svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สนช.ผ่านกม.เลือกตั้งส.ว.

26 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

26 ม.ค. 61 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อภิปรายร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.) ในแต่ละมาตราจนถึงมาตราสุดท้ายคือมาตรา 92 แล้ว ซึ่งที่ประชุมจะต้องกลับไปพิจารณาในมาตราที่แขวนไว้คือ มาตรา 40 - 42 โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานในการประชุมในขณะนั้น ได้สั่งพักการประชุมในเวลา 18.30 น.เป็นเวลา 10 นาที เพื่อให้กรรมาธิการฯ ผู้แปรญัตติ และสมาชิกสนช. ไปร่วมหารือกันเพื่อหาข้อยุติในมาตราดังกล่าว


จากนั้นเวลา 18.55 น. ที่ประชุมสนช.ได้กลับมาประชุมอีกครั้งหลังจากที่มีการพักการประชุมเป็นครั้งที่ 3 โดยนายสมคิด เลิศไพรฑูรย์ ประธานกมธ. ชี้แจงว่า ได้ดำเนินการปรับปรุงมาตรา 40 - 42 ซึ่งเป็นมาตราเกี่ยวข้องกับวิธีการเลือกส.วในระดับอำเภอ ระดับจังหวัด และระดับประเทศ  

โดยกมธ.ได้ปรับปรุง ให้สอดคล้องกับข้ออภิปรายของสมาชิกสนช.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากแก้ไขให้เลือกกันเองในกลุ่ม จากร่างเดิมที่ให้เลือกไขว้ และกรรมาธิการเพิ่มเติมกรณีที่กลุ่มใดมีผู้ไม่ได้รับคะแนนเลือกเลยมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของจำนวนผู้สมัครและแสดงตนในกลุ่มนั้น แต่ไม่น้อยกว่า 3 คน ให้สันนิษฐานว่ามีการสมยอมกันในการเลือกและถือว่าการเลือกไม่เป็นโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้มีการดำเนินการเลือกกันเองใหม่ โดยผู้ที่ไม่ได้รับคะแนนนั้นหมดสิทธิและได้รับเลือก

ทั้งนี้การลงมติในมาตรา 40 เห็นด้วย 203 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 6 มาตรา 41 เห็นด้วย 202 ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 7 มาตรา 42 เห็นด้วย 203  ไม่เห็นด้วย 1 งดออกเสียง 7   ส่วนมาตรา 91 แก้ไขโดยขอให้คสช.เลือกผู้ที่ได้รับเลือกเป็นส.ว.จาก 200 คนเหลือ 50 คนโดยไม่ระบุกลุ่ม

สำหรับกรณีที่มีสมาชิกสนช.เสนอในมาตรา 2 ให้แก้ไขการบังคับใช้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ให้สอดคล้องกับร่างพ.ร.บ.ส.ส.ที่ขยายเวลาการบังคับใช้ 90 วันนั้น นายสมคิดชี้แจงว่า ประเด็นนี้กรรมาธิการฯ ขอให้กฎหมายมีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาทันที

ภายหลังการอภิปรายเสร็จสิ้น ที่ประชุมได้ลงมติเรียงรายมาตราและลงมติในวาระ 3 เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา (ส.ว.)ด้วยคะแนน  197 เสียง งดออกเสียง 7 เสียง จากนั้นจะส่งร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไปให้คณะกรรมการเลือกตั้ง(กกต.) และกรรมการร่างรัฐธรรนูญ (กรธ.)ต่อไป หลังใช้เวลาพิจารณากว่า  11 ชั่วโมง

logoline