svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ล็อกสเปกแรงงาน'พันธุ์ใหม่'ห่วงกลุ่มหุ่นยนต์ขาดแคลนแรงงานหนัก

29 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ล็อกสเปกแรงงาน'พันธุ์ใหม่' ที่ภาครัฐต้องเร่งสร้างบุคลากรขึ้นมาใช้เทคโนโลยีใหม่ เพราะถ้าผลิตไม่ทันจะไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้ ห่วงกลุ่มหุ่นยนต์ขาดแคลนแรงงานหนัก

ในภาวะที่โลกก้าวเข้าสู่ ยุค 4.0 จะทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทุกส่วนจึงต้องปรับตัว โดยเฉพาะด้านแรงงาน ที่ภาครัฐต้องเร่งสร้างบุคลากรขึ้นมาใช้เทคโนโลยีใหม่ เพราะถ้าผลิตไม่ทันจะไม่สามารถขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ได้ โดยเฉพาะการผลิตบุคลากรเพื่อรองรับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่บางอุตสาหกรรมยังไม่เคยมีในไทย เช่น อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติ , อุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า , อุตสาหกรรมอากาศยาน และอุตสาหกรรมชีวภาพ 

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย กล่าวว่า การผลิตบุคลากรสาขาดังกล่าวต้องเริ่มจากศูนย์ เพราะไม่มีโรงงานในไทยจึงขาดสถานที่ที่จะถ่ายทอดความรู้ แต่สถาบันการศึกษาก็มีความเสี่ยง ถ้าผลิตบุคลากรอุตสาหกรรมเป้าหมายออกมามาก แต่มีการลงทุนน้อยกว่าที่คาดก็จะตกงาน ดังนั้นทุกฝ่ายต้องหารือใกล้ชิด เพื่อผลิตบุคลากรให้พอดี

พื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีโรงงาน 22,000 แห่ง ถือว่าไม่มากแต่ภายใน 5 ปี จะเพิ่มขึ้นจึงต้องหารือกันใกล้ชิด เพื่อผลิตบุคคลากรให้เพียงพอและควรผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยช่วงแรกที่ผลิตไม่ทันจะต้องส่งนักศึกษาหรือผู้มีพื้นฐานไปเรียนต่างประเทศ จะได้บุคลากรเทคโนโลยีชั้นสูงเร็วที่สุด จากนั้นก็นำช่างผู้เชี่ยวชาญเข้ามาฝึกสอนคนไทย และเมื่อบริษัทต่างชาติเจ้าของเทคโนโลยีจะทยอยมาลงทุน ก็จะนำช่างผู้ชำนาญการมาฝึกสอนบุคลากรไทย

ทั้งนี้ ภาครัฐควรจะจัดทำหลักสูตรเร่งรัด 2 ปี ดึงนักศึกษาที่จบ ปวช.3 ปี มาต่อยอดหลักสูตรใหม่ 2 ปี ก็จะได้ช่างเทคนิคที่เชี่ยวชาญเร็วขึ้น โดยนักศึกษาที่จบ ปวช.ช่างกลมีทักษะพอสมควรแล้วนำมาต่อยอดหลักสูตรใหม่ไม่ยาก

แนะดำเนินการ3ส่วน

นายธนิต กล่าวว่า การสร้างคนขึ้นมารองรับไทยแลนด์ 4.0 จะต้องเริ่ม 3 ส่วน คือ 1.ปฏิรูปหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบก่อนให้มีความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยี 4.0 เช่น กระทรวงแรงงาน 2. ปฏิรูปสถาบันการศึกษาให้ปรับตัวให้กับกระแสโลก และผลิตคนตามที่ผู้ประกอบการต้องการ 3.ฝึกอบรมภาคเอกชน เพื่อพัฒนาเถ้าแก่รุ่นเก่าให้รู้การเทคโนโลยี 4.0 และ 4.การแนะแนวการศึกษา เพราะเด็กส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าอนาคตตลาดแรงงานจะเปลี่ยนไปอย่างไร

