svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ไฟเขียวร่างพ.ร.บ.ร่วมลงทุนฯฉบับใหม่

04 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในที่สุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 3 เมษายน มีมติเห็นชอบในหลักการของร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ก่อนจะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาต่อไป

โดยณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ที่ปรึกษารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่าร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นการปรับปรุง พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐพ.ศ. 2556 เพื่อให้มีการกำหนดนโยบายของรัฐที่ชัดเจนและแน่นอนในการจัดทำโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ โดยมุ่งเน้นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน มีมาตรการส่งเสริมการร่วมลงทุนให้แก่โครงการร่วมลงทุนอย่างเหมาะสม ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลัง


นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการใช้ความเชี่ยวชาญและนวัตกรรมของเอกชน โดยคำนึงถึงความสำเร็จของโครงการร่วมลงทุน รวมทั้งมีหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่กระชับ ชัดเจน เปิดเผย และตรวจสอบได้ สามารถสร้างแรงจูงใจให้เอกชนร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามนโยบายของรัฐบาล

ส่วนประเด็นเนื้อหาเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) กระทรวงการคลังระบุว่า ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ ฉบับนี้มีสาระสำคัญใน 4 ด้าน ประกอบด้วย1. Facilitation การส่งเสริมการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชนให้มีความสะดวกรวดเร็วมากขึ้น โดยทำให้ขั้นตอนง่าย กำหนดให้มีมาตรการสนับสนุนโครงการร่วมลงทุน (PPP Promotion) และให้คณะรัฐมนตรีสามารถพิจารณาแก้ไขปัญหา อุปสรรค หรือความล่าช้าเกี่ยวกับโครงการร่วมลงทุนที่เกิดขึ้นจากกฎหมายหรือระเบียบ ยกระดับกองทุนพีพีพี ให้สามารถสนับสนุนโครงการพีพีพีได้มากขึ้น

2. Alignment ทำให้โครงการร่วมลงทุนสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงการของประเทศ และเป็นไปตามหลักพีพีพีสากล ให้มีการจัดทำแผนพัฒนาโครงการโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure Plan) ที่ชัดเจน มุ่งเน้นการร่วมลงทุนในโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ กำหนดเป้าประสงค์ของการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นหุ้นส่วนระหว่างรัฐและเอกชน (Partnership) ซึ่งรวมถึงเรื่องการจัดสรรความเสี่ยงและผลประโยชน์ตอบแทนระหว่างรัฐและเอกชน

3. Streamline มีขั้นตอนกระชับ ชัดเจน รวมถึงเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่างๆ กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนให้กระชับ มีการนำเอาหลักการของมาตรการ PPP Fast Track มาบัญญัติไว้ในขั้นตอนการจัดทำโครงการร่วมลงทุน คณะกรรมการส่งเสริมการร่วมทุนฯ สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาเร่งรัดการจัดทำและดำเนินโครงการร่วมลงทุนได้

และ 4. Transparency มีการเปิดเผยข้อมูลและตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอน กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการจัดทำโครงการร่วมลงทุนที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมในทุกขั้นตอน จัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคเอกชนในทุกขั้นตอน ให้หน่วยงานเจ้าของโครงการเปิดเผยสรุปข้อมูลโครงการร่วมลงทุนในรูปแบบที่เข้าใจง่ายต่อสาธารณชน และหน่วยงานตรวจสอบให้ทราบ

ผอ.สคร.ย้ำด้วยว่าเมื่อร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ มีผลใช้บังคับ จะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะของภาครัฐให้เพิ่มขึ้น และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากการมีโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพและทั่วถึง โดยการใช้ความรู้ ความสามารถ และนวัตกรรมของเอกชน ซึ่งจะทำให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการสาธารณะที่จำเป็นได้อย่างทั่วถึง สะดวกสบาย และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนต่อไป

"จะมีผลบังคับใช้ได้เมื่อใดนั้น ต้องขึ้นอยู่กับขั้นตอนของกฤษฎีกา และ สนช. เพราะหลังจากนี้ กฤษฎีกาจะนำไปปรับแก้ถ้อยคำอีกเล็กน้อย แล้วส่งกลับมาครม.อีกครั้ง ก่อนที่จะนำเสนอให้ที่ประชุม สนช.พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป" ผอ.สคร.กล่าวย้ำ

อย่างไรก็ตามร่างพ.ร.บ.ส่งเสริมการร่วมลงทุนฯ ฉบับนี้สคร.ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมจากพ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ.2556 โดยประเด็นหลักๆ ในการแก้ไขคือคำนิยามโครงการที่จะต้องใช้พ.ร.บ.ร่วมทุน เนื่องจากกฎหมายที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่ได้มีการกำหนดมูลค่าโครงการไว้ ทำให้ทุกโครงการที่มีการเปิดให้เอกชนมาใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินรัฐ ต้องเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนหมด รวมถึงการเช่าที่ราชพัสดุด้วยส่งผลให้ปัจจุบันไม่ว่าโครงการเล็กหรือโครงการใหญ่ ทั้งในระดับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) องค์การบริหารส่วนตำบล (อบจ.) หรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ก็ต้องเข้าพ.ร.บ.ร่วมทุนทั้งหมด ทำให้มีหลายกระบวนการ อาจจะไม่เอื้อให้เกิดการลงทุน

ทั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากนโยบายของอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่มุ่งให้มีการปรับปรุงแก้ไขพ.ร.บ.ร่วมลงทุน เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการลงทุน และเอื้อให้เกิดโครงการร่วมมือภาครัฐและเอกชน (Public Private Partnership: PPP) มากขึ้น ซึ่งตามเป้าหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ได้ตั้งเป้าให้เพิ่มมูลค่าการลงทุนจากความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเฉลี่ยปีละ 4.7 หมื่นล้านบาท

ขณะเดียวกันยังมีการกำหนดกรอบของโครงการที่ต้องใช้พ.ร.บ.ร่วมทุนให้ชัดเจนมากขึ้น เช่นกำหนดมูลค่าโครงการไม่ให้รวมการเช่าที่ราชพัสดุ การเช่าที่ของการรถไฟฯออกไปและยังจะมีการนำกรอบและหลักการของพีพีพีฟาสต์แทร็กเข้ามาอยู่ในพ.ร.บ.นี้ด้วย เพื่อให้กระบวนการทำงานมีความรวดเร็วมากขึ้นโดยในปี 2561 รัฐบาลมีโครงการลงทุนที่อยู่ภายใต้กระบวนการพีพีพี ฟาสต์แทร็ก จำนวน 6 โครงการ มูลค่ารวมประมาณ 613,000 ล้านบาท ได้แก่ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-วงแหวนกาญจนาภิเษกมูลค่าเงินลงทุน 128,235 ล้านบาท 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตะวันตก และช่วงตะวันออกมูลค่าเงินลงทุน 220,618 ล้านบาท3.โครงการรถไฟฟ้าสายภูเก็ต ช่วงท่าอากาศยานภูเก็ต-ห้าแยกฉลองมูลค่าเงินลงทุน 31,055 ล้านบาท 4.โครงการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของจังหวัดเชียงใหม่มูลค่าเงินลงทุนอยู่ระหว่างทำการศึกษา 5.โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายนครปฐม ชะอำมูลค่าเงินลงทุน 80,600 ล้านบาท และ6.โครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยองมูลค่าเงินลงทุน 152,448 ล้านบาท เป็นต้น

logoline