svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"บิ๊กตู่" เปลี่ยนลุค กลยุทธ์บุกเลือกตั้ง!!?

26 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ภาพของ "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. จิ้มแก้มตัวเอง แถมยิ้มเขินๆ ท่ามกลางสาวๆ น่ารัก BNK48 วงไอดอลกรุ๊ปกลายเป็นแชร์ออฟเดอะทาวน์ชั่วข้ามคืน แถมยังปรากฏภาพแซวต่างๆ นานา บนโลกออนไลน์ ชนิดที่ว่า "โอตะ" หลายๆ คนอิจฉาตาร้อนตามๆ กัน

ทั้งการได้จับมือไอดอลเกิน 8 วินาที อีกทั้งไม่ต้องใช้บัตรจับมือ หรือรอต่อคิวข้ามคืน และยังได้สนทนากับพวกเธอที่มีภาพความเอ็นดูเหมือนคุณลุงกับหลาน แถมพ่วงด้วยนายกฯ ยอมเต้น "โอนิกิริ" ท่าสุดฮิตจากเพลง "คุกกี้เสี่ยงทาย" ด้วย ซึ่งภาพที่นายกฯ เต้น ประกอบเพลงสมัยนิยมแบบนี้ หาดูได้ยากมากๆ




แม้ดูแล้วท่าทางเต้นจะมีความแข็งๆ เขินๆ แบบคุณลุง แต่ก็สร้างความฮาให้โลกออนไลน์ได้ไม่น้อย




หากยังจำกันได้ก่อนหน้านี้รัฐบาลได้เชิญทีมนักแสดงจากละคร "บุพเพสันนิวาส" มีจังหวะหนึ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ขอให้ "หมื่นสุนทรเทวา (เดช)" ที่แสดงโดย "โป๊ป" ธนวรรธน์ วรรธนะภูติ พูดบทละครสักบทหนึ่ง ทันทีที่ขึ้น "ออเจ้าเป็นคนกำเริบ ไม่รู้จักกาลเทศะ..." เล่นเอา ออกญาตู่ แทบยกเบรกไม่ทัน ให้หันไปพูดกับ "แม่การะเกด" แทน ช็อตนี้สร้างเสียงหัวเราะให้ทั้งรัฐมนตรี ผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ยันคนที่ดูไลฟ์ ผ่านเพจ "สายตรงไทยนิยม"




นอกจากนี้ยังมีช็อตที่นายกฯ จะจับ "หมื่นเรือง" ไปบั่นหัว เนื่องจากอยากเลือกตั้ง แต่ต่อมายอมลดโทษให้แค่โบย 10 ที เพราะหมื่นเรืองขอเซลฟี่ด้วย แถมยังพูดหยอดนักแสดงว่า "วันนี้คนมากันเยอะ แต่คงมาดูออเจ้ากันมากกว่า น่าอิจฉาออเจ้าจริงๆ" บอกให้เป็นนัยๆ ว่า "บิ๊กตู่" ก็ติดตามละครเรื่องนี้เหมือนกัน



จากสองเหตุการณ์ข้างต้นนั้น ล้วนเป็นทอล์กออฟเดอะทาวน์บนโลกออนไลน์ เนื่องจากเป็นภาพที่เห็นได้ยาก และดูเป็นคาแรกเตอร์ที่ขัดต่อภาพลักษณ์ความเป็นทหารอยู่พอสมควร ต้องยอมรับว่าภาพนายพลผู้ขึงขัง เคยจับนักการเมืองปิดตาขึ้นรถตู้เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 ภาพของนายพลผู้หงุดหงิดง่าย นักข่าวถามอะไรที่ไม่ถูกใจนิดหน่อยก็โมโห เริ่มจะค่อยๆ หายไปในมุมมองของคนทั่วๆ ไป กลายร่างเป็นลุงนายกฯใจดี ที่ดูยังไงก็เป็นนักการเมืองมาก แม้เขาจะปฏิเสธเรื่องนี้อยู่หลายครั้ง



ก่อนหน้านี้รัฐบาลพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์อยู่อย่างมากเพื่อที่จะเข้าถึงประชาชน ทั้งการจัดรายการ "มติ ครม. ฉบับประชาชน" เพื่อการเข้าถึงชาวบ้าน ลดความเป็นทางการลง หรือการจัด "เดินหน้าประเทศไทยวัยทีน" ที่ถือเป็นกลยุทธ์สื่อสารที่ต้องการเข้าถึงกลุ่มวัยรุ่น ด้วยการอธิบายนโยบายรัฐในรูปแบบที่วัยรุ่ยเข้าใจง่ายๆ แต่ก็ยังไม่เป็นที่พูดถึงมากในหมู่ประชาชน เพราะหลายๆ คนมองว่ายังทำไม่ดีพอ บางความพยายามก็ถูกโลกออนไลน์ติติงหรือเอาไปพูดในเชิงล้อเลียน ไม่ได้ทำให้ภาพลักษณ์ของรัฐบาล หรือนายกฯ ดีขึ้นในเชิงการเข้าถึงผู้คน เพราะยังคงเป็นการเดินหน้าเปลี่ยนแปลงในแบบที่ไม่สนว่าสังคมกำลังสนใจอะไร หากแต่อยู่บนแนวคิดของกลุ่มผู้ใหญ่ ที่คิดว่าแบบนี้ดีจึงทำออกมา (แต่ออกมาไม่ดี)




