svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เอกชนรวมพลังกดดัน! "ศิริ" เคลียร์ปมชะลอ "รับซื้อไฟ"

10 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน เตรียมเข้าพบ "ศิริ" อีกรอบขอชัดเจนต่ออายุโรงไฟฟ้าเอสพีพี หวั่นกระทบลูกค้านิคมฯ 300 ราย ขณะที่สมาคมการค้าพลังงานขยะ เล็งถกสมาชิกหลัง 6 มิ.ย.นี้

ประเมินท่าทีรัฐ ด้าน "พลังงาน" ยืนหลักการเดิมซื้อไฟเอกชนประชาชนต้องไม่แบกภาระ ยันรับซื้อไม่อั้นหากขายต่ำกว่า 2.44 บาทต่อหน่วย พร้อมเร่งทำแผนพีดีพี 2018 แก้ปัญหากำลังผลิตล้นระบบ ด้านนโยบายชะลอการรับซื้อไฟฟ้าของกระทรวงพลังงานส่งผลให้ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตไฟฟ้าหลายกลุ่มทยอยออกมาแสดงจุดยืนให้ภาครัฐออกมาชี้แจงนโยบายนี้ให้ชัดเจน ถึงแม้ว่ากระทรวงพลังงานจะชี้แจงกับผู้ประกอบการบางกลุ่มไปแล้ว เพราะเป็นเรื่องนี้มีผลต่อการวางแผนธุรกิจ


แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังาน รับทราบปัญหาและชี้แจงต่อภาคเอกชนผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เกี่ยวกับนโยบายชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนออกไป 5 ปี โดยยืนยันในหลักการเดิมว่า ภาครัฐไม่ปิดกั้นการรับซื้อไฟฟ้าและพร้อมรับซื้อโดยไม่จำกัดปริมาณหากผลิตไฟฟ้าได้ในต้นทุนต่ำกว่าราคาขายส่งไฟฟ้าราว 2.44 บาทต่อหน่วย เพราะไม่ต้องการให้ค่าไฟฟ้าในอนาคตเป็นภาระต่อประชาชน และการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนในอดีตจนถึงปัจจุบันได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าแล้วราว 25 สตางค์ต่อหน่วย



ชี้รอแผนพีดีพีฉบับใหม่


ส่วนความชัดเจนของแผนรับซื้อไฟฟ้าในอนาคตนั้น ยังต้องรอให้การจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ หรือ PDP 2018 แล้วเสร็จก่อน เพราะแผนดังกล่าวจะเป็นส่วนสำคัญที่จะแก้ไขปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าล้นระบบ โดยกระทรวงพลังงาน ได้รายงานให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) เมื่อวันที่ 23 เม.ย.2561 รับทราบความคืบหน้าในการจัดทำแผนแล้ว ซึ่งจะเปิดประชาพิจารณ์ในเดือน มิ.ย. นี้ และเสนอเข้า กพช. อีกครั้งภายใน ส.ค.-ก.ย. นี้ ซึ่งยืนยันหลักการสำคัญ ค่าไฟฟ้าตลอดแผน 20 ปี ต้องไม่เกินราคาปัจจุบัน


แหล่งข่าว กล่าวว่า ที่ผ่านมาการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนจากโครงการการขนาดเล็กมาก(VSPP)ขนาดต่ำกว่า 10 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่านระบบสายจำหน่ายซึ่งไม่สอดคล้องกับระบบสายส่งหลักของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ทำให้หลายโครงการไม่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ เพราะไม่มีสายส่งไฟฟ้ารองรับ ภาครัฐจึงต้องมีการปรับแผนพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าสมาร์ทกริด (Smart grid) เพื่อรองรับการพัฒนาระบบไฟฟ้าขนาดเล็กแบบกระจายศูนย์(Decentralized Generation: DG) และรองรับการส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะนำมารวมอยู่ในแผนพีดีพี2018


ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุดเดือนก.พ. 2561 พบว่า มีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนที่มีพันธะผูกพันกับภาครัฐ 7,296 ราย คิดเป็นกำลังผลิตติดตั้ง 9,855 เมกะวัตต์ ซึ่งหากเทียบกับเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากแผน AEDP 2015 ปี 2579 จำนวน 16,778 เมกะวัตต์ ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิต ณ เดือนก.พ.2561 คิดเป็นสัดส่วน 64.55% ของเป้าหมาย AEDP ยังมีส่วนที่เหลือจากเป้าหมาย 6,351 เมกะวัตต์



ผู้ผลิตไฟเอกชนขอเข้าพบ "ศิริ"


นางปรียนาถ สุนทรวาทะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BGRIM ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน (APPP) เปิดเผยว่า นโยบายชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนออกไป 5 ปี ย่อมมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนอย่างแน่นอน โดยเฉพาะโรงไฟฟ้าใหม่ แต่ในส่วนของโรงไฟฟ้าที่มีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA)กับภาครัฐแล้ว ยังต้องเดินไปตามแผน โดยมองว่า แม้กำลังผลิตไฟฟ้าสำรองของประเทศจะอยู่ในปริมาณสูง แต่เป็นเพียงบางพื้นที่เท่านั้น เช่น ภาคใต้ที่กำลังผลิตไฟ้ฟายังไม่เพียงพอกับความต้องการใช้ไฟ และบางพื้นที่อาจจำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กไปตั้งในพื้นที่ เพราะพลังงานหมุนเวียนหากไม่มีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage Systems: ESS)ก็ยังไม่มีความเสถียร(เฟิร์ม) จึงมองว่า ยังมีโอกาสที่ภาครัฐจะกำหนดนโยบายรับซื้อไฟฟ้าในอนาคต


