svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ผนึกบีโอไอจัดใหญ่"ซับคอนไทยแลนด์"

23 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ผนึกบีโอไอจัดใหญ่"ซับคอนไทยแลนด์" จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 12 โดยปีนี้ได้ผนึกกับงาน "อินเตอร์แมค 2018" โชว์เทคโนโลยีสุดล้ำรับอุตสาหกรรม4.0 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่รวบรวมนวัตกรรมล่าสุดจากทั่วโลกมาไว้ที่นี่

นับเป็นงานจับคู่ธุรกิจและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน สำหรับงาน "ซับคอนไทยแลนด์" ซึ่งจัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 12 โดยปีนี้ได้ผนึกกับงาน "อินเตอร์แมค 2018" ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่รวบรวมนวัตกรรมล่าสุดจากทั่วโลกมาไว้ที่นี่ ทำให้งาน "ซับคอนไทยแลนด์ 2018" เป็นที่จับตาของผู้ประกอบการ นักธุรกิจและผู้อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมจากทั่วโลก ต่างเฝ้ารอและต้องการมาสัมผัสความก้าวหน้าของเทคโนโลยีล้ำสมัยภายใต้นโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล 

ผนึกบีโอไอจัดใหญ่"ซับคอนไทยแลนด์"


             "บีโอไอมั่นใจว่าการจัดงานซับคอนไทยแลนด์ในปีนี้จะเป็นงานประจำปีที่ผู้ซื้อชิ้นส่วนชั้นนำจากประเทศต่างๆ เลือกที่จะปักหมุดให้เป็นงานสำคัญในการทำธุรกิจเพื่อต่อยอดการผลิตได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม ปีนี้มีผู้ผลิตชิ้นส่วนทั้งจากไทยและต่างชาติร่วมแสดงผลงานกว่า 350 คูหา จากกว่า 10 ประเทศ คาดว่าจะมีผู้ซื้อจากทั่วโลกไม่น้อยกว่า 2.5 หมื่นราย จากอุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกล รวมถึงอุตสาหกรรมในอนาคต อย่างเช่น เครื่องมือแพทย์ อากาศยาน หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและดิจิทัล ซึ่งบีโอไอตั้งเป้าว่าจะเกิดการจับคู่ธุรกิจมากกว่า 6.5 พันคู่ รวมมูลค่าธุรกิจไม่น้อยกว่า 1.2 หมื่นล้าน คาดว่าจะสูงกว่าปีก่อนที่มีการจับคู่ธุรกิจ 6,419 คู่ มีมูลค่า 10,263 ล้านบาท"


                ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เผยข้อมูลระหว่างแถลงข่าวเตรียมความพร้อมการจัดงาน "ซับคอนไทยแลนด์ 2018 และงานอินเตอร์แมค 2018" ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยงานนี้ประเทศไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกให้เป็นหนึ่งในประเทศเป้าหมายอันดับต้นๆ ในการเป็นประเทศคู่ค้าในอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตมาโดยตลอด และด้วยความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานและนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้ไทยแลนด์ 4.0 ที่มุ่งเน้นการสร้างและพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมอันจะนำพาประเทศไปสู่ประเทศที่เป็นแหล่งรองรับการลงทุนในอุตสาหกรรมชั้นสูง บีโอไอจึงมุ่งหวังให้งานซับคอนไทยแลนด์ เป็นงานจับคู่ธุรกิจและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน และเป็นงานสำคัญในการช่วยพัฒนาและเชื่อมโยงอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิตของไทยให้มีความพร้อมสู่การพัฒนาเพื่อรับการก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ด้วย 

                  งานซับคอนไทยแลนด์ 2018 นอกจากจะมีกิจกรรมมากมาย เช่น การจับคู่ธุรกิจ ยังมีการสัมมนาเชิงวิชาการ รวมทั้งส่วนจัดแสดงพิเศษโดยผู้ประกอบการไทยในคลัสเตอร์ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ ผู้ประกอบการ ผู้พัฒนาระบบอัตโนมัติ (SI) ในกลุ่มออกแบบวิศวกรรม อิเล็กทรอนิกส์ และพัฒนาซอฟต์แวร์ ซึ่งจะมีการนำเสนอหุ่นยนต์แขนกลที่พัฒนาโดยบริษัทคนไทยอีกด้วย


