svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

พื้นที่ไหนโดนเวนคืนเพราะรถไฟฟ้าสายอนาคต-รถไฟความเร็วสูง รีบเช็ก!

13 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

[สกู๊ปพิเศษ] จากแผนเมกะโปรเจกต์ที่สำคัญของภาครัฐในการเร่งขยายเส้นทางให้บริการรถไฟฟ้าครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงโซนต่างจังหวัดในบริเวณพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างทางฝั่งภาคตะวันออก (EEC)




เพื่อเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงกับ 3 ท่าอากาศยาน ส่งผลให้ภาครัฐต้องอัดเม็ดเงินจำนวนมากเพื่อเวนคืนที่ดินและเร่งการก่อสร้างให้เสร็จตามแผนที่กำหนด ท่ามกลางการพัฒนาพื้นที่โซนชานเมืองให้รองรับความเจริญของกรุงเทพฯ ดังกล่าว เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากประชาชนถึงความคุ้มค่าของจำนวนเงินที่ได้รับจากการถูกเวนคืนที่ดินหรือสินทรัพย์เพื่อแลกกับความเจริญของพื้นที่บริเวณนั้นในอนาคต


พื้นที่ไหนโดนเวนคืนเพราะรถไฟฟ้าสายอนาคต-รถไฟความเร็วสูง รีบเช็ก!

ราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตที่ดินแนวรถไฟฟ้าเหลือง-ชมพู-ส้ม โดนเวนคืน!

ช่วงปลายปี 2559 เชื่อว่าใครที่อยู่แนวการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง-ชมพู-ส้ม เป็นต้องหวาดหวั่นกับการประกาศด่วน เกี่ยวกับราชกิจจานุเบกษากำหนดเขตที่ดินถูกเวนคืน ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

- เวนคืน เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง

กำหนดให้เวนคืนที่ดินบริเวณท้องที่ในเขตจตุจักร ห้วยขวาง วังทองหลาง บางกะปิ สวนหลวง ประเวศ บางนา กรุงเทพมหานคร บริเวณอำเภอบางพลี และอำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า สถานที่จอดรถผู้โดยสาร และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลืองช่วงลาดพร้าว-สำโรง

- เวนคืน เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี

กำหนดให้เวนคืนที่ดินบริเวณท้องที่เขตหลักสี่ บึงกุ่ม คันนาบาว มีนบุรี กรุงเทพมหานคร อำเภอเมือง และอำเภอ ปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า สถานที่จอดรถผู้โดยสาร และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูช่วงแคราย-มีนบุรี

- เวนคืน เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

กำหนดให้เวนคืนที่ดินบริเวณท้องที่เขตห้วยขวาง บางกะปิ สวนหลวง สะพานสูง มีนบุรี กรุงเทพมหานคร โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า สถานที่จอดรถผู้โดยสาร และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี (สุวินทวงศ์)

ทั้งนี้การออกประกาศราชกิจจานุเบกษาแบบเร่งด่วน เพื่อให้กระบวนการขั้นตอนเวนคืนรวดเร็ว เอื้ออำนวยต่อการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย ให้ตรงตามกำหนด โดยใช้ระยะเวลา 1-2 ปีในการเวนคืนแล้วเสร็จ โดยที่เจ้าของที่ดินหรือที่อยู่อาศัยที่โดนเวนคืน ต้องมาแจ้งกับรฟม. ภายใน 60 วัน

พื้นที่ไหนโดนเวนคืนเพราะรถไฟฟ้าสายอนาคต-รถไฟความเร็วสูง รีบเช็ก!



พื้นที่ย่านเกษตรนวมินทร์ คือหนึ่งในย่านที่อยู่ในโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล

Next Station พื้นที่ต่อไปเตรียมตัวถูกเวนคืน

ด้วยแผนความต้องการเดินหน้าพัฒนาแผนคมนาคมของภาครัฐ จึงทำให้ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาหลายเขตพื้นที่พบกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นซึ่งมาพร้อมกับความเจริญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือการถูกเวนคืน ล่าสุดในปี 2561 นี้ คณะรัฐมนตรีเปิดไฟเขียวเดินหน้าแผนเวนคืนที่ดินอีกครั้ง เพื่ออำนวยความสะดวกต่อการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ และสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้


- ที่ดินถูกเวนคืน เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ



กำหนดให้เวนคืนที่ดินบริเวณท้องที่เขตบางซื่อ ดุสิต พระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย สัมพันธวงศ์ ธนบุรี คลองสาน จอมทอง ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ กรุงเทพมหานคร และอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินกิจการรถไฟฟ้าในส่วนที่เกี่ยวกับการจัดสร้างโครงการขนส่งด้วยระบบรถไฟฟ้า สถานที่จอดรถผู้โดยสาร และกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ โดยขณะนี้อยู่ในช่วงที่รฟม. รับฟังความคิดเห็นของประชาชน



- ที่ดินถูกเวนคืน เพื่อก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาลช่วงแคราย-ลำสาลี



กำหนดให้เวนคืนที่ดินบริเวณจุดขึ้น-ลงสถานีรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล ซึ่งมีทั้งหมด 20 สถานี รวมไปถึงพื้นที่ที่ใช้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุง นั้นคือบริเวณจุดตัดทางด่วนรามอินทรา-อาจณรงค์ รวมพื้นที่ 44.3 ไร่ ทั้งนี้เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีมูลค่าราคาที่ดินค่อนข้างสูง จึงทำให้รฟม. อาจจะต้องจ่ายค่าชดเชยเวนคืนที่ดินถึง 10,000 ล้านบาท



นอกจากมีการประกาศเดินหน้าเวนคืนที่ดินภายในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลแล้ว ยังมีโซนต่างจังหวัด ซึ่งตั้งอยู่ในเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) โดยตามแผนเมกะโปรเจกต์จะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบินนั่นคือ สนามบินสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา จึงทำให้เกิดการเวนคืนที่ดินบริเวณทางเชื่อมเข้าสุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา โดยจะต้องศึกษาผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม (EIA) เพิ่มเติม ทั้งนี้มีการกำหนดให้บริเวณสถานีฉะเชิงเทรา เป็นศูนย์ซ่อมบำรุงรถไฟฟ้าความเร็วสูง จึงจำเป็นต้องเวนคืนที่ดิน 400 ไร่



พบทางออก เมื่อโดนเวนคืนที่ดินแน่นอนว่าการเวนคืนที่ดินต้องสูญเสียที่อยู่อาศัยของตนเองไป ซึ่งทางภาครัฐได้เข้าใจต่อปัญหาดังกล่าว จึงมีการจ่ายค่าทดแทนให้ตามมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ และจะกำหนดราคาด้วยการเปรียบเทียบที่ดินในตลาด โดยพิจารณาปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลกับราคาทรัพย์สิน ได้แก่ ลักษณะทางกายภาพ การใช้ประโยชน์ ทำเลที่ตั้ง และคุณภาพสิ่งแวดล้อม การคมนาคม สาธารณูปโภค และสาธารณูปการ ทั้งนี้เพื่อความเป็นธรรมแก่ประชาชน



เรื่องข้างต้นเขียนโดย อารยา ศิริพยัคฆ์ Senior Digital Content Producer ประจำเว็บไซต์ DDproperty.com


บทความข้างต้นเผยแพร่ครั้งแรกที่ DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์ ที่รวบรวม ข่าว ทิปส์ในการซื้อขายอสังหาฯ และรีวิวโครงการใหม่ ไว้กว่า 10,000 บทความ

logoline