svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

เปิด 9 ข้อ... กสทช.อุ้ม 2 ค่ายมือถือ

02 เมษายน 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ภาครัฐจะเป็นผู้สรุป สิ่งที่ผมเสนอคือ การนำคลื่นความถี่ที่มีอยู่ให้เกิดการใช้งานอย่างเต็มที่ และรัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์"ฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.

สืบเนื่องจาก ผู้บริหารบริษัททรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด หรือ ทียูซี บริษัทในเครือบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และบริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด หรือ เอดับบลิวเอ็น บริษัทในเครือบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (เอไอเอส) ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอผ่อนผันการชำระค่างวดเงินประมูลคลื่นในย่าน 900 เมกะเฮิรตซ์ จากเดิมต้องจ่ายงวดที่ 4 เป็นงวดสุดท้ายในปี 2563 จำนวน 60,218 ล้านบาท และ 59,574 ล้านบาท เป็นทยอยจ่ายออกไปอีก 5 งวดจนถึงปี 2567 

โดยที่ประชุมคสช. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ยังไม่ได้ข้อสรุป และให้สำนักงานกสทช.นำข้อมูลเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งก่อนจะพิจารณาอีกครั้งภายใน 1 สัปดาห์หลังการประชุม

เปิด 9 ข้อ... กสทช.อุ้ม 2 ค่ายมือถือ



เมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยสำนักงานกสทช.ระบุว่าจะเสนอข้อมูลต่อนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และเสนอต่อคสช.วานนี้ (2 เม.ย.) 

ต่อไปนี้ เป็นข้อมูลจากคณะทำงานของสำนักงานกสทช. พิจารณาว่า หากคสช. จะมีคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลออกไป หรือคสช.ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่างวดจะเกิดผลใน 9 ข้อดังนี้

1.ทียูซีและเอดับบลิวเอ็นได้วางเงินประกัน (แบงก์ การันตี) ให้กับสำนักงานกสทช.ครบถ้วนราว 130,000 ล้านบาทอยู่แล้ว ทั้งบริษัททียูซี และเอดับบลิวเอ็นรับภาระหนี้จากการกู้เงินธนาคารพาณิชย์ ในอัตราดอกเบี้ย 3%

2.หาก คสช.มีคำสั่งให้สำนักงาน กสทช.ขยายระยะเวลาการชำระเงินค่าประมูลของทั้งสองบริษัทออกไปจากปี 2563 เป็นปี 2567 โดยคิดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย 1.5%  รัฐจะรายได้เพิ่มจากการเก็บอัตราดอกเบี้ย รวมทั้งสิ้น 3,593.76 ล้านบาท

3.เมื่อทั้งสองบริษัทได้รับสิทธิในการขยายระยะเวลาชำระค่างวดออกไป มีความเป็นไปได้สูงว่าบริษัทจะกลับมาเข้าร่วมแข่งขันประมูล เนื่องจากวงเงินกู้จากสถาบันการเงินได้รับการขยายออกไปด้วยเช่นกันและบริษัทยังมีโอกาสเฉลี่ยต้นทุน ซึ่งเอดับบลิวเอ็นแจ้งว่า อาจจะเปิดระดมทุนหรือหุ้นกู้ต่อไป แต่ทางทียูซียืนยันมาค่อนข้างแน่ชัดว่า ไม่สามารถระดมทุนหรือออกหุ้นกู้ได้

4.คณะทำงานเชื่อว่า หากกสทช.เปิดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ที่บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) จะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับบมจ.กสท โทรคมนาคม โดยกสทช.มีแผนจะเปิดประมูลครบทั้ง 45 เมกะเฮิรตซ์ หรือแบ่งเป็น 3 ใบอนุญาตๆละ 15 เมกะเฮิรตซ์ บริษัททียูซี และเอดับบลิวเอ็น และบริษัทดีแทค ไตรเนต เน็ตเวิร์ก จำกัด หรือ ดีทีเอ็น เข้าร่วมประมูลด้วยจะทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น โดยในวันที่ 11 เม.ย.นี้ จะเสนอให้บอร์ดกสทช.เห็นชอบหลักเกณฑ์การประมูล รัฐมีรายได้เพิ่มมากขึ้น ถ้าประมูลได้ทั้ง 3 ใบอนุญาต รัฐจะได้เงิน 120,477.72 ล้านบาทประมูล 2 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 80,318.48 ล้านบาท หรือสุดท้ายมีผลเข้าประมูลเพียงรายเดียวประมูล 1 ใบอนุญาต รัฐมีรายได้ 40,159.24 ล้านบาท

5.กรณีไม่มีการประมูลและคสช.ไม่ออกคำสั่งให้ขยายระยะเวลาชำระหนี้ สำนักงานกสทช.จะมีรายได้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน รวมถึงปี 2567 เป็นยอดเงิน 166,991.16ล้านบาท

6.หากจัดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ โดยหากคสช.มีคำสั่งขยายระยะเวลาชำระหนี้ออกไปอีก รัฐจะมีรายได้รวมถึงปี 2567 ในกรณีใบอนุญาต 3 ใบ รัฐจะมีรายได้ 291,314.20 ล้านบาท

7.หากจัดประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และขยายเวลาชำระหนี้ออกไป รัฐจะมีรายได้ รวมถึงปี 2567 กรณีใบอนุญาต 2ใบ รัฐจะมีรายได้ 251,154.96 ล้านบาท8.ส่วนในกรณีจะเกิดการฟ้องร้องในภายหลังหรือไม่ หาก คสช.เห็นชอบให้ขยายเวลาชำระค่างวดออกไป การฟ้องร้องไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องจาก บริษัทที่เคยชนะประมูลแต่ทิ้งใบอนุญาต คือบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ขาดสิทธิในการฟ้องร้อง ส่วนบริษัทดีทีเอ็น จะได้รับสิทธิในเงื่อนไขการชำระค่าประมูล ที่กสทช.กำหนดไว้ในการประมูลครั้งต่อไปทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างเท่าเทียม

อีกทั้งผู้บริหารระดับสูงของบริษัทดีทีเอ็น ยืนยันผ่านสื่อว่า การประมูลครั้งที่ผ่านมาสูงกว่าราคาเริ่มต้นถึง 6 เท่าตัว ดังนั้นการขยายระยะเวลาการชำระเงินให้กับผู้ชนะประมูลทางดีทีเอ็นไม่ขัดข้อง แต่ให้นำเงื่อนไขที่กำหนดไว้ไปใส่ในการประมูลคลื่น 1800 หรือ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในครั้งต่อไป

9.หากนำคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ มาเปิดประมูล จะทำให้ประเทศไทย สามารถใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ เพิ่มขึ้นอีก 90 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อรองรับเทคโนโลยี 5จี โดยประเทศไทยกำลังจะประกาศการเข้าสู่ระบบ 5จีแล้ว รองรับบริการอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) จะเป็นแรงผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจรวดเร็วยิ่งขึ้น

"ใครจะเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ทางภาครัฐจะพิจารณาสรุปอย่างไรผมก็น้อมรับ แต่สิ่งที่ผมเสนอคือการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในการนำคลื่นความถี่ที่มีอยู่ให้เกิดการใช้งานอย่างเต็มที่ และรัฐก็ไม่ได้เสียประโยชน์ ภาคเอกชนเองก็สามารถมีเงินทุนหมุนเวียน สามารถดำเนินธุรกิจไปต่อไป" นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช.ระบุ


//////

logoline