svasdssvasds
เนชั่นทีวี

เศรษฐกิจ

ติดตามภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ คาดตลาดบ้านมือสองโต – ปล่อยเช่ากลับรับภาระเพิ่ม

23 กุมภาพันธ์ 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

[สกู๊ปพิเศษ] แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้อย่างปี 2562 คนไทยคงจะได้ต้อนรับภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ แม้จะยังอยู่ในช่วงขั้นตอนการยื่นร่างเสนอสภานิติบัญญัติในวาระ 2 และ 3 ที่จะมีขึ้นในเดือนมีนาคมนี้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นหลายคนก็ยังต้องติดตามความคืบหน้าว่าภาษีที่ดินฯ ฉบับดังกล่าวจะมีการประกาศผลบังคับใช้อย่างไร และจะหนุนตลาดบ้านมือสองหรือไม่ ในขณะที่สิ่งปลูกสร้างเพื่อเช่าจะต้องแบกรับภาระภาษีเพิ่ม



ความคืบหน้าภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่


ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ที่จะมีผลบังคับใช้ในปี 2562 นี้ เรียกว่าหลายฝ่ายกำลังติดตามความคืบหน้า ว่าจะมีรายละเอียดการจัดเก็บเป็นอย่างไร จะส่งผลกระทบกับประชาชนหรือไม่ และจากการจับสัญญาณขั้นตอนพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ล่าสุด นายวิสุทธิ์ ศรีสุพรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคลัง เผยในเดือนมีนาคมนี้ร่างพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติในวาระ 2 และ 3 เพื่อประกาศใช้ในปี 2561 พร้อมกับมีผลบังคับใช้ในปี 2562


ทั้งนี้ภายหลังจากการมีการประกาศผลบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว จะส่งผลให้รัฐบาลสามารถเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นจากเดิมที่สามารถเรียกเก็บได้เพียง 11% เท่านั้น โดยภายในพรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ ได้แจกแจงรายละเอียดการเรียกเก็บภาษีที่ผ่านมติครม.ไปเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2560 ดังต่อไปนี้


1. ที่ดินเกษตรกรรม หากมูลค่าที่ดินไม่ถึง 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี แต่หากที่ดินมีมูลค่า 50-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% และถ้าที่ดินมีมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป จัดเก็บ 0.10% โดยมีเพดานจัดเก็บสูงสุด 0.15%

2. บ้านพักอาศัย สำหรับบ้านหลังแรกหากมูลค่าของบ้านต่ำกว่า 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี โดยบ้านที่มีมูลค่าตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% ส่วนบ้านที่มีมูลค่า 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 0.10% โดยกำหนดเพดานจัดเก็บสูงสุด 0.5% ทั้งนี้หากเป็นบ้านหลังที่ 2 บ้านที่มีราคาต่ำกว่า 5 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% ส่วนบ้านที่มีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 0.30%

3. ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรม หากมีมูลค่าต่ำกว่า 20 ล้านบาท เสียภาษีในอัตรา 0.3% ที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรมมีมูลค่า 20 ล้านบาท เสียภาษี 0.3% ที่ดินเพื่อการพาณิชย์มูลค่าตั้งแต่ 50-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.7% ที่ดินเพื่อการพาณิชย์ตั้งแต่ 100-1,000 ล้านบาท เสียภาษี 0.9% ที่ดินเพื่อการพาณิชย์มูลค่าตั้งแต่ 1,000-3,000 ล้านบาท เสียภาษี 1.2% และที่ดินเพื่อการพาณิชยกรรมมูลค่าตั้งแต่ 3,000 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษีในอัตรา 1.5% โดยกำหนดเพดานการจัดเก็บภาษีสูงสุด 2.0%

4. ที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีการปรับเพิ่ม 0.3% ทุก 3 ปี แต่ไม่เกิน 3%โดยกำหนดเพดานการจัดเก็บภาษีสูงสุด 5.0% 

ติดตามภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ คาดตลาดบ้านมือสองโต – ปล่อยเช่ากลับรับภาระเพิ่ม



ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ หนุนตลาดบ้านมือสอง


เตรียมรับมือตลาดบ้านมือสองโต หลังประกาศใช้ภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่

