svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เร่งสร้างอ่างฯน้ำปี้บูรณาการแก้ "ท่วม-แล้ง" ลุ่มน้ำยม

27 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เร่งสร้างอ่างฯน้ำปี้โครงการในพระราชดำริ บูรณาการแก้"ท่วม-แล้ง"ลุ่มน้ำยมการลงพื้นที่ติดตามความคืบหน้างานก่อสร้างโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ใน ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ของ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี และ ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เมื่อวันที่ 25 เมษายน ที่ผ่านมา

ถือเป็นการตอกย้ำความมั่นใจการเดินหน้าบูรณาการเพื่อแก้ปัญหาน้ำท่วมน้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่างที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี เนื่องจากแม่น้ำยมเป็นแม่น้ำสายเดียวในจำนวน 4 สาย ซึ่งประกอบด้วยปิง วัง ยม และน่าน ที่ยังไม่มีเขื่อนขนาดใหญ่ขวางกั้นลำน้ำเพื่อตัดปริมาณยอดน้ำจากด้านบนในฤดูน้ำหลาก




เร่งสร้างอ่างฯน้ำปี้บูรณาการแก้ "ท่วม-แล้ง" ลุ่มน้ำยม

อ่างฯ น้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ กั้นลำน้ำปี้ ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำยม จึงเป็นอ่างเก็บน้ำเดียวที่ช่วยแก้ปัญหาตรงได้ ไม่เพียงเท่านั้นยังสามารถเก็บกักน้ำเพื่อใช้ประโยชน์ในพื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบลใน อ.เชียงม่วน ได้แก่ เชียงม่วน บ้านมาง และสระ พื้นที่กว่า 28,000 ไร่มีราษฎรได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 7,520 ครัวเรือน และยังส่งน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตรที่รับน้ำจากฝายแม่ยม จ.แพร่ ในช่วงฤดูแล้งได้อีกกว่า 35,000 ไร่ ทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาแบบบูรณาการน้ำในลุ่มน้ำยมทั้งระบบแบบแอเรียเบส ตามแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศอีกด้วย

"ลุ่มน้ำยมเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ ครอบคลุมพื้นที่ 10 จังหวัดของภาคเหนือตอนบน แล้วยังมีปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซากเป็นประจำทุกปี เป็นเพราะลุ่มน้ำนี้มีเพียงแหล่งเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลาง ยังไม่มีแหล่งเก็บกักน้ำขนาดใหญ่ ที่ผ่านมีความพยายามในการแก้ไขปัญหาน้ำในลุ่มน้ำนี้ให้เป็นระบบมาโดยตลอด การที่มีโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริ เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2520 จะช่วยเก็บน้ำที่มีปริมาณมากในช่วงฤดูฝนไว้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคและการเพาะปลูกในฤดูแล้ง"

พล.อ.ฉัตรชัยยอมรับว่าที่ผ่านมาในบริเวณพื้นที่หัวงานนั้นอยู่ในเขตเสี่ยงภัยทางความมั่นคง จึงยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในขณะนั้น ต่อมาในปี 2554 เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในพื้นที่ลุ่มน้ำยม รัฐบาลจึงได้ทบทวนและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบกับโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้เร่งก่อสร้างโดยด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำและส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตอำเภอเชียงม่วนและยังมีปริมาณน้ำเหลือส่งให้แก่การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทานแม่ยมได้ด้วย

"อ่างเก็บน้ำน้ำปี้เป็นโครงการที่ประชาชนรอคอยมากว่า 40 ปี และเป็นโครงการที่รัฐบาลภูมิใจที่ได้สนองงานพระราชดำริของรัชกาลที่ 9 และได้เร่งให้งานก่อสร้างแล้วเสร็จตามเป้าหมายภายในปี 2564 พร้อมมอบหมายให้สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาน้ำในลุ่มน้ำยมอย่างเป็นระบบตามแผนงานที่กำหนดในยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศโดยใช้แนวทางการจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วมทั้งในส่วนของหน่วยงานและประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ" รองนายกรัฐมนตรีกล่าว

ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์เลขาธิการ สทนช. ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ลุ่มน้ำปี้เป็นลุ่มน้ำสาขาของลุ่มน้ำยม ซึ่งเป็นลุ่มน้ำที่ยังมีปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งซ้ำซาก เพราะไม่มีแหล่งกักเก็บน้ำที่สามารถเก็บน้ำได้มากเพียงพอที่จะใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในแต่ละปีลุ่มน้ำยมมีปริมาณน้ำท่าเฉลี่ยประมาณ 4,143 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) และมีความต้องการใช้น้ำในกิจกรรมต่างๆ สูงถึงปีละ 2,695 ล้านลบ.ม. แต่ขณะนี้เราสามารถเก็บกักน้ำไว้ได้เพียง 551 ล้าน ลบ.ม.เท่านั้น

ดังนั้นการแก้ปัญหาดังกล่าวจำเป็นจะต้องแก้ไขปัญหาในเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ ทั้งลุ่มน้ำ โดยพื้นที่ตอนบน มีแผนการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ติดตั้งระบบเตือนภัย สร้างแหล่งน้ำตามความต้องการของพื้นที่ พื้นที่ตอนกลางและตอนล่างของลุ่มน้ำมีการสร้างฝาย ประตูระบายน้ำในลำน้ำยม ปรับปรุงลำน้ำที่ ตื้นเขินแก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ มีการทำแก้มลิง

จากการศึกษาพบว่าลุ่มน้ำยมมีศักยภาพที่จะสร้างอ่างเก็บน้ำได้ถึง 40 แห่ง และอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ก็เป็นหนึ่งในโครงการที่มีศักยภาพ โดยรัฐบาลนี้ได้ผลักดันให้ก่อสร้างได้แล้วและต้องขับเคลื่อนให้แล้วเสร็จภายใน 5 ปี นอกจากนี้ ได้มีการบูรณาการร่วมระหว่างแม่ทัพภาคที่ 3 มหาวิทยาลัยนเรศวร กรมชลประทาน และแกนนำผู้ใช้น้ำลุ่มน้ำยมเสนอการพัฒนาลุ่มน้ำยมตอนบนอีกกว่า 50 โครงการ ความจุกว่า 70 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งต้องมาเตรียมความพร้อมและขับเคลื่อนในระยะถัดไป

"หากสามารถก่อสร้างอ่างเก็บน้ำในลุ่มน้ำยมได้ครบตามผลการศึกษา จะสามารถกักเก็บน้ำรวมกันได้ประมาณ 380 ล้าน ลบ.ม. และเมื่อรวมปริมาณความจุกับอ่างฯ ของเก่าที่มีอยู่แล้วในลุ่มน้ำยมจะทำสามารถกักเก็บน้ำไว้ได้คิดเป็นร้อยละ 19 ของปริมาณน้ำท่าในลุ่มน้ำยม แม้จะมีปริมาณไม่มากนัก แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาภายในพื้นที่ลุ่มน้ำสาขานั้นๆ ได้ดีกว่าที่ไม่ได้ทำอะไรเลย เพราะหากรอโครงการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีการต่อต้านสูง ก็ไม่รู้ว่าจะก่อสร้างได้เมื่อไหร่" เลขาธิการสทนช.กล่าวย้ำ

ขณะที่ศรีเดช ชุมภูชนะภัยอดีตกำนันตำบลเชียงม่วน ซึ่งเป็นตัวแทนชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวถึงโครงการอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ว่าชาวบ้านในพื้นที่อยากได้โครงการนี้มาตั้งแต่ปี 2519 แล้ว แต่กว่าจะได้มาก็ผ่านมาหลายชั่วอายุคน ตอนนี้ได้อ่างฯ มาแล้ว ก็มีความภาคภูมิใจมาก ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่อนุมัติโครงการ ซึ่งเป็นโครงการพระราชดำริด้วย ต่อไปพี่น้องเชียงม่วนก็จะได้ใช้ประโยชน์ ทุกวันนี้ทำนาได้ปีละครั้งเดียว ต่อไปก็จะทำได้ปีละสองครั้ง ในอนาคตอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ก็ยังจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่อีกด้วย เพราะอำเภอเชียงม่วนเป็นเขตติดต่อของจังหวัดน่าน ห่างกันแค่เพียง 66 กิโลเมตรเท่านั้น

ทั้งนี้ โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ สร้างกั้นลำน้ำปี้ ซึ่งเป็นสาขาของแม่น้ำยม ที่บ้านปิน ต.เชียงม่วน อ.เชียงม่วน จ.พะเยา มีระยะดำเนินการ 6 ปี (2559-2564) วงเงินทั้งสิ้น 3,981 ล้านบาท เป็นอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง สันเขื่อนมีความยาว 810.00 เมตร กว้าง 8.00 เมตร สูง 54.00 เมตร มีความจุในระดับเก็บกัก 90.50 ล้านลบ.ม. พร้อมทั้งจะมีการก่อสร้างระบบส่งน้ำความยาว 75.00 กิโลเมตร

