svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ระบบอัตโนมัติ-หุ่นยนต์ ทางรอดเอสเอ็มอี 4.0

16 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เวทีสัมมนาประจำปี สวทช.แนะอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปต้องปรับตัวเชื่อมโยงเมกะเทรนด์อาหาร พร้อมนำระบบอัตโนมัติ-หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงาน


เวทีสัมมนาประจำปี สวทช.แนะอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปต้องปรับตัวเชื่อมโยงเมกะเทรนด์อาหาร พร้อมนำระบบอัตโนมัติ-หุ่นยนต์เข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต แก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างแพง ขณะที่ผู้พัฒนาหุ่นยนต์ชูเทคโนโลยีสัญชาติไทย ราคาประหยัด สามารถคืนทุนเร็วใน 1 ปี


ไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม การแปรรูปสินค้าเกษตรโดยเฉพาะเพื่อเป็นอาหารและเครื่องดื่มนับว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก ขณะที่โรงานแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารค่อนข้างหลากหลายมีทั้งโรงงานเล็กและโรงงานใหญ่ ความสามารถในการผลิตก็แตกต่างกันอย่างไรก็ตาม ทุกโรงงานมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติฯ ซึ่งจะเป็นทิศทางในอนาคตอันใกล้นี้ด้วย




อุตฯอาหารเกาะติดเทรนด์โลก

ผศ.วรพจน์ อังกสิทธิ์ สถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงภาพรวมเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารแปรรูปในไทยว่า อุตสาหกรรมเกษตรฯ มีความสำคัญระดับประเทศ มียอดการส่งออกเป็นอันดับ 2 ในเอเชียเพราะไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม มีการแปรรูปสินค้าเกษตรโดยเฉพาะเพื่อเป็นอาหารและเครื่องดื่ม มีโรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรและอาหารจำนวนมากทั้งโรงงานเล็กและโรงงานใหญ่ ความสามารถในการผลิตก็แตกต่างกันไป


แต่ทุกโรงงานมีเป้าหมายเดียวกันคือ ต้องการเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต แก้ปัญหาขาดแคลนแรงงานและลดต้นทุน ดังนั้น ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ จึงเป็นคำตอบให้กับผู้ประกอบการไทยเช่นเดียวกับผู้ประกอบการในต่างประเทศ


"ในยุคไอทีเราสามารถเชื่อมโยงข้อมูลต่างๆ ผ่านแอพพลิเคชั่นและระบบการทำงานอัตโนมัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่ต้นทางการผลิตจนถึงปลายทาง เริ่มจากการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วยที่มีประสิทธิภาพแทนแรงงานคน นอกเหนือจากลดต้นทุน เพิ่มมูลค่าและยังสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคได้จากการสามารถตรวจสอบย้อยกลับได้อีกด้วย"



สินค้าโภคภัณฑ์เติมนวัตกรรม

สันติยา ประทีปะเสน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทแป้งตะวันออกเฉียงเหนือ (1987) จำกัด ผู้ผลิตแป้งมันสำปะหลังเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศ กล่าวว่า สินค้าเกษตรเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ (คอมโมดิตี้) ที่ไม่มีความแตกต่างของสินค้า เช่นเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภค (Fast Moving Consumer Goods : FMCG) ที่แข่งขันกันด้านราคาแต่ในช่วงที่ผ่านมาสินค้า FMCG นำระบบอัตโนมัติเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตแทบทุกโรงงาน เพื่อควบคุมกำลังการผลิต ต้นทุนและจัดส่งสินค้าได้ตรงเวลา ลดความผิดพลาดจากแรงงานคน ขณะที่สินค้าเกษตรยังคงใช้แรงงานคนเป็นหลัก ทั้งๆ ที่มีข้อกำหนดหรือเงื่อนไขในการผลิตเข้มงวดกว่า