ต่างจากการเชิญคนดังทั้งสองกลุ่มที่ผ่านมาที่ประชาชนกลับให้ความสนใจเป็นอย่างมาก หลักๆ ที่สำคัญคือ คนสองกลุ่มนี้อยู่ในกระแสสังคมที่ฮิตจนฉุดไม่อยู่ไม่ว่าจับคู่กับอะไรคนก็สนใจ ส่งผลให้คนพูดถึงมาก แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่าหน้าตาการส่งเสริมอุตสาหกรรมละครไทย โดยกลุ่มผู้ทำละครบุพเพสันนิวาสจะเป็นอย่างไร หรือแนวทางของวิทยุครอบครัวจะได้ผลแค่ แต่ในแง่ของการทำให้ผู้คนมาสนใจและทำให้รัฐบาลดูพยายามเข้าถึงผู้คนได้มากขึ้น




ทั้งนี้การที่รัฐบาลพยายามเกาะกระแสสังคมไทย อะไรที่ฮิตก็เอามาคุยร่วมงานด้วย ท่ามกลางคำถามถึงความจำเป็นในการเชิญ แม้มีจุดประสงค์มาร่วมงานกับภาครัฐ แต่ก็คงไม่จำเป็นต้องพบนายกฯ เพื่อพูดคุยนอกเรื่อง บวกกับการเลือกตั้งที่กระชั้นชิดเข้ามา และกระแสข่าวที่นายกฯพยายามดูดนักการเมืองเก่าเพื่อเตรียมตั้งพรรคการเมือง เพื่อปูทางไปสู่การเลือกตั้งแล้ว จึงไม่แปลกที่จะมองได้ว่านี่คือความพยายามปรับภาพลักษณ์ใหม่ เป็นความพยายามลบภาพทหารที่ห่างเหินประชาชน ที่เข้าถึงได้ยาก ให้แปรเปลี่ยนเป็นนายกฯ ที่เข้าใจกระแสสังคม พยายามเข้าถึงทั้งกลุ่มผู้ใหญ่และวัยรุ่น ซึ่งพวกเขาเหล่านี้จะกลายเป็นคะแนนเสียงในการเลือกตั้งครั้งต่อไปด้วย




เพราะลำพังความมั่นใจในทีมการเมืองในอนาคตอาจจะไม่เพียงพอ หากจะต้องได้รับการสนับสนุนจากประชาชนจำนวนมากร่วมด้วย ซึ่งหลังจากนี้เองคาดว่าเราจะได้เห็นการที่รัฐบาลเกาะกระแสสังคมอย่างนี้อีกหลายครั้ง




แต่ไม่ว่าจะเปลี่ยนภาพลักษณ์เป็นรูปแบบไหนอย่างไร อย่าลืมว่ากระแสแบบนี้เป็นของฉาบฉวย ในขณะที่ภาพรวมของการดำเนินการในรัฐบาลชุดนี้ยังคงมีเสียงบ่นในเรื่องปากท้องของประชาชน ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับต้นๆ และจะเป็นปัจจัยที่จะทำให้ประชาขนยอมรับรัฐบาลได้อย่างแท้จริง ถ้าเกิดใช้การเกาะกระแสอย่างพอดีเพื่อนำไปสู่การบริหารประเทศที่ดีกว่า เสี่ยงชื่นชมก็จะตามมาอย่างแน่นอน ซึ่งเชิญกลุ่มคนดังมาร่วมงานแล้วไม่ใช่แค่เรียกช็อตฮา แต่ผลงานก็ต้องเกิดด้วย




หากพยายามจับกระแสไปเรื่อยๆ ขณะที่ผลงานไม่คืบหน้า ระวังประชาชนมองเป็นแค่ความพยายามเปลี่ยนภาพลักษณ์เป็นแค่การเปลี่ยนภายนอกเท่านั้น หรืออาจถึงขั้นถูกมองว่าใช้เพื่อหาเสียงในอนาคต ไม่ได้ช่วยให้ประเทศเดินหน้าได้แต่อย่างใด พลันอาจลามไปถึงการขุดคุ้ยการใช้งบประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล แถมอาจถูกมองว่าใช้ภาษีไม่เกิดประโยชน์อีก

logoline