svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.

25 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

วันนี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีวาระสำคัญ พิจารณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ร่างกฎหมายลูกฉบับสุดท้าย ที่ต้องพิจารณาให้เสร็จสิ้นในสัปดาห์นี้ มีประเด็นอะไรน่าสนใจบ้าง ติดตามจากคุณกลกร เวียงดอนก่อ

การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เริ่มประชุมในเวลา 9.00น. ซึ่งเร็วกว่าการนัดประชุมปกติ ที่จะประชุมในเวลา 10.00 น. เนื่องจากวันนี้ เป็นการพิจารณาร่างกฏหมายสำคัญ คือ ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตา คือ เรื่องการกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมายออกไปอีก 90 วัน ภายใต้ความวิตกว่าอาจทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งออกไปการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. เริ่มขึ้นเร็วกว่าปกติ 1 ชั่วโมง เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เนื่องจากเป็นร่างกฎหมายสำคัญและคาดว่าต้องใช้เวลาพิจารณาอย่างละเอียด


ประธานสนช. พรเพชร วิชิตชลชัย เป็นประธานการประชุม โดยเริ่มพิจารณาวาระ 2 เรียงลำดับมาตรา เนื้อหาสำคัญที่อยู่ในความสนใจคือ มาตรา 2 เกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก บัญญัติให้ร่างกฎหมายใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา จากที่เดิมที่ให้มีผลบังคับใช้ในวันถัดไป นับตั้งแต่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา


ซึ่งถูกวิจารณ์ว่าจะเป็นเหตุให้การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปจากโรดแมพเดิม เดือนพฤศจิกายน 2561 เป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562 โดยตัวแทนกรรมาธิการเสียงข้างมาก ยืนยันว่าการเลื่อนบังคับใช้ออกไป 90 วัน ทำได้และมีความจำเป็น เพื่อให้ประชาชนและผู้เกี่ยวข้อง มีเวลาเตรียมตัว ศึกษาทำความเข้าใจ เตรียมความพร้อมกับระบบเลือกตั้งแบบใหม่ จะได้ไม่กระทำผิดโดยไม่เจตนา
ขณะที่ นายประพันธ์ นัยโกวิท กรรมาธิการเสียงข้างน้อย เห็นว่า ระยะเวลาจัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน นับแต่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้งมีผลบังคับใช้ เป็นกรอบเวลาจัดการเลือกตั้งที่เพียงพออยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องขยายเวลาการบังคับใช้ออกไปอีก
ด้าน กรรมาธิการเสียงข้างน้อยอีกฝ่าย ทวีศักดิ์ สูทกะวาทิน มีแนวทางเดียวกันกับกรรมาธิการฯ เสียงข้างมาก แต่เสนอแปรญัตติเพิ่มเวลาการบังคับใช้กฎหมายเป็น 120 วัน เนื่องจากยังไม่มีการปลดล๊อกให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมได้ จึงเสนอให้เพิ่มระยะเวลาเพื่อให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมได้ทันตามเงื่อนไขในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง เพราะหากไม่ทันแล้วต้องขอขยายอีก จะเป็นประเด็นขัดแย้งตามมา


นอกจากประเด็นนี้ การขยายเวลาบังคับใช้ออกไป 90 วันแล้ว ยังมีเนื้อหาสำคัญอื่นๆอีก อย่าง มาตรา 35 การเพิ่มโทษตัดสิทธิ์แก่ผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์เลือกตั้ง ไม่สามารถรับราชการในสังกัดรัฐสภา ข้าราชการการเมือง และผู้บริหารท้องถิ่น เป็นระยะเวลา 2 ปี นับ , มาตรา 75 ตัดข้อห้ามที่ไม่ให้จัดแสดงมหรสพ โดยถือว่าเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้งบประมาณที่กกตกำหนดไว้ , มาตรา 82 ให้ กกต. จัดเวทีประชันนโยบายระหว่างพรรคการเมืองได้ , และมาตรา 87 ขยายเวลาการลงคะแนนเลือกตั้งตั้งแต่ 7 ถึง 17 นาฬิกา


ร่างกฎหมาย พรป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ฉบับนี้ เป็น 1 ในร่างกฎหมาย 2 ฉบับสุดท้ายที่จะมีการพิจารณาในสัปดาห์นี้ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 4 ของร่างกฎหมายลูกที่จำเป็นต่อการจัดการเลือกตั้ง โดยมีเนื้อหาทั้งหมด 178 มาตรา มีการปรับแก้ 30 มาตรา

logoline