svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"สุเทพ - 8 แกนนำ กปปส" ลุ้นประกันสู้คดีอัยการฟ้องกบฏ

24 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"สุเทพ เลขาธิการ กปปส.-8 แกนนำ" ให้การปฏิเสธสู้คดีอัยการฟ้องกบฏ-ก่อการร้าย ชุมนุมชัดดาวน์ปิด กทม.-ขวางเลือกตั้งความผิดอื่นรวม 9 ข้อหา ศาลนัดตรวจหลักฐาน เช้า19 มี.ค. รอลุ้นประกัน หลังศาลกำหนดวงเงิน 8 แสน



ที่ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก วันที่ 24 ม.ค. 2561 เวลา 10.45 น. พนักงานอัยการคดีพิเศษ 4 ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อายุ 69 ปี อดีตเลขาธิการ กปปส. , นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย อายุ 57 ปี แกนนำ กปปส.อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อดีต ส.ส.ตรัง พรรคประชาธิปัตย์, นายชุมพล จุลใส อายุ 48 ปี แกนนำ กปปส.แยกราชประสงค์และอดีต ส.ส.ชุมพร ประชาธิปัตย์ , นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ อายุ 50 ปี แกนนำ กปปส.แยกราชประสงค์และอดีต ส.ส. กทม.ประชาธปัตย์ , นายอิสสระ สมชัย อายุ 72 ปี แกนนำ กปปส.ห้าแยกลาดพร้าวและอดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ ประชาธิปัตย์และ , นายวิทยา แก้วภราดัย อายุ 63 ปี แกนนำ กปปปส.ลุมพินี และอดีต ส.ส.นครศรีธรรมราช ประชาธิปัตย์ , นายถาวร เสนเนียม อายุ 71 ปี แกนนำ กปปส.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและ อดีต ส.ส.สงขลา ประชาธิปัตย์ , นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ อายุ 52 ปี แกนนำ กปปส.แยกอโศกและอดีต ส.ส. กทม. ประชาธิปัตย์ และ นายเอกณัฏ พร้อมพันธุ์ อายุ 32 ปี อดีตโฆษก กปปส. และอดีต ส.ส. กทม. ประชาธิปัตย์ เป็นจำเลยที่ 1-9 ในความผิดฐานร่วมกันเป็นกบฏ , ก่อการร้าย, ยุยงให้หยุดงานฯ , กระทำให้ปรากฏด้วยวาจาหรือวิธีการอื่นใดฯ ทำให้เกิดความปั่นป่วนกระด้างกระเดื่องในราชอาณาจักรฯ , อั้งยี่ , ซ่องโจร, มั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ทำให้เกิดการวุ่นวายขึ้นในบ้านเมืองฯ, บุกรุกในเวลากลางคืนฯ และร่วมกันขัดขวางการเลือกตั้งฯ รวม 9 ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 , 116 , 117 , 135/1 , 209 , 210 , 215 , 216 , 362 , 364 , 365 , พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 ม.76 , 152 ประกอบ ม.83 และ 91


โดยฟ้องอัยการ 17 หน้าบรรยายพฤติการณ์สรุปว่า เมื่อระหว่างวันที่ 23 พ.ย. 56 ถึง 1 พ.ค. 57 ทั้งเวลากลางวันและกลางคืน จำเลยทั้ง 9 ร่วมสมคบกันเป็นอั้งยี่ ซ่องโจร โดยเข้าเป็นสมาชิก หัวหน้าผู้มีตำแหน่งสั่งการของคณะบุคคล ร่วมกันโดยแบ่งหน้าที่กันทำความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักรฐานเป็นกบฏ เพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร อำนาจตุลาการ ระหว่างที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ซึ่งระหว่างนั้นมีกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมืองเคลื่อนไหวคัดค้านหลายกลุ่มกระทั่งวันที่ 29 พ.ย. 56 กลุ่มบุคคลดังกล่าวได้จัดตั้งเป็นคณะบุคคลที่ปกปิดวิธีดำเนินการโดยใช้ชื่อว่า คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข หรือ กปปส. โดยมีนายสุเทพ จำเลยที่ 1 ประกาศตัวเป็นเลขาธิการฯ ส่วนจำเลยที่ 2-9 ได้ร่วมเป็นสมาชิกและกรรมการผู้มีหน้าที่สั่งการ โดยคณะบุคคลนั้นร่วมกันโดยมิชอบด้วยกฏหมายในการร่วมกันปลุกระดม ยุยง ชักชวน ให้ประชาชนทั่วราชอาณาจักรเข้าร่วมการชุมนุมและร่วมกิจกรรมในการก่อความไม่สงบโดยมุ่งหมายที่จะขับไล่รัฐบาล น.ส ยิ่งลักษณ์ ให้พ้นจากตำแหน่ง รวมทั้งคัดค้านและขัดขวางการเลือกตั้ง ส.ส. เพื่อไม่ให้มีนายกรัฐมนตรีและ ครม.ชุดใหม่เข้ามาบริหารประเทศตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ โดยจำเลยทั้ง 9 และคณะบุคคลดังกล่าวได้ออกประกาศให้รัฐบาลหยุดปฏิบัติหน้าที่และให้ข้าราชการระดับสูงเข้ารายงานตัวต่อ กปปส. จากนั้น กปปส. จะออกคำสั่งแต่งตั้งคณะบุคคลเข้ามาใช้อำนาจบริหารประเทศแทน


