svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"วิษณุ"ชี้ปัจจัยอื้อเลื่อนเลือกตั้ง

26 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สนช.ถกกม. ส.ส.ย้ำจำเป็นต้องยืด90วันลุ้นพิจารณากม. สว.ต่อศูกร์นี้ ถกเดือด ม.35 ปมไม่เลือกตั้งตัดสิทธิรับราชการสังกัดรัฐสภา"วิษณุ"ไม่การันตีไม่เลื่อนเลือกตั้งอีก

สนช.ถกกฎหมายส.ส.ย้ำจำเป็นต้องขยายเวลาบังคับใช้ 90 วัน  "สุรชัย" ขอประชาชนฟังเหตุผลอย่าปล่อยให้ใครชี้นำสนช.เป็นพวกยื้อโรดแม็พ เผยถกกฎหมายส.ว.ต่อศุกร์นี้ "วิษณุ" แบไต๋ เลื่อนโรดแม็พ ลั่นมิ.ย.ประกาศเลือกตั้ง เลือกจริงภายในก.พ.ปี62 ไม่การันตีไม่เลื่อนอีก อาจมีคว่ำร่าง ด้านประธานป.ป.ช.ยืดอกรับสนิทบิ๊กป้อมจึงถอนตัวจากคณะพิจารณาคดีนาฬิกาหรูเพราะก.ม.กำหนด พร้อมถกเดือดม.35 ปมไม่เลือกตั้งตัดสิทธิรับราชการสังกัดรัฐสภา อัดเละขัดรธน. ขู่ถ้ายังทำยื่นศาล

เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2561 ที่รัฐสภา สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานในการประชุมเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 2 และ 3 จำนวน 178 มาตรา ทั้งนี้ ในการพิจารณามาตรา 2 การให้ร่างกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ภายหลังพ้น 90 วันนับจากการประกาศในราชกิจจานุเบกษานั้น นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานกรรมาธิการวิสามัญฯ ชี้แจงถึงความจำเป็นในการขยายเวลาบังคับใช้ว่า เพื่อให้ประชาชนและพรรคการเมืองได้ศึกษาและทำความเข้าใจกฎหมายล่วงหน้า จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา นอกจากนี้ยังมีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง 1.5 ล้านคนจะได้ปฏิบัติหน้าที่ได้โดยไม่ผิดพลาด ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายออกไปเป็น 90 วัน อีกทั้งที่ผ่านมาก็มีกฎหมายหลายฉบับที่มีการขยายระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายด้วย

สนช.ถกเสียงแตกปมยืด90วัน

นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติไม่ให้ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย อภิปรายว่า สิ่งที่คณะกรรมาธิการเสียงข้างมากทำนั้นเป็นการเปลี่ยนแปลงหลักการที่กรธ.กำหนดไว้ ทั้งนี้ การทำงานของกรธ.ทำตามมาตรา 267 มีกรอบเวลาชัดเจนคือ เขียนกฎหมายลูกทั้ง 10 ฉบับภายใน 240 วันนับแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ ซึ่งกรธ.ทำตามกรอบและวางแผนอย่างดีว่าต้องทำอย่างไร เพราะรู้ดีว่ามีเวลาเพียง 240 วัน ดังนั้นการที่กรธ.เสนอว่าต้องดำเนินการเลือกตั้งใน 150 วันนับแต่ร่างกฎหมายดังกล่าวประกาศใช้ จึงถือว่าระยะเวลาดังกล่าวมีความยืดหยุ่นเหมาะสมแล้ว นอกจากนี้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้ขยายเวลายาวกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่กำหนดไว้เพียง 90 วันเท่านั้น จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องขยายเวลาอีก 90 วัน

ด้านนายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติขอขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็น 120 วัน อภิปรายว่า การขยายเวลาบังคับใช้ 90 วันนั้นไม่เพียงพอ อาจทำให้เกิดปัญหากับพรรคการเมือง อาจจะไม่สามารถเตรียมการเลือกตั้งได้ทัน อาจจะต้องมาขอขยายเวลาเพิ่ม ซึ่งกลายเป็นแรงกดดันทางการเมืองที่ถาโถมเข้ามา ทั้งนี้ คำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ที่ให้ขยับเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยเริ่มต้นในเดือนมีนาคมและเมษายนนั้น ส่งผลให้เงื่อนเวลาดำเนินกิจกรรมทางการเมืองถูกขยับออกไป 6 เดือน ถ้าจะขยายเวลาออกไป 6 เดือนก็จะถูกวาทกรรมต่างๆ อาทิ ยื้อเวลา สืบทอดอำนาจ อย่างไรก็ตามมีขั้นตอนหลายอย่างที่ต้องใช้เวลาดำเนินการมาก เช่น การทบทวนรายชื่อสมาชิกพรรคการเมือง ระบบไพรมารีโหวต ขณะที่กกต.เองก็มีประเด็นใหม่หลายเรื่องที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อน อาทิ การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ตรวจการเลือกตั้ง ซึ่งไม่รู้ว่ากกต.มีความพร้อมและความรู้แค่ไหน ดังนั้นหากกำหนดเงื่อนเวลา 90 วันตามแรงกดดัน ทำแบบกล้าๆ กลัวๆ เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งอาจจะเกิดปัญหาได้ จึงควรขยายเวลาเป็น 120 วันน่าจะเหมาะสมกว่า