5ปีขาดช่างเทคนิคหุ่นยนต์3หมื่นคน

นายถาวร ชลัษเฐียร ประธานคลัสเตอร์ยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์ไม่ขาดแคลนแรงงานทักษะ เพราะกำลังการผลิตรถยนต์ยังเหลือ แต่อีก 5 ปี จะขาดแคลนแรงงานผู้เชี่ยวชาญ ช่างเทคนิคในสาขาหุ่นยนต์ เครื่องจักรอัตโนมัติ 2-3 หมื่นคน เพราะการผลิตในอนาคตทุกอุตสาหกรรมจะใช้หุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติมากขึ้น

"แม้ว่าช่างเทคนิคไม่ขาดแคลน แต่ถ้าโรงงานชิ้นส่วนรายใหม่จะหาแรงงานยาก ถือว่าอยู่ในภาวะตึงตัว โดยช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ส.อ.ท.ร่วมกับสถาบันการศึกษาผลิตแรงงานทักษะป้อนให้อุตสาหกรรมรถยนต์ทำให้มีเด็กเข้าระบบเพิ่มขึ้น ส่วนแรงงานทักษะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าก็ผลิตป้อนโรงงานได้แต่ต้องใช้เวลาฝึก" 

ปตท.ซื้อเทคโนโลยีสร้างคน

นายบวร วงศ์สินอุดม รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า แรงงานทักษะในอุตสาหกรรมเป้าหมายในอีอีซียังมีความพร้อมน้อย แต่ทยอยสร้างคนพร้อมกับการขยายตัวของโรงงานได้ เหมือนช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ที่ไทยเริ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมีก็ส่งคนไปเรียนต่างประเทศ นำผู้เชี่ยวชาญเข้ามาฝึกสอนคนไทย จนปัจจุบันมีวิศวกรและช่างเทคนิคปิโตรเคมีที่เก่งมาก จนออกไปตั้งโรงงานปิโตรเคมีในต่างประเทศได้ ซึ่งการพัฒนาแรงงานในอีอีซี ควรเดินตามแนวทางนี้

ส่วนอุตสาหกรรมไบโอชีวภาพที่เป็นของใหม่ แต่กลุ่ม ปตท.ได้ซื้อบริษัท เนเจอร์เวิร์ค ผู้ผลิตพลาสติกไบโอชีวภาพรายใหญ่ของสหรัฐ เพื่อให้คนไทยเป็นเจ้าของเทคโนโลยี และส่งคนไทยเข้าไปทำงานร่วมมือเพื่อเตรียมความพร้อมให้บุคลากรเหล่านี้มาทำงานในไทย

ทั้งนี้ อุตสาหกรรมใหม่ของอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ และเครื่องจักรอัตโนมัติ ยังขาดแคลนแรงงานมาก เพราะหุ่นยนต์จะเข้าไปแทนแรงงานในทุกธุรกิจ ซึ่งสถาบันไทย-เยอรมันเป็นแกนหลักในการสร้างบุคลากรแต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป และกลไกตลาดจะดึงคนมาเรียนสาขาที่ขาดแคลนเพิ่มขึ้นจนสมดุลได้

ส่วนอุตสาหกรรมใหม่ที่มีความพร้อมด้านบุคลากรมากที่สุด คือ เครื่องมือทางการแพทย์ เพราะต้องใช้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในการผลิต ทำให้เริ่มเตรียมบุคคลากรรองรับไว้แล้ว

แรงงานอุตฯหุ่นยนต์แบ่ง3ระดับ

ทั้งนี้ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม (ROBOTICS) เป็น 1 ใน 5 อุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ที่จะรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยไปสู่ยุค 4.0 และเป็นบรรทัดฐานของกระบวนการผลิตในอนาคต ซึ่งจะใช้วิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติตามสายการผลิตมากขึ้นโดยเฉพาะแขนหุ่นยนต์ ขณะที่กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้ง Center of Robotic Excellence (CoRE) เป็นเครือข่ายความร่วมมือของ 8 หน่วยงาน มีเป้าหมายภายใน 5 ปีจะฝึกอบรมบุคลากรรองรับไม่น้อยกว่า 25,000 คน

