svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"มาร์ค"ซัด "คสช." ใช้-ตำแหน่ง ล่อ ดูดอดีต ส.ส.ปชป. เข้าสังกัด

16 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

16 เมษายน 2561 -- "อภิสิทธิ์" ซัด "คสช." ใช้ผลประโยชน์-ตำแหน่ง ล่อ "อดีตส.ส.ปชป." เข้าสังกัด เตรียมจับตาการทำงาน "สกลธี" เพื่อส่วนรวมหรือลดคะแนนนิยม ปชป. พื้นที่กทม. ย้ำชัด ไม่นิยม นักการเมืองวิ่งหาศูนย์อำนาจเพื่อประโยชน์ตนเอง


เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2561 -- นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวผ่านรายการต้องถาม ทางสถานีโทรทัศน์ฟ้าวันใหม่ ตอนหนึ่งถึงการลาออกจากสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของ นายสกลธี ภัทริยกุล อดีตส.ส. เพื่อไปรับตำแหน่งรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ว่า ปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นไปภายหลังจากที่นายสกลธี เข้าพบนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งมีคนวิจารณ์ว่าเป็นการทาบทามแบบเจาะจงไปที่บุคคลซึ่งเคยดำรงแหน่ง ส.ส. และเป็นความไม่ธรรมดา ส่วนตัวมองว่าบุคคลที่มีความพร้อมทำหน้าที่รองผู้ว่าฯกทม. มีจำนวนมาก ที่ไม่ได้มีตำแหน่งเป็นอดีต ส.ส. และที่ผ่านมารัฐบาลหลีกเลี่ยงการดึงบุคคลที่เป็นคนการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องเพราะจะถูกวิจารณ์ แต่กรณีที่เกิดขึ้น ตนขอให้รอดูการำงานของนายสกลธี ว่าจะออกจากพรรคประชาธิปัตย์เพื่อทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง หรือ ลาออกไปสังกัดพรรคการเมืองที่เกิดขึ้นใหม่ 


"เขามาพบผม 1 วันก่อนจะได้รับตำแหน่งจาก กทม. และ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ว่าจะไปทำงานที่กทม. เขาว่าอยากจะไปทำงานตรงจุดนั้น ซึ่งผมบอกเขาว่าหากจะไปก็ลาออกเสียดีกว่า ซึ่งผมคาดว่าเขาตั้งใจมาลาออกอยู่แล้ว เมื่อเป็นแบบนี้ผมก็มองเหมือนที่หลายคนมองว่าอาจจะกระทบต่อฐานนิยมของพรรคประชาธิปัตย์ในพื้นที่กรุงเทพฯ แต่ผมไม่คิดมาก" นายอภิสิทธิ์ กล่าว 




นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่าสำหรับสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ที่จะลาออก ถือเป็นสิทธิ์ที่แต่ละคนทำได้ ส่วนจะผิดหรือถูกนั้น ตนสรุปไม่ได้ เพราะมีบางคนเชื่อว่า เขาออกไปเพื่อไปทำประโยชน์ให้ส่วนรวม ไม่ว่าจะอยู่บทบาทไหน ที่ผ่านมาการตัดสินใจทำงานให้กับ รัฐบาล หรือ คสช. ถูกแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ทำเพื่อส่วนรวม หรือ ส่วนที่วิ่งเข้าหาศูนย์อำนาจ เพราะมีผลประโยชน์ส่วนตัว หรือทางธุรกิจ โดยสิ่งที่ทำให้เห็นเชิงประจักษ์คือ การใช้อำนาจโดยไม่ชอบ และการทุจริต สำหรับตน ฐานะเป็นนักการเมืองอาชีพ และโตมากับพรรคการเมืองที่เป็นสถาบัน ไม่นิยมทำแบบนั้น และผมเชื่อว่าการทำงานที่มีสังกัด มีจุดยืนชัดเจน ไม่ต้องวิ่งเพื่อให้ตนเองมีอำนาจตลอดเวลา คือแนวทางที่ยั่งยืนกว่าสำหรับประเทศไทยและการเมืองไทย 




"การใช้อำนาจรัฐ ใช้ผลประโยชน์ดึงคนก็เหมือนการเมืองแบบเดิม ซึ่งการทำแบบนี้ ความชอบธรรมที่จะพูดถึงการปฏิรูปการเมือง หรือ ธรรมาภิบาล อาจถูกตั้งคำถามพอสมควร ที่ผ่านมาผมฐานะนักการเมืองเก่า พรรคการเมืองเก่าถูกประณามจากผู้มีอำนาจในปัจจุบัน แต่วันนี้ขอให้ดูพฤติกรรมตัวท่านเองว่าเป็นเหมือนนักการเมืองเก่าหรือไม่ ทั้งการทำงานแบบหลีกเลี่ยงเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ แม้จะไม่ใช่การทำผิดตามตัวอักษร แต่เขาเอาผลประโยชน์ต่อรองทางการเมือง ดังนั้นต่อไปเขาไม่มีสิทธิที่จะพูดถึงการปฏิรูปการเมืองหรือความมีธรรมาภิบาลอีกต่อไป" นายอภิสิทธิ์ กล่าว  




นายอภิสิทธิ์ กล่าวย้ำด้วยว่าแม้การเตรียมตั้งพรรคของนายสมคิดตามที่มีกระแสข่าวจะไม่ถือว่าผิดรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญห้ามลงสมัคร ส.ส. เท่านั้น แต่ตามเจตนารมณ์ที่เขียนว่าคณะรัฐมนตรี หรือสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่ต้องการลงเลือกตั้ง ต้องลาออกภายใน90วัน ซึ่งนับระยะตั้งแต่ที่รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 มีผลบังคับใช้ คือ การไม่ให้ผู้ที่ถืออำนาจรัฐ เข้าไปมีผลประโยชน์ทับซ้อน หรือใช้อำนาจแทรกแซงการเลือกตั้ง.
 



 

logoline