svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ต่างประเทศ

ความใคร่ครวญไตร่ตรองของ "ควีนเอลิซาเบธ" สู่แรงบันดาลใจของคนรุ่นใหม่

11 กุมภาพันธ์ 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สิ่งที่ได้จาก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือการรู้จักผ่อนปรน และ การแก้ไขปัญหาเรื่องราวต่างๆ ด้วยความไตร่ตรอง ใคร่ครวญอย่างมีเหตุมีผล รู้จักชั่งน้ำหนัก และ รู้จักปรับตัวให้เข้าถึงความหลากหลายและความคิดที่แตกต่าง

วันคริสต์มาสเมื่อปี 1957 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักร ทรงมีสาสน์อวยพรผ่านทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรก พระองค์บอกว่ามันคือสัญลักษณ์ของโลกยุคใหม่ และการปรากฎพระองค์ทางโทรทัศน์ในครั้งนั้นคื อหนึ่งในการปรับตัวในระบอบราชาธิปไตยที่กำลังถูกตั้งคำถามจากผู้คนอังกฤษเกือบครึ่งประเทศ ในห้วงเวลานั้น

"25 ปีก่อนปู่ของข้าพเจ้าออกอากาศสาสน์วันคริสต์มาสเป็นครั้งแรก วันนี้คือสัญลักษณ์ใหม่ เพราะโทรทัศน์ทำให้ทุกท่านรับชมข้าพเจ้าได้จากบ้านของท่านในวันคริสต์มาส ครอบครัวของข้าพเจ้ามักจะรวมตัวกันเพื่อรับชมโทรทัศน์ เหมือนที่พวกเขากำลังทำอยู่ตอนนี้ และข้าพเจ้าเชื่อว่าพวกท่านก็คงทำเช่นกัน ข้าพเจ้าหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสื่อกลางใหม่นี้ จะทำให้สาสน์วันคริสต์มาสของข้าพเจ้า เป็นส่วนตัวและส่งตรงไปถึงท่าน

มันเลี่ยงไม่ได้ที่ข้าพเจ้าดูเหมือนบุคคลที่ห่างเหินสำหรับท่าน ข้าพเจ้าผู้สืบราชสมบัติจากพระราชาและพระราชินีในประวัติศาสตร์ ผู้ที่ใบหน้าอาจเป็นที่คุ้นเคยในหนังสือพิมพ์และภาพยนตร์ แต่เป็นผู้ไม่เคยได้สัมผัสชีวิตส่วนตัวท่านเลย แต่อย่างน้อยเป็นเวลาสักครู่หนึ่ง ข้าพเจ้ายินดีต้อนรับท่านสู่ความสงบในบ้านของข้าพเจ้า

การที่พวกท่านบางคนสามารถรับชมภาพของข้าพเจ้าได้ในวันนี้่ เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของความรวดเร็วของสิ่งต่างๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงรอบตัวเรา"

นี่เป็นบางช่วงบางตอนของพระราชดำรัส สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งเบื้องหลังการปรับตัวของพระองค์ มีขึ้นหลังการวิพากย์วิจารณ์ความล้าหลังของสถาบันจากนักคิดอย่าง "ลอร์ดอัลทรินก์แฮม" หรือ "จอห์น กริกก์"

หลัง ลอร์ดอัลทรินก์แฮม วิจารณ์พระองค์ผ่านทางรายการ ของสถานีโทรทัศน์ ITV สมเด็จพระราชินีฯ ทรงรับฟังข้อเสนอของ ลอร์ดอัลทรินก์แฮม ในหลายเรื่อง ซึ่งช่วยราชวงศ์ได้มากกว่าใครในศตวรรษที่ 20 ท่ามกลางหลายประเทศที่ล้มระบอบราชาธิปไตยไปเป็นสาธาณรัฐในขณะนั้น

หนึ่งในข้อเสนอของ ลอร์ดอัลทรินก์แฮม คือขอให้พระองค์เปิดกว้างยอมให้ประชาชนรู้จัก ถ่ายทอดสาสน์วันคริสต์มาสทางโทรทัศน์ ทำตัวให้โปร่งใส เข้าถึงง่าย ใช้เวลากับสามัญชน เปิดประตูรับความเสมอภาค ยอมให้สามัญชนรู้จักพระองค์มากขึ้น