นายสมหวัง บุญรักษ์เจริญ ผู้อำนวยการสถาบันไทย-เยอรมัน เปิดเผยว่า แรงงานในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ แบ่งเป็น 3 ระดับ ได้แก่ 1.แรงงานทำหน้าที่ควบคุมการใช้หุ่นยนต์ในโรงงาน 2. แรงงานซ่อมบำรุงหุ่นยนต์-เครื่องจักร 3. แรงงานออกแบบและติดตั้งระบบหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (System Integrator,SI) ที่สามารถออกแบบ สร้างองค์ประกอบต่างๆ ของหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรได้ตามความต้องการของประเภทอุตสาหกรรมนั้นๆ

"ทั้ง 3 แรงงานนี้ล้วนเป็นทักษะจำเป็นสำหรับผู้ประกอบการหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม โดยเฉพาะ SI ซึ่งเป็นกลไกขับเคลื่อนหลัก และขาดแคลนอย่างมาก ซึ่งที่ผ่านมาส่วนใหญ่เรียนรู้จากประสบการณ์การทำงาน จนสามารถออกแบบ วิเคราะห์และแก้ปัญหาเฉพาะในโรงงานที่ตนเองทำงานเท่านั้น" นายสมหวัง กล่าวและว่า ทักษะความรู้ที่ SI ควรจะมีคือ ความสามารถด้านการออกแบบ สร้างองค์ประกอบต่างๆ ของหุ่นยนต์หรือเครื่องจักรได้ตามความต้องการของอุตสาหกรรม

ส่วนแนวทางการผลิตแรงงานรุ่นใหม่ในอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ เริ่มต้นจากการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัย และสายอาชีวศึกษาที่ต้องพัฒนาหลักสูตรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานอย่างแท้จริง ยกตัวอย่าง สถาบันไทย-เยอรมันได้ร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และภาคเอกชน เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศก้าวสู่เป้าหมายที่วางไว้ว่า ภายใน10ปี ประเทศไทยจะเป็นผู้นำทั้งผู้ใช้และผู้สร้างหุ่นยนต์ในระดับอาเซียน

"มัลติสกิล" คุณสมบัติที่ต้องการ

นายอนุชิต นาคกล่อม ฝ่ายพัฒนาธุรกิจหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ บริษัท เซนเซอร์นิกส์ จำกัด กล่าวว่า แม้ว่ารัฐบาลพยายามผลักดันให้อุตสาหกรรมหุ่นยนต์ในประเทศไทยก้าวไปสู่ ยุค 4.0 แต่ยังติดปัญหาสำคัญคือ การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านนี้จำนวนมาก เนื่องจากผู้ที่เรียนจบทั้งสายอาชีวศึกษาและปริญญาตรีมาส่วนใหญ่เรียนแค่ทฤษฎีตามตำรา ไม่ได้ฝึกปฏิบัติมาอย่างเข้มงวด จึงขาดทักษะการทำงานที่ตอบโจทย์ความต้องการของอุตสาหกรรม ทำให้บริษัทต้องลงทุนทั้งเวลาและค่าใช้จ่ายในการฝึกสอนงานให้กับแรงงานใหม่กลุ่มนี้แทนที่จะสามารถทำงานได้ทันที จึงเกิดปัญหาการแย่งซื้อตัวแรงงานที่มีทักษะด้านนี้มากขึ้นเพื่อรองรับการทำงานในยุคที่มีการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์

ดังนั้น แรงงานพันธุ์ใหม่ที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการนั้น ควรจะมีทักษะด้านมัลติสกิล (Multi-Skills) สามารถบูรณาการใช้ประโยชน์จากความรู้ที่หลากหลายทางวิศวกรรม ไม่ว่าจะเป็นด้านเครื่องจักรกล ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และซอฟต์แวร์ ที่พร้อมนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานจริงได้ ไม่ใช่เชี่ยวชาญแค่เรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น เพราะจะมีความเข้าใจการผลิตในแต่ละขั้นตอน สามารถป้องกันปัญหาและแก้ปัญหาได้

"มัลติสกิลจึงเป็นคุณสมบัติของแรงงานพันธุ์ใหม่ และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสูงมาก จึงมีความจำเป็นที่สถาบันการศึกษาจะต้องสร้างคนขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่นี้" นายอนุชิต กล่าว

ที่มา กรุงเทพธุรกิจ

logoline