แต่จากกระแสความเปลี่ยนแปลงทั้งปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี ทำให้โรงงานสินค้าเกษตรใช้ระบบอัตโนมัติฯ มากขึ้น ยกตัวอย่างโรงงานแป้งตะวันออกเฉียงเหนือที่ใช้เพื่อควบคุมคุณภาพสินค้าให้มีมาตรฐาน สามารถควบคุมต้นทุน เวลา คุณภาพได้ตามความต้องการของตลาด แม้ว่าจะต้องลงทุนเพิ่มด้านเทคโนโลยี แต่สามารถคืนทุนได้ภายในระยะเวลา 2-3 ปี


วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป กล่าวว่า การแข็งค่าของเงินบาทจะยังคงส่งผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร จึงต้องนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เข้ามาสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเปลี่ยนสินค้าคอมโมดิตี้เป็นสินค้านวัตกรรม รวมถึงการนำระบบผลิตอัตโนมัติฯ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อแก้ปัญหาค่าจ้างแรงงาน รวมทั้งการขาดแคลนแรงงานต่างด้าวในอนาคต


ระบบอัตโนมัติ-หุ่นยนต์ ทางรอดเอสเอ็มอี 4.0




ถึงเวลาเครื่องจักร-หุ่นยนต์ไทย

อนุชิต นาคกล่อม กรรมการผู้จัดการ บริษัทเซ็นเซอร์นิกส์ จำกัด กล่าวว่า ในมุมมองของผู้พัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ กล่าวว่า แม้ว่าเทรนด์โลกจะก้าวไปสู่ 4.0 แต่ในประเทศไทยกำลังขาดแคลนแรงงาน และต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบของสินค้าด้วยเนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ในอนาคตอาจจะแข่งขันต่างประเทศไม่ได้ หากไม่ปรับตัวไปสู่การผลิตสินค้านวัตกรรม ไม่เน้นการผลิตจำนวนมากเหมือนสมัยก่อน เพราะบริษัทที่ผลิตปริมาณมากและควบคุมต้นทุนได้จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น


ขณะที่บริษัทขนาดกลางและย่อมประมาณ 200 แห่งไม่สามารถทำได้เหมือนกับบริษัทขนาดใหญ่ จึงต้องปรับตัวด้วยการเพิ่มนวัตกรรม เน้นผลิตไม่มากแต่ราคาต่อหน่วยสูง เพราะปัจจุบันกำไรของอุตสาหกรรมอาหารถ้าต่ำกว่า 14% ถือว่าขาดทุน โดยเฉพาะเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น ยิ่งผลิตยิ่งขาดทุน ฉะนั้น ต้องผลิตสินค้าที่มีมูลค่า จำนวนไม่มาก ใช้แรงงานน้อย


สอดคล้องกับสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานในอนาคต เพราะกลุ่มผู้สูงอายุมีจำนวนเพิ่มขึ้น ส่วนแรงงานจากเพื่อนบ้านก็มีแนวโน้มที่จะกลับไปทำงานในประเทศของตนเอง ดังนั้น การสร้างเครื่องจักรอัตโนมัติหรือหุ่นยนต์ขึ้นมาใช้เอง จึงเป็นทางออกที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทยแทนพึ่งพาเทคโนโลยีนำเข้าในราคาแพง จะทำให้ต้นทุนสินค้าเพิ่มขึ้นหรือกว่าจะคืนทุนใช้เวลา 5-10 ปี


แต่หากใช้เครื่องจักรในประเทศจะมีราคาถูกลง สามารถคืนทุนได้เร็วภายใน 1 ปี ซึ่งตอบโจทย์การทำธุรกิจในยุคนี้ที่เปลี่ยนแปลงเร็ว โดยสามารถเปลี่ยนเครื่องจักรได้ตลอดเวลาตามความต้องการตลาด จะทำให้สามารถแข่งขันกับบริษัทขนาดใหญ่และคู่แข่งในตลาดต่างประเทศได้

logoline