จากนั้นสมาชิกสนช.อภิปรายสลับกันแสดงความเห็น ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย 90 วัน เพราะเป็นระยะเวลาเหมาะสมไม่มากเกินไป เชื่อว่ากกต.และพรรคการเมืองเตรียมตัวได้ทัน อาทิ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. อภิปรายว่า ตัวแทนจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ต้องตอบคำถามด้วยว่าทำไมจึงเป็นกรรมาธิการเสียงข้างมาก เห็นด้วยกับการขยายเวลา 90 วัน ซึ่งเข้าใจเอาเองว่าเป็นเพราะกกต.ก็เห็นว่ากำหนดเวลาเดิมอาจจะดำเนินการไม่ทันใช่หรือไม่ จึงเห็นด้วยกับการขยายเวลาดังกล่าว กกต.ต้องอธิบายเหตุผลด้วยว่าทำไมต้องเป็น 90 วัน



ชี้ขยาย 90 วัน เพื่อพรรคการเมือง
นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสนช. อภิปรายว่า ข่าวลือเรื่องที่ว่าจะมีการล้มกฎหมายลูกนั้นขอให้ผ่านไปได้เลย เพราะเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว การขยายเวลาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ออกไปก็เพราะมีขั้นตอนในการดำเนินการแต่ละช่วง ทั้งนี้ การขยายเวลาออกไป 90 วันนั้นน้อยเกินไป ความจริงแล้วอยากได้ 180 วันด้วยซ้ำ แต่เมื่อเสียงส่วนใหญ่เห็นว่าควรขยายเวลาออกไป 90 วันตนก็เคารพและสนับสนุนกรรมาธิการเสียงข้างมาก ส่วนกรณีที่พรรคการเมืองออกมาคัดค้านนั้น ขอให้กล้าเอาความจริงมาพูดด้วย ไม่ต้องการระบบไพรมารีโหวตใช่หรือไม่จึงออกมาคัดค้าน อย่างไรก็ตาม อยากให้แปะข้างฝาไว้เลยว่าถ้าไม่ทำไพรมารีโหวตในวันนี้ วันข้างหน้าก็จะไม่มีไพรมารีโหวตตลอดการ ดังนั้นอย่ากล่าวหาสนช.ว่าขยายเวลาเพื่อต่อเวลาให้แก่ตัวเอง

พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต สมาชิกสนช. อภิปรายว่า ถ้าประเทศไทยไม่มีวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 จะไม่มีประเทศไทยแบบทุกวันนี้ จะมีแต่การเผาบ้านเผาเมือง แบ่งแยกประเทศ จับอาวุธสงครามมากมาย การพัฒนาประเทศจะไม่เกิดขึ้น ที่ผ่านมานักการเมืองทำอะไรเพื่อประเทศและประชาชนบ้าง มีแต่ใช้วาทกรรมบิดเบือน ชักศึกเข้าบ้าน เรื่องการขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ทำให้เป็นเรื่องใหญ่ ทั้งนี้ขอเสนอให้บังคับใช้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา 60 เดือนหรือ 5 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี



กกต.ชี้ขยาย90วันเพียงพอ
ขณะที่นายนัฏฐ์ เล่าห์สีสวกุล ตัวแทนกกต.ในฐานะคณะกรรมาธิการ ชี้แจงว่าไม่อยู่ในเสียงข้างมากหรือเสียงน้อย เนื่องจากในขณะที่ประชุมเรื่องขยายเวลาตนไม่ได้อยู่ในที่ประชุม แต่ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งมีความพร้อมตั้งแต่ยกร่างรัฐธรรมนูญเราก็เตรียมการเลือกตั้งไปพอสมควรแล้ว ซึ่งผู้ที่เป็นผู้สมัครส.ส.จะอ่านกฎหมายฉบับเดียวแล้วมาสมัครไม่ได้ ต้องอ่านทั้ง 3 ฉบับ ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายส.ส. เพราะมีการทำไพรมารีโหวตเพิ่มขึ้น และกกต.จะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่บังคับใช้อยู่แล้ว ตนลองคาดคะเนดูแล้วในเดือนมกราคมกฎหมายดังกล่าวจะผ่านสนช. และอีกประมาณ 5 เดือนจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาหรือประมาณเดือนมิถุนายน ถ้าไม่มีการเลื่อนเวลาออกไปก็จะเริ่มนับ 150 วันซึ่งจะจบที่เดือนพฤศจิกายนนี้ ตามที่ผู้นำประกาศไว้ แต่เมื่อมีคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ 53/2560 และติดคำสั่งคสช.ที่ 57/2557 หากยกเลิกคำสั่งดังกล่าวพรรคการเมืองจะสามารถจัดประชุมใหญ่และทำไพรมารีโหวตได้