แต่ในส่วนของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) ที่ผลิตไฟฟ้าป้อนให้กับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมจะหยุดผลิตไฟฟ้าไม่ได้ เพราะหากไฟฟ้าไม่เพียงพอจะส่งผลกระทบต่อการผลิตสินค้า


ดังนั้น ในเร็วๆนี้ ทางสมาคมฯ เตรียมเข้าพบ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานอีกครั้ง เพื่อขอความชัดเจนเกี่ยวกับนโยบายรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก(SPP) ที่จะหมดสัญญาในปี 2562-2568 ว่า ภาครัฐต้องการให้เดินตามแนวทางใด หลังจากการเข้าหารือร่วมกันครั้งแรกในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา นายศิริ ได้มอบนโยบายให้โรงไฟฟ้าSPP ที่จะหมดอายุ สามารถต่อสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับรัฐได้ในปริมาณราว 90 เมกะวัตต์ ต่อเนื่อง 10 ปี และราคาค่าไฟฟ้าต้องถูกลง โดยให้หารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.),สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.),การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) หรือ กฟภ. ถึงแนวทางปฏิบัติตามนโยบายดังกล่าว



ห่วงกระทบลูกค้าในนิคมฯ300ราย


ขณะที่มติคณะกรรมการนโยบายและแผนพลังงาน(กพช.)เมื่อวันที่ 30 พ.ค. 2559 เห็นชอบสร้างโรงไฟฟ้าใหม่และต่ออายุสัญญาSPP ไปอีก 25 ปี ภายใต้เงื่อนไขปริมาณการรับซื้อไฟฟ้าลดลงเหลือไม่เกิน 30 เมกะวัตต์ หรือไม่เกิน 30% ของกำลังการผลิตสุทธิ ไฟฟ้ารวมไอนํ้า และจะต้องไม่เกินกว่าปริมาณขายไฟฟ้าตามสัญญาเดิมในราคารับซื้อ 2.81 บาทต่อหน่วย


"สมาคมฯได้หารือร่วมกับสมาชิกแล้ว ซึ่งไม่ได้ขัดข้องหากท่านรัฐมนตรีฯจะเลือกตามแนวทางที่กำหนดมาใหม่ หรือจะให้ยึดตามมติกพช.เดิม แต่ขอให้ชัดเจนว่าจะยึดตามแนวทางใด เพื่อที่ผู้ประกอบการจะได้เตรียมพร้อมแนวทางปฏิบัติได้ถูกต้อง ซึ่งเรื่องนี้ผู้ประกอบการSPP ไม่ได้เดือดร้อน แต่ลูกค้าที่ซื้อไฟฟ้าจะเดือดร้อนมากที่สุด อีกทั้ง โรงไฟฟ้าSPP ไม่ได้เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าเพราะต้นทุนแข่งขันได้ราว 2.40-2.50 บาทต่อหน่วย ถูกกว่าต้นทุนโรงไฟฟ้าโครงการผู้ผลิตเอกชนรายใหญ่(IPP)ราว 10%" นางปรียนาถ กล่าว



ผู้ผลิตไฟจากขยะนัดหารือ6มิ.ย.


ทั้งนี้ ปัจจุบันโรงไฟฟ้าSPP ที่จะหมดอายุช่วงปี2562-2568 จำนวนทั้งสิ้น 23 ราย กำลังการผลิตรวมเกือบ 2 พันเมกะวัตต์ มีลูกค้าในนิคมฯรวมประมาณ 300 ราย เช่น อมตะนคร ประมาณ 116 ราย แหลมฉบัง ประมาณ 50 ราย เป็นต้น


นายมนตรี วิบูลยรัตน์ นายกสมาคมการค้าพลังงานขยะ กล่าวว่า หลังจากสมาคมฯได้ยื่นหนังสือเปิดผนึกถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ให้ทบทวนนโยบายการชะลอรับซื้อไฟฟ้าโดยเฉพาะไฟฟ้าขยะชุมชนนั้น เบื้องต้น ได้รับผลตอบรับในเชิงบวกจากภาครัฐว่าราคารับซื้อไฟฟ้าจะขยะจะไม่ปรับลดลงจากปัจจุบันอยู่ที่กว่า 5 บาทต่อหน่วย แต่ในรายละเอียดนั้น ยังต้องรอประชุมหารือร่วมกับสมาชิกอีกครั้งภายหลังการจัดงาน Asean Sustainable Energy Week 2018 ที่ไบเทคบางนา ระหว่างวันที่ 6-9 มิ.ย.นี้ ก่อนจะกำหนดท่าทีต่อภาครัฐต่อไป

logoline