svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

"อสังหาฯ & สินเชื่อ" ดาวเด่น "ไอร่า"

01 พฤษภาคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีก 2 ปีข้างหน้า ได้เวลาเก็บเกี่ยวกำไรธุรกิจใหม่ เอาใจแฟนคลับ 'นลินี งามเศรษฐมาศ' หญิงเก่ง 'ไอร่า แคปปิตอล' เชื่อ 'อสังหาริมทรัพย์ & สินเชื่อ' กำลังฉายแววดาวเด่นส่งเงินเข้าหลังบ้าน...!


เป็นช่วงเริ่มต้นของการลงทุนธุรกิจใหม่ๆ และขยายกิจการบริษัทร่วมทุน อาจเป็นต้นเหตุให้ บมจ.ไอร่า แคปปิตอล หรือ AIRA ผู้ประกอบธุรกิจถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ของ 3 ตระกูลดัง 'จุฬางกูร-จึงรุ่งเรืองกิจ-งามเศรษฐมาศ' มีผลการดำเนินงาน 'ขาดทุนสุทธิ' ติดต่อกัน 3 ปี (2558-2560) อยู่ที่ 98.96 ล้านบาท 107.84 ล้านบาท และ 231.89 ล้านบาท ตามลำดับ


สารพัดเหตุผลเหล่านั้น เป็นต้นเหตุกดดันการเติบโตเพิ่มขึ้นของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา แม้ว่ากลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่มีใครขายหุ้นออกมา เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ 'นลินี งามเศรษฐมาศ' ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไอร่า แคปปิตอล หรือ AIRA ต้องเร่งมือเรียกศรัทธากลับคืนมาด่วน...!!



"อสังหาฯ & สินเชื่อ" ดาวเด่น "ไอร่า"




'ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ & สินเชื่อ' อนาคตกำลังจะเป็นดาวเด่นสู่ความสำเร็จของกลุ่ม 'ไอร่า แคปปิตอล' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง ยืนยันกับ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' เช่นนั้น


ถือโอกาสฉายแผนธุรกิจให้ฟังว่า ที่ผ่านมาบริษัทอยู่ในช่วงของการเริ่มต้นสร้างเนื้อสร้างตัว ด้วยการเดินหน้าขยาย 'ธุรกิจใหม่' หนึ่งในดาวเด่นและสร้างการเติบโตให้กับกลุ่มไอร่าในอนาคต นั่นคือ 'ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์' ภายใต้ บริษัท ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ (AIP) ซึ่งกลุ่มไอร่าถือหุ้นสัดส่วน 60% ร่วมกับพันธมิตร 'กลุ่มเคเนดิกซ์' ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และบริหารกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือ REIT ชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น และกลุ่มยูจีนบริษัทหลักทรัพย์ชั้นนำจากประเทศเกาหลีใต้





ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้าง 'โครงการไอร่า วัน' ซึ่งเป็นอาคารสำนักงานใช้เช่าชื่อ Spring Tower อาคารสูง 27 ชั้น มีพื้นที่เช่าราว 25,000-26,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกราชเทวี มูลค่าโครงการรวมกว่า 2,500 ล้านบาท ออกแบบภายใต้แนวคิดแสงและเงา เน้นความเรียบง่าย โดยที่ดินเป็นพื้นที่เช่า 30 ปี จากสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ คาดว่าจะก่อสร้างเสร็จเดือนพ.ย. 2562

'โครงการดังกล่าวถือเป็นออฟฟิศเกรดเอตั้งอยู่ใจกลางเมือง ใกล้กับสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสราชเทวีและทางขึ้นลงรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีส้ม'