"สมมุติว่ากฎหมายประกาศในราชกิจจาฯ ในเดือนมิถุนายน พรรคก็จะสามารถประชุมและสามารถทำกิจกรรมทำการเมืองได้ รวมทั้งระยะเวลาในการปรับปรุงพรรคการเมืองใหม่และเก่า เวลาในการดำเนินการจะสิ้นสุดในวันที่ 27 กันยายน ซึ่งรวมแล้วเกือบ 3 เดือน ประมาณ 90 วัน ดังนั้นคณะกรรมาธิการเห็นว่า เพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นเวลาที่เหมาะสมคือ 90 วัน แต่การขยายเวลาการบังคับใช้ออกไป 90 วัน ไม่ได้แปลว่าวันเลือกตั้งต้องขยายออกไป 90 วัน เพราะอำนาจการขยายเวลาบังคับใช้เป็นของฝ่ายบริหาร แต่อำนาจการกำหนดวันเลือกตั้งเป็นของกกต. ดังนั้นปฏิทินการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นชัดเจนในเดือนมิถุนายน 2561 ซึ่งกิจกรรมพรรคการเมืองจะเริ่มได้เมื่อไหร่ก็จะอยู่ในเดือนมิถุนายนเช่นกัน และระยะเวลาภายใน 150 วัน ถ้าให้การเลือกตั้งเกิดขึ้นเร็วที่สุดคาดว่าจะมีพระราชกฤษฎีกาเลือกตั้งในวันที่ 70 ของ 150 วันหลังจากพรรคการเมืองทำไพรมารีโหวตแล้ว ดังนั้นการขยายระยะเวลา 90 วันน่าจะเพียงพอ" นายณัฎฐ์ กล่าว

"สุรชัย" ขอประชาชนฟังเหตุผล
ขณะที่นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งส.ส.ว่าด้วยการแก้ไขมาตรา 2 ให้ขยายเวลาการบังคับใช้ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปจากเดิมที่ให้มีผลหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาว่า สนช.ได้นำเสียงท้วงติงและเหตุผลของผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายรวมถึงเหตุผลของสังคมมารับฟัง โดย สนช.พิจารณาเรื่องดังกล่าวบนความยากลำบาก เพราะไม่ว่าจะพิจารณาอย่างไรก็ถูกมองว่าเป็นกระบวนการเดียวกันของการยื้อวันเลือกตั้งตามโรดแม็พ ทั้งนี้ขอให้เข้าใจว่า สนช.มีอำนาจอย่างจำกัด ทั้งประเด็นการปลดล็อก หรือไม่ปลดล็อกคำสั่งของคสช.ที่ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง โดยกระบวนการพิจารณาเรื่องขยายเวลานั้น ขอให้ประชาชนรับฟังเหตุผลของสนช.ด้วย อย่าฟังเฉพาะประเด็นที่ถูกชี้นำผ่านสื่อมวลชน อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 26 มกราคมนี้ จะเข้าสู่การพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เพื่อไม่ให้เวลาพิจารณาของ สนช.เกิน 60 วันตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด


"วิษณุ"รับเลื่อนโรดแม็พช้าสุดก.พ.62
ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติขยายเวลาบังคับใช้กฎหมาย ว่าเรื่องดังกล่าวไม่เป็นการเอื้อประโยชน์ให้พรรคเก่าหรือพรรคใหม่ เพราะจะมีเวลาทำกิจกรรมพอๆ กัน และตามคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 ในข้อ 8 หัวหน้าคสช.จะเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องรวมถึงพรรคการเมืองมาหารือเกี่ยวกับการกำหนดวันเลือกตั้ง หลังพ.ร.ป.ดังกล่าวประกาศใช้ ยืนยันว่าการเลื่อนบังคับใช้จะไม่กระทบโรดแม็พ 1-2 ปี อย่างมากเต็มที่แค่ 1-2 เดือนเท่านั้น ทั้งนี้ การเลือกตั้งที่เกี่ยวโยงกับกฎหมายฉบับดังกล่าว สนช.มีเวลาพิจารณา 2 เดือน ซึ่งต้องเสร็จภายในมกราคมนี้ ถ้ามีข้อทักท้วงก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายคือ สนช. คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อพิจารณาในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งจะใช้เวลาพิจารณา 1 เดือน ขณะเดียวกันตามรัฐธรรมนูญจะต้องทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน 90 วัน