"เปิดโอกาสให้บริษัทที่เข้าร่วม ไม่ว่าไทยหรือต่างประเทศมีการติดต่อทางธุรกิจกัน ส่วนการสัมมนาไม่ใช่มุ่งให้ความรู้อย่างเดียว แต่เป็นการเปิดโลกทรรศน์ให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจถึงทิศทางและจะต้องปรับตัวอย่างไรบ้าง" เลขาธิการบีโอไอกล่าวและย้ำว่า


                  สำหรับยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนในไตรมาส 1 ประจำปี 2561 มีโครงการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนรวม 333 โครงการ มูลค่า 2.03 แสนล้านบาท โดยมูลค่าดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 28% ของเป้าหมายขอรับส่งเสริม ทั้งปีที่ 7.2 แสนล้านบาท ส่วนการขอรับการส่งเสริมปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตในไตรมาส 1 มีผู้ยื่นขอ 33 โครงการ สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีเพียง 24 โครงการ คาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะมียอดขอสูงกว่าปีก่อนที่มีจำนวน 200 โครงการอย่างแน่นอน

ขณะที่ ชนาธิป สุรชัยสิทธิกุล นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เผยว่าขณะนี้มีแผนให้สมาชิกของสมาคมรวมกลุ่มกันตั้งบริษัท เพื่อร่วมลงทุนกับบริษัทต่างชาติที่มีเทคโนโลยีชั้นสูงให้เข้ามาร่วมลงทุน เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี ยกระดับจากผู้ผลิตชิ้นส่วนไปสู่การเป็นผู้ผลิตอุปกรณ์ที่ทันสมัย โดยปัจจุบันสมาคมมีสมาชิก 528 ราย กว่า 80% เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ รองลงมาเป็นการผลิตชิ้นส่วนโลหะต่างๆ ยาง โพลิเมอร์ และอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์   นอกจากนี้ยังได้นำร่องตั้งบริษัท เมดิก้า เทคโนโลยี จำกัด เพื่อผลิตสินค้าในกลุ่มอุปกรณ์ทางการแพทย์ โดยการรวมกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วน 3 ราย ลดทุนสัดส่วน 30% บริษัทฝ่ายขาย 1 ราย ลงทุน 30% และบริษัทผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ชั้นนำระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ 1 ราย ลงทุน 40% เพื่อผลิตเครื่องกระตุ้นหัวใจ และในอนาคตจะขยายไปผลิตอุปกรณ์อื่นๆ อีกด้วย 


                      นายกสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทยเผยต่อว่า จะใช้โมเดลการพัฒนาในรูปแบบนี้ขยายไปให้ครอบคลุมทั้ง 11 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายของรัฐบาล เช่นอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะหุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรม อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมดิจิทัล อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ หรือรถยนต์ไฟฟ้า เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ เพราะสมาชิกของสมาคมกว่า 80% เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ ซึ่งในปัจจุบันมีแนวโน้มไปในทิศทางรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น หากผู้ผลิตชิ้นส่วนไม่ปรับตัวไปผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้า ก็จะทำธุรกิจได้ยาก