การก่อสร้างตัวเขื่อนใช้เทคโนโลยีคอนกรีตบดอัดแน่น (RCC : Roller Compacted Concrete) โดยใช้เถ้าลอยลิกไนต์จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะมาผสมกับคอนกรีต เนื่องจากในพื้นที่ไม่มีแหล่งดินที่เหมาะสม อีกทั้งยังสามารถประหยัดงบประมาณและเวลาในการก่อสร้างได้ด้วย ทั้งนี้จะสามารถส่งน้ำให้แก่พื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานได้ถึง 28,000 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 3 ตำบล ได้แก่เชียงม่วนบ้านมาง และสระ มีราษฎรได้รับประโยชน์ทั้งสิ้น 7,520 ครัวเรือน

นอกจากนี้ยังสามารถส่งน้ำเพื่อสนับสนุนพื้นที่การเกษตรที่รับน้ำจากฝายแม่ยมจ.แพร่ ในช่วงฤดูแล้งได้อีกกว่า 35,000 ไร่ มีราษฎรได้รับประโยชน์อีกกว่า 1,500 ครัวเรือน รวมทั้งยังจะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรม ช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยบริเวณพื้นที่ท้ายน้ำในเขต อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ช่วยตัดยอดน้ำที่จะไหลลงสู่ลุ่มน้ำยม และลุ่มน้ำเจ้าพระยาในช่วงฤดูน้ำหลาก ตลอดจนช่วยสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำอื่นๆ เช่น รักษาระบบนิเวศ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำจืดอีกด้วย

ใช้เวลา40 ปีกว่าจะได้สร้างอ่างฯน้ำปี้


พล.อ.ฉัตรชัยยอมรับว่าที่ผ่านมาในบริเวณพื้นที่หัวงานนั้นอยู่ในเขตเสี่ยงภัยทางความมั่นคง จึงยังไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ในขณะนั้น ต่อมาในปี 2554 เกิดอุทกภัยอย่างรุนแรงในพื้นที่ลุ่มน้ำยม รัฐบาลจึงได้ทบทวนและบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกอบกับโครงการนี้ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนให้เร่งก่อสร้างโดยด่วน เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำและส่งน้ำช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรในเขตอำเภอเชียงม่วนและยังมีปริมาณน้ำเหลือส่งให้แก่การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในเขตโครงการชลประทานแม่ยมได้ด้วย- ปี2519 ราษฎรในเขต อ.เชียงม่วน จ.พะเยา ร้องเรียนผ่านสภาผู้แทนราษฎร ว่าขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูก โดย เฉพาะช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วง

- เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2520 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 มีพระราชดำริเกี่ยวกับโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยาที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

- กรมชลประทาน จึงได้เริ่มพิจารณาโครงการ โดยจัดทำรายงานเบื้องต้นในเดือนธันวาคม 2520 และในปี 2551 ได้จัดส่งรายงานการศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมให้ สผ.พิจารณา (เริ่มทำการศึกษารายงานผลกระทบฯ ปี พ.ศ.2542)

- ปี พ.ศ.2554 เกิดมหาอุทกภัย รัฐบาลมีนโยบายจัดหาแหล่งเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำตอนบน กรมชลประทานจึงได้ศึกษาทบทวนการเพิ่มปริมาณการเก็บกักน้ำ โดยว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษาจัดทำเมื่อกรกฎาคม 2555 และรายงานแล้วเสร็จเดือนกรกฎาคม 2556

- 11 มีนาคม 2557 คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม เห็นชอบรายงานโครงการศึกษาทบทวนเพื่อเพิ่มศักยภาพการเก็บกักน้ำโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา

- 17 ธันวาคม 2557 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ มีมติเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา

- 20 เมษายน 2558 คณะรัฐมนตรีรับทราบมติคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ

- 12 พฤษภาคม 2558 คณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้ให้ความเห็นชอบการดำเนินการโครงการอ่างเก็บน้ำน้ำปี้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.พะเยา

- 3 พฤศจิกายน 2558 คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้เปิดโครงการพร้อมผ่อนผันการใช้พื้นที่คุณภาพชั้น 1 เอ จำนวน 21 ไร่

แผนงานก่อสร้างโครงการ

ระยะเวลาก่อสร้างโครงการ 6 ปี (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559-2564)

logoline