นายวิษณุ กล่าวต่อว่า เพราะฉะนั้นอย่างช้าจะประกาศใช้ได้ในเดือนมิถุนายน 2561 และแม้สนช.จะแก้พ.ร.ป.เลือกตั้งส.ส.ให้มีผลบังคับใช้หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาภายใน 90 วัน การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นภายใน 150 วันหรือประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 แต่ถ้าเลื่อนการบังคับใช้เป็น 120 วัน การเลือกตั้งก็จะเลื่อนออกไปอย่างช้าที่สุดก็คือเดือนมีนาคม 2562 อย่างไรก็ตาม เมื่อกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้อย่างช้าในเดือนมิถุนายน ตามประกาศข้อ 8 ของคำสั่งคสช.ที่ 53/2560 หัวหน้าคสช.เชิญฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งพรรคการเมือง และกกต.มาหารือถึงความพร้อมในการกำหนดวันเลือกตั้ง ซึ่งถือเป็นโรดแม็พสุดท้ายของประเทศ และตรงนี้จะรู้ว่าจะมีการเลือกตั้งวันไหน แต่ถ้าทุกฝ่ายพร้อม การเลือกตั้งก็อาจจะมีก่อนครบกำหนด 150 วันก็ได้ แต่ไม่ช้ากว่านั้น แต่ถึงอย่างไรก็ต้องมีส.ว.ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งส.ส.อยู่แล้ว

ชี้ยังมีเหตุปัจจัยทำเลือกตั้งเลื่อน
เมื่อถามว่าจะมีปัจจัยอะไรที่เหนือความคาดหมายจนทำให้การเลือกตั้งเลื่อนออกไปหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า มีแต่ไม่ขอพูด ซึ่งไม่ได้ลึกลับซับซ้อนอะไรและไม่ใช่อย่างที่สื่อคิด ขณะเดียวกันหากสนช.คว่ำกฎหมายก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ไม่อยากพูดถึง เพราะหากสนช.คว่ำ ก็จะต้องช้าออกไป ถ้าร่างกฎหมายใหม่ก็ต้องเลื่อนแน่ แต่ไม่ควรจะเกิดขึ้น มีวิธีเลี่ยงได้ที่จะพบกันคนละครึ่งทาง

"ไม่ว่าใครก็ตามในประเทศนี้ไม่ควรบังอาจพูดเรื่องโรดแม็พเลือกตั้ง แม้แต่นายกฯ ก็ไม่ควรพูด แต่เพราะว่าถูกถามและคาดคั้นให้ตอบให้ได้ จึงต้องตอบจากความน่าจะเป็นไปได้ที่สุดและก็ถือว่าไม่ผิด ซึ่งกรณีนี้ไม่ว่าใครนับนิ้วมือนิ้วตีน ก็นับได้อย่างนั้นจริงๆ แล้วถ้าใครมาบอกว่าโกหก ไม่มีสัจจะ ไม่ใช่สัจจะ แต่เราถูกบีบคอให้พูด ซึ่งไปอธิบายนานาชาติ ชาติไหนเขาก็เข้าใจ เว้นแต่จะแกล้งและพยายามไม่เข้าใจ ส่วนการที่นายกฯ ไปประกาศที่สหรัฐว่าจะมีการเลือกตั้ง พฤศจิกายน 2561 นั้น เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงการพูดคุย ไม่มีการลงนามใดๆ เกิดขึ้น เพราะหากลงนามนายกฯ ต้องขอความอนุมัติจากครม.และอาจถึงขั้นต้องแจ้งให้สนช.รับทราบด้วย" นายวิษณุ กล่าว

ลั่นก.ม.ปราบโกงไม่เว้นผู้มีอำนาจ
นายวิษณุยังกล่าวถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามทุจริต ในกิจกรรม "สื่ออยากรู้ รัฐอยากเล่า" ตอน "กฎหมายหลายรสเพื่ออนาคตประเทศ" ที่ได้เชิญคอลัมนิสต์และผู้สื่อข่าวทั้งในประทศไทยและต่างประเทศเข้าร่วมกิจกรรม ว่ายังมีกฎหมายป้องกันร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม หรือกฎหมาย 4 ชั่วโคตรที่อยู่ระหว่างการปรับแก้ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และร่างพ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

เมื่อถามว่าไม่เห็นว่าผู้ที่มีอำนาจที่ปกปิดอะไรต่างๆ จะถูกกฎหมายเหล่านี้จัดการได้เลย นายวิษณุกล่าวว่า กฎหมายไม่ได้ยกเว้นให้ผู้ใด หรือยกเว้นให้ผู้ที่มีอำนาจวาสนา ถ้าจะเล็ดลอดจริงก็เพราะใช้กฎหมายไม่ได้ผล กฎหมายก็เหมือนกระดาษ เหมือนดาบถ้าไม่ชักหรือถอดออกจากฝักก็ไม่สามารถฟันใครได้ อยู่ที่เจ้าหน้าที่บังคับการ ของอย่างนี้อายุความไม่มี หรือมีอายุความยาว ต่อให้รอดวันนี้แต่ไม่รอดวันต่อไป วันหนึ่งก็ต้องโดนไม่ว่าจะทุจริตเรื่องใด ส่วนมีการจงใจปกปิดบัญชีทรัพย์สินด้วยใช่หรือไม่นั้น ทุกเรื่อง หลายเรื่องที่เป็นคดีความไม่ได้เพิ่งมาเกิด เมื่อรัฐบาลพ้นไปก็สามารถหยิบขึ้นมาพิจารณาได้ วันนี้มีศาลอาญาทุจริตแล้ว กรรมตามทันติดจรวดแน่นอน เพราะทำให้คดีทุจริตพิจารณาได้รวดเร็วขึ้น