ซึ่งการกระทำให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว จำเลยทั้ง 9 และพวกได้แบ่งหน้าที่กันทำ คือ การปราศรัยชักชวนประชาชนให้เข้าร่วมหรือออกมาขับไล่รัฐบาล อีกส่วนหนึ่งทำหน้าที่เป็นกองกำลังทั้งที่มีและไม่มีอาวุธบุกรุกเข้าไปยึดสถานที่ราชการและหน่วยงานต่างๆ โดยมีการใช้กำลังขัดขวางต่อสู้ทำร้ายร่างกายและขู่ว่าจะใช้กำลังกระทำต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่รักษาอาคารสถานที่ราชการและประชาชน ขณะเดียวกันก็ได้มีการรวบรวมจัดหาชายฉกรรจ์จำนวนหนึ่งมาเป็นกองกำลังโดยเรียกว่า นักรบศรีวิชัย , นักรบตะนาวศรี , กลุ่มกระเบนธง โดยเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 57 ได้มีการสะสมกำลังโดยประกาศรับสมัครชายฉกรรจ์ 500 คนเพื่อทำการไล่ล่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ นายกฯ และรัฐมนตรีอื่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการกบฏโดยจะบีบบังคับให้ นายฯและรัฐมนตรีนั้นหยุดปฏิบัติหน้าที่และให้พ้นจากตำแหน่ง จากนั้นจะตั้งศาลประชาชนขึ้นพิจารณาพิพากษาลงโทษและริบทรัพย์ นอกจากนี้พวกจำเลยได้ยุยงชักชวนให้ธุรกิจเอกชน , ข้าราชการ , พนักงานรัฐวิสาหกิจ และประชาชนร่วมกันหยุดปฏิบัติงาน ปิดงาน ไม่ยอมค้าขาย ชะลอและงดการจ่ายภาษีให้รัฐบาลพร้อมกันให้บุกรุกเข้าไปยังสถานที่ราชการ สถานที่เอกชน รัฐวิสาหกิจ และศาลากลางจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งการกระทำนั้นได้เผยแพร่ให้ปรากฏแก่ประชาชนทั่วราชอาณาจักรผ่านการกล่าวปราศรัย ที่ถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์หลายแห่ง และจัดให้มีการชุมนุมใหญ่ของประชาชนที่บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ถ.ราชดำเนินและบริเวณใกล้เคียง กระทั่งมีการขยายและยกระดับการชุมนุมด้วยการนำประชาชนเดินขบวน เคลื่อนย้ายด้วยยานพาหนะหลายชนิดไปปิดล้อม บุกรุกเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นรวมทั้งตัดระบบไฟฟ้าน้ำปะปาในทำเนียบรัฐบาล กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงแรงงาน กระทรวงพลังงาน ศูนย์ราชการฯแจ้งวัฒนะ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ(ตร.) สำนักงานเขตหลักสี่ ศูนย์เยาวชนไทย ญี่ปุ่น ดินแดง และ รัฐวิสาหกิจรวมทั้งเอกชนที่สำคัญหลายแห่ง เช่น อาคารเอ็นเนอจีคอมเพล็กซ์ ถ.วิภาวดีรังสิต ซึ่งหลังจากบุกรุกเข้าไปในสถานที่ต่างๆหลายแห่งแล้วพวกจำเลยร่วมกันใช้กำลังประทุษร้ายด้วยการใช้ ก้อนหิน , ขวดแก้ว , ไม้ท่อน , หนังสติ๊ก , กระสุนหัวน็อต , ระเบิดเพลิงปะทัดยักษ์ , ระเบิดปิงปอง , อาวุธปืนสั้น-ปืนยาวฯ มีดปลายแหลม เป็นเหตุให้เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งรักษาความสงบเรียบร้อยได้รับอันตรายและมีเสียชีวิตหลายราย


