svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

"โพล คสช." เช็คเรตติ้งตัวเอง คะแนนตก!

05 มกราคม 2561
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เรตติ้ง "รัฐบาลประยุทธ์"3 ปี แค่สอบผ่าน ชี้ เศรษฐกิจไม่มั่นคง-ขัดแย้งก่อตัว พบ ภาคกลาง- เหนือ ถดถอย ขณะ อีสาน คะแนนพุ่ง จับตา ใต้ ลดฮวบ คาด ปม ยางพารา-โรงไฟฟ้า

5 ม.ค.61 - มีรายงานข่าวว่า หน่วยงานความมั่นคง ได้สำรวจข้อมูล ความพึงพอใจของประชาชน 77 จังหวัด ต่อการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความมั่นคงแห่งชาติ (คสช.)ตั้งแต่ก่อนเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 จนมาถึงปัจจุบัน ใน 2 หัวข้อหลัก คือ 1.ผลความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล 2.ความต้องการต่อประเด็นการบริหารประเทศ มีคะแนนเต็ม 10

โดยข้อมูลดังกล่าวอ้างอิงจาก โครงการสำรวจทัศนคติและความต้องการของประชาชนต่อการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลและการดำเนินงานของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ปี2558 โครงการสำรวจทัศนคติของประชาชนต่อรากเหง้าปัญหาความขัดแย้งในสังคมไทย เพื่อการสร้างสังคมที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ปี2559 และ โครงการสำรวจทัศนคติของประชาชนต่อการดำเนินงานตามนโยบายสัญญาประชาคมความเห็นร่วมเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองของรัฐบาล สนับสนุนศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป

จากผลการรวบรวมและสังเคราะห์ข้อมูลสรุปได้ต่อไปนี้ 1.ผลความพึงพอใจของประชาชนต่อการบริหารงานของรัฐบาล พบว่า ประชาชนมีแนวโน้มความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาล ก่อนที่จะมี คสช. เข้ามา (รัฐบาลยิ่งลักษณ์) 5.28 คะแนน และหลังเหตุการณ์รัฐประหาร ในช่วง 6 เดือนแรกของ คสช. ประชาชนรู้สึกมีความหวังและคาดหวังว่า คสช. จะช่วยแก้ปัญหาในด้านต่างๆ ได้ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และปัญหาทางการเมือง ซึ่งมีค่าความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก 7.02 คะแนน


ผ่านไป 3 ปี คะแนนตกเกือบเท่ารัฐบาลยิ่งลักษณ์


ทั้งนี้ ในช่วง 1 ปีแรกของการบริหารงานของ คสช. พบว่า ประชาชนมีระดับความพึงพอใจที่ลดลงอยู่ในระดับปานกลาง 6.15 คะแนน.แต่ก็เพิ่มขึ้นในระยะถัดมา อยู่ที่ 6.48 คะแนน ตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในห้วงเวลานั้น เป็นที่น่าสังเกตว่า ในห้วงเวลาปัจจุบัน กลับพบว่าความพึงพอใจในการบริหารงานของรัฐบาลมีแนวโน้มลดลงอยู่ในระดับปานกลาง 5.73 คะแนน เนื่องจากประชาชนรู้สึกถึงความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจ ยังคงเผชิญกับปัญหาปากท้อง ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และรู้สึกถึงความไว้เนื้อเชื่อใจของผู้คนลดลงจากปัญหาความขัดแย้งที่ผ่านมา

"โพล คสช." เช็คเรตติ้งตัวเอง คะแนนตก!


ต้องการให้แก้ไขปัญหาปากท้องอย่างเร่งด่วน


สำหรับการสำรวจข้อมูลในหัวข้อที่ 2. ความต้องการต่อประเด็นการบริหารประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง พบว่า ในทุกๆปี(2557 - 2560) ประชาชนมีความต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาด้านปากท้องอย่างเร่งด่วน และประชาชนก็แสดงความคิดเห็นว่าปัญหาปากท้องก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขให้เป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากประชาชนยังคงประสบปัญหาการว่างงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเกษตรกรที่ต้องเผชิญกับภาวะราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำในขณะที่ค่าครองชีพและราคาสินค้ามีแนวโน้มแพงขึ้น และ รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการดูแลกลุ่มประชาชนฐานรากมากขึ้น

"โพล คสช." เช็คเรตติ้งตัวเอง คะแนนตก!

ด้านสังคม ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหายาเสพติดและอบายมุข ต้นเหตุของอาชญากรรม นำไปสู่ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมในทุกๆ ด้าน เช่น การเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐานการบังคับใช้กฎหมาย อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม จัดสวัสดิการให้กับกลุ่มคน กลุ่มผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส พร้อมสร้างจิตสำนึกพลเมือง ให้ประชาชนรู้จักสิทธิหน้าที่ของพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างถูกต้อง เป็นสิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการต่อไปด้วย

"โพล คสช." เช็คเรตติ้งตัวเอง คะแนนตก!


ต้องการให้รัฐบาลบังคับใช้กฎหมายอย่างเท่าเทียม


ด้านการเมือง ประชาชนต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นในทุกระดับอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่ม ทั้งนักการเมืองและข้าราชการ รวมถึงปัญหาการปลุกระดมสร้างความแตกแยกขัดแย้งที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง จากการบิดเบือนข้อมูลข่าวสารทางการเมืองและการใช้ Hate Speech เพื่อสร้างความเกลียดชังและความรุนแรงในสังคม

ทั้งนี้ ประชาชนเสนอความคิดเห็นว่าควรมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และปรับปรุงการบังคับใช้กฎหมายกับประชาชนทุกกลุ่มให้มีความเท่าเทียมกันอย่างจริงจัง พร้อมทั้งสนับสนุนให้ประชาชนทุกกลุ่มเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในทุกๆ ด้าน เช่น การติดตามตรวจสอบการทุจริตคอรัปชั่น การเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นในขั้นตอนการสร้างนโยบาย การเปิดโอกาสให้ประชาชนแจ้งเบาะแสการปลุกระดมทางการเมือง

"โพล คสช." เช็คเรตติ้งตัวเอง คะแนนตก!