สนช.ถกเดือดปมตัดสิทธิรับราชการ
วันเดียวกันผู้สื่อข่าวรายงานจากรัฐสภาว่า สนช.ประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในวาระ 2 และ 3 ทั้งนี้ ในมาตรา 35 เรื่องการจำกัดสิทธิของผู้ที่ไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งแล้วแต่เหตุนั้นมิใช่เหตุอันควรนั้น กรรมาธิการเสียงข้างมากได้เพิ่มการตัดสิทธิการสมัครเข้ารับราชการ พนักงาน ลูกจ้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภา ราชการฝ่ายรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา (กร.) การตัดสิทธิการได้รับแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมือง และการตัดสิทธิการได้รับการแต่งตั้งรองผู้บริหาร ผู้ช่วยและที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น โดยมีกำหนดการตัดสิทธิเป็นเวลา 2 ปี

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ กรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายว่า เห็นด้วยการตัดสิทธิได้รับการแต่งตั้งเป็นข้าราชการการเมืองหากไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง แต่ไม่เห็นด้วยกับการจำกัดสิทธิสมัครรับราชการ พนักงานหรือลูกจ้างของส่วนราชการสังกัดรัฐสภาตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการฝ่ายรัฐสภา (กร.) โดยข้าราชการรัฐสภามีการสมัคร สอบบรรจุ แต่งตั้งตามบัญชี ตามระเบียบและหลักเกณฑ์ของกร. ถือเป็นข้าราชการเหมือนกับข้าราชการกระทรวงอื่นๆ การที่เขียนจำกัดสิทธิ์เช่นนี้เท่ากับเป็นการเลือกปฏิบัติ ขัดกับรัฐธรรมนูญมาตรา 26 และมาตรา 40 เป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ

ขู่ไม่ถอนยื่นศาลรัฐธรรมนูญ
ด้านนายอัชพร จารุจินดา ตัวแทนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนความเห็น อภิปรายว่า การรับราชการคือการประกอบอาชีพเหมือนกับอาชีพอื่นๆ จึงถือเป็นการจำกัดสิทธิ์ในการประกอบอาชีพ สุ่มเสี่ยงกับการขัดรัฐธรรมนูญ การตรากฎหมายเช่นนี้ถือเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม

นายตวง อันทะไชย สมาชิกสนช. อภิปรายว่า กรรมาธิการมีนักกฎหมายมากมาย น่าจะเข้าใจไม่ต่างไปจากพวกตน ย่อมรู้ว่าการเขียนกฎหมายจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ เรากำลังเขียนกฎหมายเป็นเครื่องมือเพื่อใช้ในการเลือกตั้งส.ส. ดังนั้นน่าจะยอมรับความจริง หากถอนออกไปได้ก็ควรดำเนินการ เพราะถ้าไม่ยอมถอนก็คงต้องยื่นศาลรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว

อัดซ้ำปมจัดมหรสพทำลต.ไม่สุจริต
นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง ตัวแทนกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายว่า ไม่เห็นด้วยที่จะมีการจัดมหรสพ เพราะอาจจะทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตเที่ยงธรรมได้ นอกจากนี้ยังทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในวิธีการหาเสียง ทำให้การเลือกตั้งเกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในเรื่องอื่นที่ไม่ใช่เรื่องนโยบาย รัฐธรรมนูญปี 2540 พยายามดำเนินการให้พรรคการเมืองเป็นไปตามมาตรฐานสากล มีความน่าเชื่อถือในฐานะเป็นองค์กรสำคัญของประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐธรรมนูญปี 2560 จึงกำหนดการปฏิรูปประเทศเพื่อให้ประเทศเดินหน้า ที่สำคัญคือการปฏิรูปด้านการเมืองให้เป็นพรรคการเมืองที่มีมาตรฐาน ดังนั้นจึงให้ความสำคัญกับการพัฒนานโยบายพรรคเพื่อนำมาโฆษณาหาเสียง แต่ไม่ใช่ใช้มาตรการอื่นมาชักจูงจนทำให้ประชาชนไขว้เขวในระบบการเมืองที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งที่ไม่สุจริตเที่ยงธรรม