และตั้งแต่วันที่ 13 ม.ค. 2 มี.ค. 57 จำเลยกับพวกยังได้ปิด กทม. หรือ Bangkok Shutdown รว 7 จุด โดยตั้งเวทีปราศรัยปิดกั้นการจราจรสาธารณะประกอบด้วยเวทีแจ้งวัฒนะ , ห้าแยกลาดพร้าว , อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ , แยกปทุมวัน , แยกราชประสงค์ , สวนลุมพินี และแยกอโศก โดยมีการนำแท่งปูน , ผนังคอนกรีต , รั้วลวดหนาม และยางรถยนต์วางเป็นเครื่องกีดขวาง แล้วในช่วงการประกาศการเลือกตั้งทั่วไปในวันที่ 2 ก.พ. 57 จำเลยกับพวกยังให้มีการชุมนมปิดล้อมหน่วยรับสมัครและหน่วยเลือกตั้งใน กทม. และต่างจังหวัดหลายแห่งเพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. แล้ววันที่ 5 เม.ย. 57 ยังได้ร่วมกันประกาศว่ากลุ่ม กปปส. จะเข้าใช้อำนาจอธิปไตย และประกาศตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่จะออกคำสั่งแต่งตั้งนายกฯและ ครม.


นอกจากนี้ระหว่างวันที่ 29-30 พ.ย. 56 นายสุเทพ เลขาธิการ กปปส. และนายชุมพล แกนนำ กปปส. จำเลยที่ 1และ3 ยังร่วมกันก่อการร้าย โดยทำให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงต่อระบบโทรคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นประโยชน์สาธารณะเช่น เครื่องควบคุมการจ่ายกระแสไฟฟ้าหลักและไฟฟ้าสำรองของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. รวมทั้งระบบอินเตอร์เน็ตส่วนใหญ่ของประเทศไม่สามารถใช้งานได้เป็นเวลาหลายชั่วโมงทำให้เกิดความเสียหายนับพันล้านบาท เหตุเกิดในพื้นที่ กทม. และจ.นนทบุรี , จ.เพชรบุรี , จ.พังงา , จ.ชุมพร , จ.นครศรีธรรมราช , จ.ยะลา หลายแห่งเกี่ยวพันกัน โดยจำเลยที่ 1-4 , จำเลยที่ 7-9 เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวนดีเอสไอเมื่อวันที่ 26 พ.ค. 57 , จำเลยที่ 5 เข้ามอบตัวที่ 28 พ.ค. 57 และจำเลยที่ 6 เข้ามอบตัววันที่ 27 พ.ค. 57 ชั้นสอบสวนจำเลยทั้ง 9 ให้การปฏิเสธ ซึ่งหากจำเลยยื่นขอปล่อยชั่วคราวอัยการก็ขอให้อยู่ในดุลพินิจของศาล โดยท้ายฟ้องอัยการโจทก์ ยังขอให้ศาลพิพากษาเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของจำเลยทั้งเก้าตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และการได้มาซึ่ง ส.ว. พ.ศ.2550 ด้วยทั้งศาลได้ประทับรับคำฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำ อ.247/2561 และสอบคำให้การเบื้องต้นแล้วจำเลยให้การปฏิเสธ โดยนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 19 มี.ค.นี้ เวลา 09.00 น. ขณะที่จำเลยทั้งเก้า ได้ยื่นคำร้องพร้อมหลักทรัพย์เป็นกรมธรรม์ประกันอิสรภาพ บจก.วิริยะประกันภัย เพื่อขอปล่อยชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งขณะนี้คำร้องอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลโดยศาลกำหนดวงเงินประกันจำเลยรายละ 800,000 บาท