เธอ บอกว่า สาเหตุที่กลุ่มไอร่าตัดสินใจเข้ามาลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมองว่าความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานให้เช่าใจกลางเมืองที่ระบบคมนาคมขนส่งสะดวกยังมีอยู่มาก ทั้งจากบริษัทในประเทศและบริษัทจากต่างประเทศที่เข้ามาดำเนินธุรกิจในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อมีโครงการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ อีอีซี จะเป็นปัจจัยหนุนสำคัญให้ความต้องการพื้นที่อาคารสำนักงานมีมากขึ้น แม้ว่าปัจจุบันจะมีอาคารใหม่ๆ เพิ่มขึ้น แต่อัตราพื้นที่ว่างในภาพรวมยังค่อนข้างต่ำไม่ถึง 10% จึงมองว่าเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่น่าสนใจ ซึ่งจะเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจและการขยายตัวของสังคมเมือง


นอกจากอาคาร Spring Tower แล้ว บริษัทยังมีแผนที่จะลงทุนก่อสร้างอาคารให้เช่าเพิ่มอีก 2 โครงการ ขณะนี้อยู่ระหว่างเลือกสถานที่ โดยยังเป็นพื้นที่ย่านธุรกิจใจกลางเมือง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในไตรมาส 3 นี้ หลังจากนั้นมีแผนที่จะนำทั้ง 3 อาคาร ซึ่งมีมูลค่ารวมกันเกือบ 'หมื่นล้านบาท' ขายเข้ากอง REIT ภายในช่วงไตรมาส 2 หรือ ไตรมาส 3 ปี 2563 เพื่อนำเงินลงทุนในธุรกิจอื่นๆ ต่อไป


'อสังหาฯ ถือเป็นธุรกิจใหม่และเราภูมิใจมาก เพราะหลังออกแบบเสร็จ เริ่มก่อสร้างตึกก็ได้รับรางวัลเลย เรามองว่าความต้องการออฟฟิศจะเพิ่มมากขึ้น เพราะกรุงเทพถือเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคและเมื่อเกิดอีอีซีความต้องการก็จะยิ่งมากขึ้น เราต้องรีบทำก่อนเพราะอีกไม่ถึง 5 ปี คนอื่นก็จะมองเหมือนกับเรา'

อีกหนึ่งธุรกิจที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง 'ธุรกิจสินเชื่อบุคคล' หรือ A Money ของ บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล (A&A) ซึ่งเกิดจากการร่วมทุนระหว่างบริษัทกับกลุ่มไอฟุล ผู้ให้บริการทางการเงินชั้นนำจากประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะเปิดให้บริการในประเทศไทยมาได้เพียงแค่เกือบ 2 ปี ทว่า ปัจจุบันมีลูกค้าแล้วเกือบ 4 แสนราย และปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 5,000 ล้านบาท โดยมีสาขาทั้งหมดเกือบ 100 สาขาทั่วประเทศ


นอกจากนี้ ลูกค้ายังสามารถใช้บริการกดเงินสดร่วมกับตู้เอทีเอ็มของธนาคารพันธมิตรได้อีก 3 ธนาคาร ได้แก่ ธนาคารธนชาต , ธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกรุงไทย จำนวนมากกว่า 2 หมื่นตู้


'นลินี' ยอมรับว่า ธุรกิจสินเชื่อบุคคลในประเทศไทยมีการแข่งขันกันสูง แต่ก็ยังมีความต้องการอยู่มาก โดยแผนธุรกิจปีนี้จะเน้นการทำตลาดเชิงรุกผ่านสื่อโซเชียลมีเดียมากขึ้น รวมทั้งนำระบบเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้าด้วย โดยปัจจุบันไอร่า แอนด์ ไอฟุล มีรายรับจากดอกเบี้ยเข้ามากว่าหลัก 'ร้อยล้านต่อเดือน' และคาดว่าผลประกอบการปีนี้จะเริ่มทำกำไรได้ โดยตอนนี้อยู่ระหว่างเตรียมตัวเพื่อเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะยื่นไฟลิ่งให้กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. ได้ภายในช่วงปลายปี 2562 และเข้าซื้อขายในปี 2563 โดยมีทุนจดทะเบียน 4,000 ล้านบาท'ปีนี้ตัวไอร่า ไอฟุล น่าจะมีกำไรได้ และกำลังเตรียมตัวเข้าตลาด ตอนแรกตั้งใจจะเข้า SET แต่พอมีการเปลี่ยนเกณฑ์ใหม่ เราไม่สามารถรอได้เพราะที่ผ่านมาลงทุนระบบไปเยอะแล้ว น่าจะเป็นนอนแบงก์ที่ลงทุนมากที่สุดในประเทศ'