คะแนน อีสานขึ้น ภาคอื่นลด

แหล่งข่าวความมั่นคง เปิดเผยว่า ความนิยมรัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ แยกเป็นพื้นที่ พบว่า ภาคกลาง ลดต่ำลง ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มภาคธุรกิจ มีการปลดพนักงาน ภาคเหนือ มีค่าถดถอยแต่ไม่มาก แต่ ภาคอีสาน มีคะแนนนิยมเพิ่มสูงขึ้น แม้จะยังไม่ผ่านเกณฑ์ แต่มีแนวโน้มที่ดี เช่น จ.นครพนม จากเดิม 20% เพิ่มขึ้นเป็น 40% ส่วนที่เพิ่มน้อย เช่น จ.ร้อยเอ็ด จ.กาฬสินธุ์ โดยมองว่า คนอีสานเห็นผลงานและความตั้งใจจริงในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล รวมถึงราคาข้าวขยับเพิ่มสูงขึ้น แต่ที่น่าจับตาคือภาคใต้ มีค่าลดลงมาก โดยเฉพาะในปี 2560 คาดว่าน่าจะเป็นปัจจัยจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ การตั้งโรงงานไฟฟ้า ปัญหาประมง


มทภ.4 รับราคายาง มีแต่ "ทรง ทรุด เจ๊ง"

สอดคล้องกับคำสัมภาษณ์ของ พล.ท.ปิยวัฒน์ นาควานิช แม่ทัพภาที่4 ต่อ คมชัดลึก ว่า ราคายางพาราตกต่ำ ทำอย่างไร ไม่ดีกว่านี้แล้ว มีแต่ "ทรง ทรุด เจ๊ง" เพราะ ประเทศปลูกยางพารา เพื่อนบ้านก็ปลูก ญี่ปุ่นก็ทำยางเทียม จึงอยากให้คนใต้ปลูกผลไม้ เช่น ทุเรียน อินทผาลัม ให้ลองเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ไม่ได้บังคับ เพราะเป็นอาชีพเก่าแก่ แค่เสนอเป็นทางเลือก ทั้งนี้ตนคงไม่ทำความเข้าใจแกนนำยางพาราแต่ละจังหวัด พูดยาก เพราะเขามีผลประโยชน์หลายอย่าง


แฉแกนนำ เอี่ยวการเมือง

พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวว่า ยังได้เห็นแกนนำยางพารา ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลพยุงราคาอีก เพราะเป็นวัฏจักร ไม่ว่าจะเป็น ยางพารา ปาร์ม เมื่อราคาตก จะถูกนำเป็นประเด็นล้มรัฐบาลทุกยุค ทุกสมัย เป็นเรื่องแก้ยาก และยอมรับว่า ม็อบเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อการบริหารประเทศรัฐบาล และ คสช.เพราะบางกลุ่มมีเลศนัยทางการเมืองด้วย

"โพล คสช." เช็คเรตติ้งตัวเอง คะแนนตก!

"ขอให้เขาเล่นตามเกม เพราะเราเล่นตามเกม อยู่แล้ว แต่เขาจะเล่นนอกเกมอย่างเดียว คือใช้วงจรเก่าๆ ก่อม็อบเข้า กทม. มากดดัน จะเข้ามายังไงก็ทำไม่ได้ ราคายางพาราอยู่ที่ 40 บาท/กก. จะให้ขยับขึ้นราคา 100-200 บาท/กก.เป็นไปไม่ได้ ส่วนจะมีแกนนำ นักการเมืองในภาคใต้อยู่เบื้องหลังหรือไม่นั้น ผมไม่ทราบแต่ อยากให้ไปดูกันว่า แกนนำ นักการเมือง ในภาคใต้ มีสวนยาง กันคนละกี่พันไร่ มีการปั่นราคายาง ปาล์ม ได้หมด" พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าว

พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าวถึง กลุ่มคัดค้านการตั้งโรงงานไฟฟ้าว่า ทหารเป็นกลาง แต่ในฐานะตนเป็นประชาชนคนหนึ่ง ก็อยากให้ตั้งโรงงานไฟฟ้า เพราะมีความจำเป็น ทุกพื้นที่ต้องใช้ไฟฟ้า เราได้เก็บข้อมูลทุกฝ่ายส่งรัฐบาล และรัฐบาลจะตัดสินใจว่าจะทำอย่างไร ขณะนี้ทางรัฐบาลยังไม่ได้ส่งสัญญาณว่า จะตั้งหรือไม่ตั้ง ต้องคิดหลายเรื่อง

" อยากให้คิดว่า ขาดไฟฟ้าจะลำบากยังไง เรื่องประชาพิจารณ์ด้านสิ่งแวดล้อมมีระบบอยู่แล้วว่าจะทำอย่างไร หากไม่ดี ขอให้มาพูดด้วยเหตุผล แก้กันเป็นจุดๆ ไม่ใช่มาก่อม็อบ อย่าปลุกระดม เพราะเพียงจุดนี้จุดเดียวประเทศชาติไม่ก้าวไปข้างหน้า แต่ถ้ามาหารือพูดคุยกันเราก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน" พล.ท.ปิยวัฒน์ กล่าว

logoline