ขณะที่เมื่อเวลา 10.25 น ที่สำนักงานอัยการสูงสุด ถ.รัชดาภิเษก นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ได้กล่าวภายหลังนำ 9 แกนนำ กปปส. ยื่นฟ้องคดีกบฏว่า คดีนี้เป็นคดีพิเศษที่ 261/2556 ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้รับสำนวนเมื่อวันที่ 1 พ.ค.57 ซึ่งนายคารม พลพรกลาง (ทนายความกลุ่ม นปช.) กับพวก กล่าวหา นายสุเทพ เทือกสุบรรณกับพวก โดยดีเอสไอส่งสำนวนนี้ให้กับสำนักงานอัยการสูงสุดเมื่อปี 2557 มีผู้ต้องหาทั้งหมดรวม 58 คน แต่ดีเอสไอได้แยกสำนวนผู้ต้องหาไป 7 คน เนื่องจากข้อหาแตกต่างจากสำนวนหลัก อาทิ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ , นางนาถยา แดงบุหงา , นายบุญยอด สุขถิ่นไทย , นายสาธิต ปิตุเดชะ ซึ่งเป็นกลุ่ม ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ เหลือ 51 คน โดยนายนันทศักดิ์ พูลสุข อธิบดีอัยการคดีพิเศษขณะนั้น สั่งไม่ฟ้อง 1 คน คือนายพิจารณ์ สุขภารังษี อาจารย์ ม.ธรรมศาสตร์ เนื่องจากไม่ได้กระทำผิดโดยคำสั่งไม่ฟ้องนั้นเด็ดขาดไปแล้ว ขณะที่เดือน พ.ค.57 อัยการ ได้ยื่นฟ้องผู้ต้องหา 4 ใน 50 คนไปแล้ว คือ นายสนธิญาณ ชื่นฤทัยในธรรม , นายสกลธี ภัททิยกุล , นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ , นายเสรี วงษ์มณฑา ในข้อหากบฏและข้อหาอื่นคล้ายกับที่ยื่นฟ้องแกนนำ กปปส. ในวันนี้ จึงเหลือผู้ต้องหา 46 คน ขณะที่วันนี้ได้ยื่นฟ้องอีก 9 คน คงเหลือผู้ต้องหา 37 คนซึ่งในจำนวนนั้นดีเอสไอยังไม่ได้ส่งตัวให้สำนักงานอัยการสูงสุด 3 คน จึงเหลือผู้ต้องหาที่รอสั่งคดีขณะนี้อีก 34 รายโดยผู้ต้องหาดังกล่าวได้ขอเลื่อนนัดอัยการระบุมีเหตุจำเป็น สำนักงานอัยการสูงสุดก็จะพิจารณาตามกรอบของกฎหมายทั้งเรื่องอายุความ ความเสียหายต่อความยุติธรรม อย่างไรก็ตามอัยการจะรอพิจารณาอีกครั้งภายในเวลาราชการวันนี้ คือ 16.30 น. ซี่งผู้ต้องหาอาจจะมาพบได้โดยสำนักงานอัยการสูงสุดก็พร้อมยื่นฟ้องได้เช่นกัน


ด้าน นายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานอัยการคดีพิเศษ กล่าวว่า ผู้ต้องหาที่นัดมาฟ้องวันนี้ทั้งหมด 43 คน เราเตรียมฟ้องไว้ทุกคนที่มารายงานตัว ขณะนี้มา 9 คน ในช่วงเช้า จึงตัดสินใจฟ้อง 9 คนไปก่อน ส่วนอีก 34 คน มีการยื่นคำร้องขอเลื่อนเข้ามา เราก็ต้องพิจารณาว่าแต่ละคนมีเหตุผลสมควรหรือไม่ หากมีเหตุผลสมควรก็จะให้เลื่อนไป ถ้าไม่มีเหตุผลสมควรก็จะนัดหมายให้มาฟ้อง พนักงานอัยการขอดูเหตุผลก่อน ซึ่งขณะนี้ยื่นเข้ามาครบทั้ง 34 คนแล้ว ต้องขอเวลาพิจารณาก่อน ถ้าคำร้องไม่มีเหตุผล เราสามารถยื่นแจ้งนายประกันให้ส่งตัววันนี้ในช่วงบ่ายก็ได้

logoline