หญิงเก่ง บอกว่า ปัจจุบันกลุ่มไอร่าถือว่าเติบโตขึ้นมาก มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) เพิ่มเป็นกว่า 1.2-1.3 หมื่นล้านบาท จากช่วงเข้าตลาดเมื่อปี 2557 ที่ประมาณกว่า 7,000 ล้านบาท ทุกกลุ่มธุรกิจในเครืออยู่ระหว่างการจัดโครงสร้างองค์กร และวางระบบพื้นฐานต่างๆ ซึ่งคาดว่าภายในปี 2563 โครงสร้างธุรกิจของทั้งกลุ่มจะมีความมั่นคงมากขึ้น


ฉะนั้น อีก 2 ปีข้างหน้า จะเป็น 'ปีทอง' ของบริษัท โดยทุกธุรกิจที่ได้ลงทุนไปจะเริ่มสร้างผลตอบแทนกลับคืนมา ประกอบกับเป็นช่วงที่บริษัทลูกจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหุ้น ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ฐานะการเงินของกลุ่มไอร่าแข็งแกร่งขึ้น


'ตอนนี้เราอยู่ในช่วงการลงทุนเพื่อสร้างเนื้อสร้างตัว สิ้นปีนี้จะเริ่มเห็นภาพมากขึ้น ปี 2562 จะเริ่มจับต้องได้ และปี 2563 จะเป็นไฮไลท์ของเรา เป็นปีทองที่ต้องเปิดเครื่องรับเงินที่เราได้ลงทุนไป ทุกอย่างจะกลับเข้ามาหมด บริษัทในกลุ่มก็จะเข้าตลาดพอดี'


โดยปัจจุบันกลุ่มไอร่ามีบริษัทย่อยที่ร่วมลงทุนทั้งหมด 10 บริษัท ประกอบด้วย 1.บมจ. ไอร่า แฟคตอริ่ง หรือ AF ให้บริการเงินหมุนเวียนระยะสั้นประเภทแฟคตอริ่งแก่ผู้ประกอบการ 2.บริษัทหลักทรัพย์ ไอร่า (AS) ให้บริการซื้อขายหลักทรัพย์ ซึ่งทั้งสองบริษัทมีผลประกอบการที่ดีมาโดยตลอด และสามารถจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้นได้อย่างสม่ำเสมอ 3.บริษัท ไอร่า ลีสซิ่ง (AIL) ให้บริการเช่าซื้อทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นสัญญาเช่าการเงิน สัญญาเช่าซื้อ และสัญญาเช่าดำเนินงาน ซึ่งตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม ทั้งอุปโภคบริโภค ภาคอุตสาหกรรมกรรม และการผลิต โดยวางแผนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในปี 2563


4.บริษัท ไอร่า แอดไวเซอรี่ จำกัด (AD) บริการที่ปรึกษาทางธุรกิจแบบครบวงจร 5.บริษัท ไอร่า อินเตอร์เนชั่นแนล แอดไวเซอรี่ (สิงคโปร์) (AI) ให้บริการที่ปรึกษาทางการเงิน การควบรวมและซื้อขายกิจการระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ 6.บริษัท ไอร่า เวนเจอร์ แคปปิตอล จำกัด (AVC) สำหรับการร่วมลงทุน 7.บริษัท ไอร่า แอสเซท เมเนจเมนท์ (AIAM) บริการด้านกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตรในประเทศสวิสเซอร์แลนด์8.บริษัท ไอร่า พร็อพเพอร์ตี้ (AIP) พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 9.บริษัท ไอร่า แอนด์ ไอฟุล (A&A) สินเชื่อบุคคล (Consumer Finance) และ 10.บริษัท ทราเวลเล็กซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด (TVXT) ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ


นอกจากนี้ ยังได้ร่วมทุนกับ 'Travelex' ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ซึ่งมีสาขาอยู่มากกว่า 45 ประเทศทั่วโลก เพื่อเข้ามาเปิดบริการในประเทศไทย โดยขณะนี้ได้ส่งพนักงานไปฝึกอบรมแล้ว และอยู่ระหว่างการขออนุญาตเปิดดำเนินการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการร่วมทุนครั้งนี้จะทำให้ชื่อเสียงของกลุ่มไอร่าเป็นที่รู้จักในระดับโลกมากขึ้น


'การร่วมทุนกับ Travelex สัดส่วนไม่เยอะเมื่อเทียบกับธุรกิจอื่น เราลงทุนไปแค่ 100 กว่าล้าน แต่เราอยากให้แบรนด์นี้ตั้งอยู่ในประเทศไทย เพราะที่ผ่านมาหลายบริษัทกังวลเรื่อง money laundering ในไทย ซึ่งการที่ Travelex ซึ่งเป็นแบรนด์ระดับโลกเข้ามา แปลว่าเขาเชื่อมั่นในประเทศเราแล้ว'


สำหรับกลยุทธ์ของกลุ่มไอร่าจะเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรชั้นนำระดับโลกที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ระหว่างกัน โดยที่บริษัทไม่ต้องเสียเวลาทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ถนัด ทำให้การดำเนินธุรกิจเดินหน้าได้อย่างรวดเร็วไม่ติดขัด ช่วยสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน ซึ่งโดยปกติแล้วการที่บริษัทจะตัดสินใจร่วมทุนกับพันธมิตรแต่ละรายจะต้องใช้เวลาในการศึกษาพูดคุยกันอย่างน้อย 2 ปี ขึ้นไป เพื่อให้มั่นใจว่ามีวัตถุประสงค์และแนวคิดไปในทิศทางเดียวกัน


'สิ่งที่สำคัญที่สุดในการลงทุนกับต่างชาติก็คือความเชื่อใจ เพราะแต่ละประเทศก็จะมีวัฒนธรรมที่แตกต่างกันไป ดังนั้นผู้ใหญ่ต้องใกล้ชิดกัน เราก็จะมีหนังสือแจ้งความคืบหน้าในแต่ละโครงการส่งให้กับพาร์ทเนอร์ทุกเดือน'


เธอ กล่าวทิ้งท้าย ถึงภาพรวมอุตสาหกรรมการเงินของไทยในฐานะที่ทำงานด้านการเงิน เป็นนักการเงินมาตลอดชีวิตการทำงาน 35 ปี จึงทำให้ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ซึ่งส่วนตัวมองว่าจากประสบการณ์ในอดีตและเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น มีส่วนสำคัญทำให้ระบบการเงินของไทยทุกวันนี้มีรากฐานที่มั่นคงและแข็งแกร่งขึ้น ดังนั้นเมื่อเกิดวิกฤตต่างๆในอนาคตเชื่อว่าจะผ่านพ้นไปได้ แต่อย่างไรก็ตามต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายด้วย ทั้งผู้วางนโยบายและผู้ที่ปฏิบัติตาม


'ช่วงนี้ถือเป็นช่วงสงบนิ่ง แม้ในอนาคตจะมีคลื่นยักษ์มากระทบน้ำก็คงจะเข้าเรือบ้าง แต่เรือคงไม่ล่ม เพราะกัปตันคงรู้ว่าควรที่จะหลบไปทางไหน ดังนั้นผู้นำถือว่ามีส่วนสำคัญที่จะทำให้เราผ่านพ้นวิกฤตไปได้ แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือกับลูกเรือคนอื่นๆ ด้วย'

logoline