กมธ.ยันต้องมี-ให้กกต.วางเกณฑ์
ด้านนายเสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการเสียงข้างมาก กล่าวว่า การให้มีมหรสพนั้นจะช่วยป้องกันการเกณฑ์คนมาฟังได้ การบอกว่าไม่มีมหรสพจะทำให้คนสนใจนโยบายพรรคมากกว่านั้นเป็นความเข้าใจที่ผิดทั้งสิ้น เรื่องการได้เปรียบหรือเสียเปรียบไม่ใช่ปัญหา เพราะเรามีการควบคุมการใช้จ่ายเงิน นอกจากนี้มหรสพยังทำให้คนออกมาค้าขาย ก่อให้เกิดการทำมาหากินที่สุจริต ยืนยันว่าในอดีตที่มีปัญหานั้นเพราะไม่มีกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แต่วันนี้กกต.มีอำนาจมากมายและยังมีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) เข้ามาช่วยอีก รวมถึงมีกล้องมือถือถ่ายเป็นหลักฐานได้ ดังนั้นการมีมหรสพจะแก้เรื่องของการเกณฑ์คนและการควบคุมเสียงเลือกตั้งได้

ขณะที่นายมหรรณพ เดชวิทักษ์ กรรมาธิการ กล่าวว่า กรรมาธิการรับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกสนช.หลายคน รวมทั้งมีการหารือนอกรอบแล้ว ยืนยันว่าการให้จัดมหรสพระหว่างการหาเสียงนั้นยังต้องมีไว้ แต่จะให้กกต.ไปวางหลักเกณฑ์ให้อยู่ในวิสัยตามควรแก่กรณี ไม่ใช่ให้จัดได้โดยเสรี และเพื่อป้องกันการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างพรรคเล็กพรรคใหญ่ จะให้ปรับปรุงวงเงินสูงสุดในการว่าจ้างมหรสพของแต่ละเขตพื้นที่ไม่เกินร้อยละ 20 ของวงเงินหาเสียงในแต่ละเขต


"ปัด"บิ๊กตู่"ตั้ง"ไทยนิยม"ปูการเมือง
ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมยั่งยืน จะเป็นการปูทางเพื่อเข้าสู่การเมืองหรือไม่ ว่าตนเพิ่งเห็นคำสั่งดังกล่าว คิดว่านายกฯ คงอยากเห็นความชัดเจนการทำงานแต่ละเรื่องให้เข้ารูปเข้ารอยมากขึ้นในช่วงท้ายนี้ ทั้งการลดความเลื่อมล้ำ และปัญหาต่างๆ ที่นายกฯ พูดถึงคงอยากให้มีการขับเคลื่อน ส่วนจะมีเสียงวิจารณ์ว่าปูทางสู่การเลือกตั้งหรือไม่นั้น ตนอยากให้ทุกคนมองว่าเป็นเจตนาที่ดี

เมื่อถามว่ามีการตั้งข้อสังเกตว่ารัฐบาลมีคณะกรรมการหลายชุดแล้ว เหตุใดจึงต้องคณะกรรมการชุดนี้เพิ่มอีก พล.อ.ฉัตรชัย กล่าวว่า คงต้องถามนายกฯ ดู


วัชรพลยอมรับสนิทกับ "ประวิตร"
ความคืบหน้าปมนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เมื่อเวลา 16.30 น. ที่ห้องแกรนด์ ไดมอนด์ บอลรูม อิมแพ็ค เมืองทองธานี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่ประชุมป.ป.ช.หยิบยกประเด็นนาฬิกาหรูของพล.อ.ประวิตร ว่าไม่มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพิจารณา ส่วนเหตุผลในการถอนตัวจากการพิจารณาสำนวนคดีดังกล่าวนั้น เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องลักษณะต้องห้ามที่ไม่ให้เข้าไปทำหน้าที่ อาจจะมีเรื่องของความใกล้ชิด ซึ่งไม่ตรงเป๊ะนัก อีกทั้งเคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านมาก่อน ดังนั้นคิดว่าการเข้าไปร่วมพิจารณาอาจจะทำให้มตินั้นเสียไป ตนจึงถอนตัว ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกต้องที่สุด

เมื่อถามว่าแสดงว่ายอมรับว่าสนิทสนมกับพล.อ.ประวิตร พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า แน่นอนเพราะเคยทำงานกับท่านจึงไม่เหมาะสมที่จะไปพิจารณาเรื่องนี้ ส่วนที่ถามว่าถ้าบอกว่าเป็นการยืมเพื่อนมาแล้วไม่ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สิน ตามกฎหมายป.ป.ช.ถือว่าไม่ต้องแจ้งหรือไม่นั้น คงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการเป็นผู้พิจารณา ส่วนขณะนี้กลายเป็นว่ากระแสโจมตีป.ป.ช.ว่าพยายามจะปกป้องเรื่องนี้ และจะกลายเป็นมวยล้มต้มคนดูนั้น เป็นกระบวนการทำงาน แต่สื่อมวลชนอาจจะไปคาดการณ์กัน แต่กระบวนการทำงานก็มีแนวทางและระเบียบปฏิบัติอยู่แล้ว