ปฏิเสธไม่ได้ว่า สมาชิกในราชวงศ์โดยเฉพาะพระชนนีแม้ทรงยอมรับว่าความเปิดกว้าง ช่วยให้สถาบันเข้าถึงโลกที่แท้จริงมากขึ้น และทำให้เป็นประชาธิปไตย แต่ก็เหมือนเรา (สถาบัน) ถูกบั่นทอนให้กำลังหลุดลอยไปที่ละเล็กทีละน้อย อำนาจอันชอบธรรม สมบูรณาญาสิทธิ์ของเรา เทวสิทธิ์ของเรา ประวัติศาสตร์ของราชาธิปไตยประเทศนี้ (อังกฤษ) มีแต่มุ่งตรงไปสู่ความขายหน้า ที่ต้องเสียสละ และการยอมเพื่อความอยู่รอด เราเปลี่ยนจากการปกครอง มาเป็นครองราชย์ จากครองราชย์ กลายเป็นไร้บทบาท และเป็นแค่หุ่นเชิด

แต่สำหรับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธ ทรงตระหนักดีว่าความเปลี่ยนคือทางรอดของสถาบัน และความจริงแล้วสถาบันกษัตริย์ยังมีบทบาทในอังกฤษอยู่ไม่น้อย หนึ่งในบทบาทที่คาดไม่ถึง คือพระองค์อยู่ในฐานะผู้สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้คน ไม่ใช่แค่คนอังกฤษ แต่เป็นผู้คนจากทั่วโลก

ใครเลยจะคิดว่า นักเรียนชั้นม.ปลาย โรงเรียนศรีอยุธยาในพระอุปภัมภ์ฯ "แสงชัย แสงสีทอง" ผู้มีความสนใจด้านการเมือง และประวัติศาสตร์ เป็นหนึ่งในคนที่ "รักควีนเอลิซาเบธ" ที่ไม่ใช่คนอังกฤษ เขาน่าจะเป็นตัวแทนของคนรุ่นใหม่อีกหลายคนที่มีควีนพระองค์นี้ เป็นแรงบันดาลใจ

"สิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมชอบ สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือการที่พระองค์ปรับตัวให้เข้าทันกับยุคสมัย เพราะตลอดระยะเวลาการครองราชย์ ตั้งแต่ปี 1954 อังกฤษเผชิญกับปัญหาเศรษฐกิจ การเมือง และก่อการร้ายนับครั้งไม่ถ้วน แต่พระองค์ก็ยังทรงทำหน้าที่ของประมุข ในการให้คำปรึกษา คำแนะนำ แก่รัฐบาลอังกฤษในหลายยุคสมัย ถือว่าพระองค์เป็นแรงบรรดาลใจ ในการปรับตัวต่อการดำเนินชีวิตในสังคมที่มีความหลากหลายทางความคิด และพหุวัฒนธรรม"

เมื่อวันคริสต์มาสที่เพิ่งผ่านมา ในปี 2017 สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ทรงมีพระราชดำรัสถึงความเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง ในวันที่พระองค์ครองราชย์มาแล้วกว่า 60 ปี ว่า

"วันนี้เมื่อ 60 ปีที่แล้ว มีสตรีผู้หนึ่ง (ก็คือพระองค์เอง) ได้พูดถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่รวดเร็ว ซึ่งเธอได้พูดออกโทรทัศน์เป็นครั้งแรก และได้นิยามว่าช่วงเวลานั้นเป็นสัญลักษณ์ใหม่ 6 ทศวรรษมาแล้ว ได้มีการพัฒนาเช่นเดียวกับเทคโนโลยีที่เธอได้กล่าวไว้ ซึ่ง ณ ตอนนั้น ใครจะคาดคิดว่า บุคคลนั้นจะได้มานั่งชมในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์มือถือดังเช่นทุกท่านในวันนี้ แต่ข้าพเจ้าก็ยังอยู่กับบางสิ่งที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าทางเทคโนโลยีด้านไหนที่ทุกท่านกำลังนั่งชมอยู่ที่บ้าน

เราคิดว่า บ้านของเราเป็นสถานที่ที่อบอุ่น ความใกล้ชิดสนิทสนมและความรัก ซึ่งแบ่งปันเรื่องราวและความทรงจำมากกมาย อันเป็นเหตุผลว่าทำไมช่วงเวลาของปี หลายๆท่านกลับไปยังภูมิลำเนา สถานที่ที่ทุกท่านเติบโตมา อันเป็นช่วงเวลาที่มีค่ายิ่งเมื่อได้กลับบ้าน"

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เราปฏิเสธไม่ได้ถึงแนวทางการปรับตัวในสังคมที่หลากลายในทางด้าน วัฒนธรรม และ วิธีคิด "แสงชัย" บอกว่า สิ่งที่ได้จาก สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 คือการรู้จักผ่อนปรน และ การแก้ไขปัญหาเรื่องราวต่างๆ ด้วยความไตร่ตรอง ใคร่ครวญอย่างมีเหตุมีผล รู้จักชั่งน้ำหนัก และ รู้จักปรับตัวให้เข้าถึงความหลากหลายและความคิดที่แตกต่างของแต่ละระดับชั้นทางสังคม ในการรู้จักการวางตัว และการเจรจา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับโลกยุคใหม่

logoline