                 "ในขณะนี้ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์รับออเดอร์ผลิตชิ้นส่วนตามแต่โรงงานผลิตรถยนต์ญี่ปุ่นกำหนด ซึ่งจะมีจำนวนชิ้นงานมาก แต่กำไรน้อย และผู้ประกอบการส่วนใหญ่ก็พอใจในระบบการผลิตแบบนี้ เพราะมีความปลอดภัยไม่ต้องรับความเสี่ยงมากมาย แต่หากไม่ปรับตัวในอนาคตก็จะอยู่ได้ยาก จึงจำเป็นต้องรวมกลุ่มผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญ ประกอบเป็นสินค้าที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เพื่อยืนอยู่ในธุรกิจนี้ได้ในระยะยาวด้วย จึงเห็นว่าควรจะเริ่มต้นผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญก่อน เช่น มอเตอร์ขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า เนื่องในประเทศไทยมีผู้ผลิตชิ้นส่วนที่มีความพร้อม ซึ่งจะออกไปมองหาผู้ร่วมทุนต่างชาติที่เป็นเจ้าของเทคโนโลยี เข้ามาร่วมลงทุนผลิตกับผู้ประกอบการไทย ซึ่งแผนงานหลังจากนี้ สมาคมจะเป็นผู้กำหนดทิศทางการรวมกลุ่มตั้งบริษัท ซึ่งจะนำสมาชิกมาร่วมลงขันตั้งบริษัทผลิตสินค้าทั้ง 11 กลุ่มอุตสาหกรรมกับผู้ผลิตที่มีชื่อเสียงระดับโลก ซึ่งจะเป็นแนวทางให้การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายของรัฐบาล เดินหน้าได้อย่างรวดเร็ว" ชนาธิปกล่าวย้ำ


                  ด้าน รศ.ดร.ชิต เหล่าวัฒนา กรรมการคัสเตอร์ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย ในฐานะผู้ก่อตั้งและที่ปรึกษาสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม(ฟีโบ้) มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวยอมรับว่าในอนาคตอันใกล้ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมของไทยมากขึ้น โดยเฉพาะอุตสาหกรรมรับช่วงการผลิต เนื่องจากปัจจัยด้านแรงงาน เวลาและค่าจ้างที่มีขีดจำกัด จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบอัตโนมัติจะต้องเข้ามาแทนที่ในหลากหลายอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่ต้องการความแม่นยำสูงและมีกำลังการผลิตในปริมาณมากและต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตชั้นสูง


                   "เพื่อให้สอดคล้องกับภาคการผลิตของประเทศไทยที่มุ่งเน้นสู่การพัฒนาไปยังอุตสาหกรรมแห่งอนาคต งานซับคอนไทยแลนด์ที่จัดร่วมกับงานอินเตอร์แมคนี้ จึงเป็นโอกาสสำคัญของผู้ประกอบการไทยที่จะเข้ามาชมความก้าวหน้าที่ครบองค์ความรู้และก้าวทันเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัยและครบครันที่สุดเพื่อนำมาปรับใช้ในการผลิตสู่การรองรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วได้อย่างทันท่วงที"


                       กรรมการคลัสเตอร์ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทยระบุอีกว่า จากการสำรวจบริษัทกว่า 500 บริษัทในภาคอุตสาหกรรมพบว่า ประมาณ 85 เปอร์เซ็นต์ ถ้าผู้ประกอบการไม่เปลี่ยนมาใช้ระบบอัตโนมัติ ภายใน 3 ปีจะประสบปัญหาอย่างแน่นอน เนื่องจากต้นทุนการผลิตแพงกว่าราคาขาย แต่สิ่งที่น่าตกใจมากกว่านั้น ใน 85 เปอร์เซ็นต์นี้มี 47 เปอร์เซ็นต์เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ หากไม่ปรับตัวคงจะอยู่รอดยาก ดังนั้นการปรับตัวคงจะดำเนินการเปลี่ยนแปลงทันทีไม่ได้ แต่จะต้องดำเนินการแบบค่อยเป็นค่อยไปโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากการรับช่วง จนกว่าเดินสายพานเองได้