เมื่อถามว่าท่านจะให้ความมั่นใจกับสังคมได้หรือไม่ว่านาทีสุดท้ายเรื่องนี้จะเกิดความกระจ่าง และสังคมยอมรับกับการตัดสิน พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า เรื่องนี้ประชาชนสนใจอยู่แล้ว เจ้าหน้าที่และคณะกรรมการต้องทำงานอย่างถูกต้องและเป็นมืออาชีพ


"เพื่อไทย" เหน็บป.ป.ช.ปมนาฬิกา
นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวถึงกรณีเลขาธิการป.ป.ช.ชี้หากนาฬิกาเป็นของบุคคลอื่น พล.อ.ประวิตร ไม่ต้องแสดงทรัพย์สินต่อ ป.ป.ช.ว่า ป.ป.ช.แสดงท่าที ที่ประชาชนอาจไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะตรวจสอบเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาหรือไม่ และส่งสัญญาณเหมือนไม่ค่อยเชื่อว่านาฬิกาของ พล.อ.ประวิตร มีมากถึง 25 เรือนตามที่ปรากฏภาพในโซเชียลมีเดีย แม้ ป.ป.ช.จะเตรียมสอบพยานสำคัญคาดว่าจะแล้วเสร็จเดือนกุมภาพันธ์นี้ แต่สังคมยังคงต้องจับตาการทำหน้าที่ตรวจสอบของ ป.ป.ช.ว่าตรวจสอบครบถ้วนครอบคลุมหรือไม่ ทั้งนี้น่าสนใจว่าถ้า ป.ป.ช.เชื่อว่าพล.อ.ประวิตร ยืมนาฬิกาเพื่อนมาใส่ทุกเรือนและยังเชื่อว่าแหวนเพชรก็ยืมของแม่มา จะเป็นบรรทัดฐานต่อไปหรือไม่ว่าผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินแล้วไม่แจ้งต่อป.ป.ช.ก็จะอ้างว่ายืมคนอื่นมาทั้งนั้นแล้วจะทำกันอย่างไร

"การที่เครือข่ายของท่านพยายามเบี่ยงประเด็นว่าเรื่องนี้มีคนในต่างประเทศสั่งการสื่อระดับโลกให้ดิสเครดิตผู้นำรัฐบาลนั้นเป็นไปไม่ได้ ขนาดรัฐบาลนี้มีอำนาจเต็มยังไม่สามารถควบคุมสั่งการสื่อในประเทศได้เลย แล้วคนในต่างประเทศจะไปสามารถสั่งการสื่อต่างประเทศที่มีมาตรฐานและต้นทุนความน่าเชื่อถือสูงระดับโลกได้อย่างไร การที่สื่อต่างประเทศให้ความสนใจเรื่องนี้กันอย่างมากไม่ใช่แค่เรื่องนาฬิกาแต่เป็นความคาดหวังถึงมาตรฐานการตรวจสอบที่มีมาตรฐานมีธรรมาภิบาล ข้อเท็จจริงคือนาฬิกาหรูเหล่านั้นท่านใส่จริง ไม่มีใครยุยงหรือบังคับให้ท่านใส่ ท่านใส่ของท่านเอง และท่านก็ไม่ได้ปฏิเสธ เอาเข้าจริงประชาชนยังไม่ได้รับฟังคำชี้แจงที่เป็นเรื่องเป็นราวจากท่านเลย แทนที่ท่านจะชี้แจงเองกลับมีแต่เครือข่ายของท่านพยายามออกมาเบี่ยงประเด็นหรือไม่ นาฬิการาคาแพงๆ ระดับนี้บริษัทผู้ขายจะต้องมีเลขทะเบียนกำกับว่าใครเป็นผู้ซื้อหรือไม่ ซื้อเงินสดหรือบัตรเครดิต ป.ป.ช.ได้เรียกให้ส่งนาฬิกามาตรวจสอบครบทุกเรือนหรือไม่ เป็นไปตามที่โชว์หน้าสื่อหรือไม่ ดังนั้นหน้าที่ของพล.อ.ประวิตร คือการไปชี้แจงต่อป.ป.ช.ไม่ใช่ปล่อยให้เครือข่ายไปกล่าวหาคนอื่นเพื่อปกป้องตนเองหรือไม่" นายอนุสรณ์ กล่าว


จี้ป.ป.ช.หยุดไต่สวนเสนอนิรโทษกรรม
ที่สำนำกงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตัวแทนอดีต 40 ส.ส.พรรคเพื่อไทย นำโดย นายวรชัย เหมะ อดีตส.ส.สมุทรปราการ นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี นางสมหญิง บัวบุตร อดีตส.ส.อำนาจเจริญ นายธวัชชัย สุทธิบงกช อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ นพ.เชิดชัย ตันติศิรินทร์ อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ เดินทางเข้ายื่นหนังสือต่อ ป.ป.ช. ผ่านนายสุทธิ บุญมี ผอ.สำนักสืบสวนและกิจการพิเศษ เพื่อขอความเป็นธรรมและคัดค้านกรณีที่ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมไต่สวนคดีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม โดยมี น.ส.สุภา ปิยะจิตติ เป็นประธานคณะอนุกรรมไต่สวน

