจะสนใจบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮ้าส์ที่ตั้งอยู่ในย่านถนนตัดผ่าน



"มีโอกาสสูงที่จะขายอสังหาฯ ให้แก่ชาวต่างชาติ เนื่องจากสถานีกลางบางซื่อ สามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบได้ และยังเชื่อมโยงไปถึงสนามบินหลัก 3 แห่งอีกด้วย ขณะนี้ผู้พัฒนาคอนโดเริ่มมีเป้าหมายขายให้แก่ชาวต่างชาติเพิ่มขึ้น เนื่องจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ทำให้สนใจที่จะเข้ามาอยู่ในไทย ซึ่งเส้นทางรถไฟฟ้าเป็นจุดขายที่สำคัญ เพราะชาวจีน ฮ่องกง สิงคโปร์ คุ้นเคยกับการเดินทางโดยรถไฟฟ้า"



อย่างไรก็ตาม แสนสิริเองก็มียอดขายให้ชาวต่างชาติเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มียอดขายต่างชาติ 1.4-1.5 พันล้านบาท ปี 2558 มียอดขายเพิ่มขึ้น 3.5 พันล้านบาท ปี 2559 มียอดขาย 5.4 พันล้านบาท ในปี 2560 มียอดขายเกือบ 1 หมื่นล้านบาท และในปี 2561 คาดว่าจะมียอดขายเกินกว่า 1 หมื่นล้านบาท



นอกจากนี้ ที่ผ่านมาการขยายเส้นทางรถไฟฟ้า ทำให้ราคาที่ดินเพิ่มขึ้น เช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง ทำให้ราคาที่ดินเพิ่ม 47% และมีโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น 87% ในส่วนของพื้นที่โดยรอบสถานีกลางบางซื่อ มีราคาที่อยู่อาศัยเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 10% นับตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2560 พื้นที่ตามเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน 5 ปี ราคาเพิ่มขึ้น 7% สายสีม่วงเพิ่มกว่า 8% ซึ่งราคาที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นทุกปีตามราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้น



ปลายปี 62 เปิดให้บริการเฟสแรก


วรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กล่าวว่า บางซื่อแกรนด์สเตชั่น หรือสถานีกลางบางซื่อ จะเป็นสถานีรถไฟใหญ่ที่สุดของการรถไฟฯ ประกอบด้วยอาคาร 3 ชั้น ซึ่งชั้นบนสุดจะเป็นที่จอดของแอร์พอร์ตเรลลิงค์และรถไฟความเร็วสูง จะใช้เงินลงทุนทั้งโครงการประมาณ 4 แสนล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนอาคารสถานที่ ประมาณ 1.5 แสนล้านบาท และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เช่น โรงไฟฟ้า ระบบราง ระบบโทรคมนาคมต่างๆ อีกประมาณ 2-3 แสนล้านบาท โดยในระยะแรก สถานีกลางบางซื่อ และบางส่วนของโซน A จะสร้างเสร็จในปลายปี 2562 พร้อมๆ กับรถไฟฟ้าสายสีแดง ซึ่งจะออกทีโออาร์ได้ภายในปีนี้ มั่นใจว่าเหลือระยะเวลาอีกประมาณ 2 ปี จะสามารถก่อสร้างได้ทัน ซึ่งคาดว่าจะมีผู้โดยสารผ่านสถานีนี้วันละ 1 แสนคน ส่วนระบบขนส่งรองที่จะเชื่อมต่อบริเวณต่างๆ ในพื้นที่ อาจจะเป็นระบบบีอาร์ที หรือโมโนเรล ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา รวมทั้งมีแผนที่จะตั้งบริษัทลูก เพื่อเข้ามาดูแลโครงการสถานีกลางบางซื่อโดยเฉพาะด้วย 

logoline