                     "สมาคมส่งเสริมการรับช่วง เปรียบเสมือนนักรบกู้ชาติในการส่งเสริมลงทุนใช้ระบบอัตโนมัติให้กับกลุ่มบริษัทเหล่านี้  หุ่นยนต์ระบบอัตโนมัติ ใน 100 เปอร์เซ็นต์จะประกอบด้วยฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ 47 เปอร์เซ็นต์ ติดตั้งระบบ 30 เปอร์เซ็นต์ อีก 20 กว่าเปอร์เซ็นต์เป็นไลเซนส์ แทนที่เราจะบุกไปฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์เลยเราอาจจะต้องมาดูการออกแบบระบบก่อน เราไม่สามารถผลิตหุ่นยนต์อุตสาหกรรมได้ แต่เราสามารถออกแบบระบบในการใช้หุ่นยนต์ เราก็สามารถประหยัดเงินส่วนนี้ 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องส่งเงินให้ต่างประเทศ ผมได้คำนวณคร่าวๆ ให้แก่ทางคณะรัฐมนตรีว่าการลงทุนใช้ระบบอัตโนมัติแสนล้านจะมีเงินกลับสู่ประเทศประมาณ  7 หมื่นล้าน ผ่านไปสัก 5-10 ปี เราก็จะวิ่งไปถึงหุ่นยนต์สายพานไทยอย่างแท้จริงได้" รศ.ดร.ชิตยืนยันทิ้งท้าย 

 ปีนี้จัดใหญ่รวม2งานมาไว้ที่เดียว


  
                มนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่างาน "ซับคอนไทยแลนด์" จัดต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 12 โดยเป็นการจัดงานในช่วงเวลาเดียวกันกับงานอินเตอร์แมค 2018 ซึ่งเป็นงานแสดงเทคโนโลยีเครื่องจักรกลที่รวบรวมนวัตกรรมล่าสุดเพื่อเตรียมตัวรับอุตสาหกรรม 4.0 โดยภายในงานปีนี้จะมีโซน "Smart Factory Showcase" ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในอาเซียนโดยการจัดแสดงบนพื้นที่กว่า 400 ตารางเมตรเพื่อสาธิตไลน์การผลิตเต็มรูปแบบภายในโรงงานอัจฉริยะผลิตชิ้นงานจริงด้วยระบบออโตเมชั่นไร้การควบคุมโดยแรงงานมนุษย์ โซน "Progressive Bending Robot" ครั้งแรกของโลกกับการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องพับ 3 เครื่องกับหุ่นยนต์แขนกลเพียงตัวเดียว ผ่านระบบอัตโนมัติ และสุดท้ายเป็นโซนเทคโนโลยีชั้นสูง "Advanced Technology" ที่พร้อมโชว์นวัตกรรมการพิมพ์โดยเครื่องพิมพ์ 3D ที่เร็วที่สุดในโลกด้วยเทคโนโลยี Virtual Reality(VR) ระบบออโตเมชั่น 4.0 รวมทั้งเครื่องวัด 3D และเทคโนโลยีการเชื่อมล่าสุดกับหุ่นยนต์แขนกล เป็นต้น
               "ยูบีเอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) ในเครือของยูบีเอ็มอังกฤษ ซึ่งเป็นบริษัทจัดงานอุตสากรรมเครื่องจักรกล ได้ร่วมกับบีโอไอจัดมาต่อเนื่องทุกปี  ครั้งนี้สำคัญที่สุดเป็นการรวบรวมผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก มาร่วมมือกัน สำคัญที่สุดคือนโยบายรัฐบาลที่ผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ 4.0 บีโอไอหน่วยงานของรัฐบาลให้การสนับสนุนการจัดงานปีนี้ภายใต้ธีมงานพลิกโฉมการผลิตด้วยเทคโนโลยีอัจฉริยะ เพื่อให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาก มุ่งมาที่ระบบอัตโนมัติ  เพราะจะได้สอดรับกับนโยบายรัฐบาลด้วย"




                    นอกจากนี้ภายในงานยังจัดให้มีการสัมมนาเชิงวิชาการที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจภาคอุตสาหกรรมการผลิตทุกภาคส่วนกว่า 100 หัวข้อที่ครบถ้วนมากที่สุด ซึ่งเป็นการจัดงานที่คู่ขนานทั้งสองงานเป็นการผนึกกำลังสำคัญเพื่อผลิตโฉมภาคอุตสาหกรรมไทยอย่างแท้จริง โดยงานซับคอนไทยแลนด์ 2018 และงานอินเตอร์แมค 2018 จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 16-19 พฤษภาคม ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา  

logoline