แน่นอนว่าเมื่อมีการประกาศผลบังคับใช้การจัดเก็บภาษีฉบับใหม่ในปี 2562 จะเกิดปรากฎการณ์การเทขายอสังหาฯ และที่ดิน ในหมู่นักลงทุนหรือบุคคลที่ถือครองทรัพย์สินจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเตรียมตัวแบกรับรายจ่ายการเสียภาษีที่ปรับสูงขึ้น เหตุนี้เองจึงมีการปล่อยอสังหาฯ ไม่ว่าจะเป็นบ้าน คอนโดฯ หรืออาคารพาณิชย์ เข้าสู่ตลาดบ้านมือสอง เพื่อเป็นการลดภาระภาษีที่เกิดขึ้น สิ่งที่ได้รับในเวลาต่อมาคือ ตลาดบ้านมือสองมีขนาดใหญ่ขึ้น ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอสังหาฯ ต่างวางแผนพัฒนาบ้านหลังใหญ่เข้าสู่ตลาดอสังหาฯ มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับการยกเว้นภาษีบ้านหลังหลัก

ผู้ประกอบการสิ่งปลูกสร้างสำหรับเช่า เตรียมจ่ายภาษีเพิ่ม

ติดตามภาษีที่ดินฯ ฉบับใหม่ คาดตลาดบ้านมือสองโต – ปล่อยเช่ากลับรับภาระเพิ่ม



แม้ว่าภาษีที่ดินฯ และสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่นี้ จะหนุนให้ตลาดบ้านมือสองโตในตลาดอสังหาฯ มากขึ้นอย่างเดียวเท่านั้น ในทางกลับกันบรรดาที่ดินรกร้าง ที่ไม่ว่าจะเป็นในนามบุคคลธรรมดาครอบครองเป็นเจ้าของ หรือระดับนิติบุคคล จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนที่ดินดังกล่าวให้มีการพัฒนา เพื่อแก้ปัญหาการแบกรับอัตราภาษีที่มากขึ้น ขณะเดียวกันผู้ที่เป็นเจ้าของสิ่งปลูกสร้างสำหรับเช่า อย่างอพาร์ทเม้นท์ หอพัก หรือแม้แต่อาคารพาณิชย์ที่มีการแบ่งซอยห้องปล่อยเช่า แม้จะจดทะเบียนกับกรมที่ดิน แต่ในทางกฎหมายถือว่าเป็นการนำอสังหาฯ มาใช้ประกอบธุรกิจเชิงพาณิชย์ ทำให้ต้องเสียภาษีสูงขึ้น แน่นอนว่าภาระนี้จะไม่ได้ตกอยู่ที่ตัวผู้ประกอบการ แต่จะเป็นผู้เช่าที่ต้องแบกรับภาระดังกล่าว ด้วยวิธีการปรับอัตราค่าเช่าให้สูงขึ้นแทน


อย่างไรก็ตาม พรบ. ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ อาจทำให้เกิดปรากฎการณ์เปลี่ยนแปลงต่างๆ ในตลาดอสังหาฯ ใช่เพียงแต่ตลาดบ้านมือสองอย่างเดียว หรือกลุ่มสิ่งปลูกสร้างสำหรับเช่าเท่านั้น แต่ยังรวมถึงนายทุนที่ดินที่มี Land Bank จำนวนมาก และไม่ได้ถูกพัฒนา จะถูกนำมาทำการเกษตร หรือก่อสร้างเชิงพาณิชย์ จนกระทบต่อสาธารณูปโภค ทั้งนี้เพื่อหลบเลี่ยงการเสียภาษีที่แพงกว่าเดิม\



เรื่องข้างต้นเขียนโดย อารยา ศิริพยัคฆ์ Content Writer ประจำเว็บไซต์ DDproperty.com
บทความข้างต้นเผยแพร่ครั้งแรกที่ DDproperty.com เว็บไซต์สื่อกลางอสังหาริมทรัพย์ ที่รวบรวม ข่าว ทิปส์ในการซื้อขายอสังหาฯ และรีวิวโครงการใหม่ ไว้กว่า 10,000 บทความ

logoline