นพ.เชิดชัย อ่านคำแถลงของกลุ่ม 40 ส.ส.พรรคเพื่อไทย ว่า หลังจากได้รับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนกรณีดังกล่าวแล้ว คณะ 40 ส.ส. ได้มีหนังสือไปยังคณะกรรมการป.ป.ช. เพื่อขอให้ทบทวนการมีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวน โดยเห็นว่าอาจกระทำการโดยไม่มีอำนาจและเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ คณะ 40 ส.ส. จึงร่วมกันยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่อคณะกรรมการป.ป.ช. และคณะอนุกรรมการไต่สวนชุดดังกล่าวให้ยุติการไต่สวนข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าวด้วยเหตุผล 7 ประเด็น คือ 1.การเสนอร่างพ.ร.บ.เป็นกระบวนการใช้สิทธิของฝ่ายนิติบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ได้รับการคุ้มครองเอกสิทธิ์โดยเด็ดขาด ดังนั้นคณะ 40 ส.ส. จึงได้รับเอกสิทธิ์คุ้มครอง 2.การเสนอร่างพ.ร.บ.เป็นกระบวนการหนึ่งในการตรากฎหมายที่อยู่ในงานของรัฐสภาโดยเฉพาะ จึงกฎหมายให้อำนาจ ป.ป.ช.เข้ามาตรวจสอบ 3.การตราพ.ร.บ.นิรโทษกรรมเป็นหลักการทางกฎหมายปกติ ที่ผ่านมามีการตรากฎหมายเช่นนี้ถึง 23 ฉบับ ซึ่งการเสนอร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ก็ไม่ได้เป็นการขัดหรือแย้งต่ออนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศที่เกี่ยวกับการต่อต้านการทุจริตหรือคอร์รัปชั่น ไม่ได้มีบทบัญญัติใดขัดหรือแย้งต่อกติกาสากลระหว่างประเทศ


4.ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไม่ได้มีเนื้อหาเป็นการไปเอื้อประโยชน์แก่ผู้หนึ่งผู้ใดเป็นการเฉพาะ และการทำหน้าที่ดังกล่าวไม่ถือเป็นการบิดผันการใช้อำนาจ สำหรับข้อกังวลว่าร่างกฎหมายนี้จะมีผลต่อคดีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ในคดีที่ถูกศาลฎีกามีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินกว่า 46,000 ล้านบาท ก็ไม่เป็นความจริง เพราะแต่เนื้อหาของร่างกฎหมายมีการบัญญัติชัดเจนว่าผลของการนิรโทษกรรมไม่ก่อให้เกิดสิทธิเรียกร้องใดๆ แก่ผู้ได้รับนิรโทษในอันที่จะเรียกร้องสิทธิหรือประโยชน์ใดๆ ทั้งสิ้น และคดีดังกล่าวเป็นคดีแพ่งไม่ใช่คดีอาญาที่อยู่ในขอบเขตของร่างพ.ร.บ.นี้

นพ.เชิดชัย กล่าวอีกว่า 5.ในช่วงเวลาที่ส.ส.ได้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว สถานการณ์ของประเทศอยู่ในภาวะที่เกิดความขัดแย้งแตกแยกรุนแรงในสังคมและในขณะนั้นมีการเสนอกฎหมายที่มีลักษณะเดียวกันถึง 6 ฉบับ ซึ่งมีเนื้อหาเป็นการนิรโทษกรรมเช่นกัน ซึ่งทุกฉบับล้วนมีเจตนาที่ต้องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นของคนในชาติ ลืมความขัดแย้งในอดีตและให้อภัยต่อกัน 6.ในท้ายที่สุดร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมไม่ถูกตราขึ้นเป็นกฎหมาย จึงไม่มีผลบังคับใช้ จึงอาจกล่าวได้ว่า คณะ 40 ส.ส.ไม่ได้กระทำความผิดใดๆ จากการร่วมกันลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ไม่อาจกล่าวได้ว่าเกิดความเสียหายใดๆ ขึ้น และ 7.เทียบเคียงกับกรณีประธานป.ป.ช. และประธานอนุกรรมการไต่สวนได้ร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.... ซึ่งเป็นการปฏิบัติหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญเช่นกัน และเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นลักษณะเดียวกับการเสนอและพิจารณาร่างพ.ร.บ.ทั่วไป


กต.ย้ำสหรัฐหนุนเดินตามโรดแม็พ
ที่กระทรวงการต่างประเทศ น.ส.บุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าว

logoline