svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สนช.ถล่มหนักป.ป.ช.ดักฟัง

21 ธันวาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สนช.ถกเดือด กม.ป.ป.ช. ดาหน้าค้านเพิ่มอำนาจป.ป.ช. ดักฟังข้อมูล ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ขัดรธน.หากเดินหน้ายื่นศาลรธน.ตีความแน่ วิชาชี้ใช้อำนาจเกินขอบเขต เตือนสะท้อนกลับเข้าตัว ด้านป.ป.ช.แจงไม่มีเจตนาทำลายล้าง ดักฟังต้องเป็นคดีที่ร้ายแรงกระทบในวงกว้าง ต้องศาลทุจริตและประพฤติมิชอบอนุญาต ถกไม่จบประชุมต่อ 22 ธ.ค.



21 ธ.ค.60 - เมื่อเวลา 11.00 น.ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต วาระ2และ3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พิจารณาเสร็จแล้ว จำนวน 193 มาตรา มีสาระสำคัญอาทิ การกำหนดให้ข้าราชการ เจ้าหน้าที่รัฐทุกระดับยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อหน่วยงานต้นสังกัด ตั้งแต่เริ่มเข้าทำงาน ขณะที่ผู้ทำงานอยู่แล้วให้ยื่นภายในเวลาที่กำหนด การกำหนดให้คู่สมรสที่ไม่จดทะเบียนของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. โดยให้ป.ป.ช.เป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์ การกำหนดระยะเวลาไต่สวนพิจารณาคดีของป.ป.ช.ต้องทำให้เสร็จภายใน2 ปี การเพิ่มอำนาจให้ป.ป.ช.สามารถดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ทุกชนิด ในคดีทุจริตและร่ำรวยผิดปกติของนักการเมือง ข้าราชการและประชาชน และการต่ออายุการดำรงตำแหน่งป.ป.ช.ชุดปัจจุบันให้อยู่จนครบวาระ 9 ปี


พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ชี้แจงว่า ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมี 193 มาตรา มีการแก้ไข99 มาตรา กมธ.เพิ่มขึ้นมาใหม่ 14 มาตรา กมธ.ตัดออก 6 มาตรา มีกมธ.สงวนความเห็น 10 คนและมีสมาชิกขอสงวนคำแปรญัตติ 3 คน จำนวน 1 มาตรา ทั้งนี้กมธ.นำความเห็นที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญมาตรา 77 มาประกอบการพิจารณาอย่างครบถ้วนแล้ว


จากนั้นได้เปิดอภิปรายเรียงลำดับรายมาตรา โดยนายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. อภิปรายในส่วนของคำปรารภว่า กฎหมายฉบับนี้มาสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของประชาชนพอสมควร ดังนั้นการที่กรรมาธิการฯ ไปยกเว้นมาตรา 36 นั้นตนต้องการความชัดเจนเบื้องต้นเพราะจะสัมพันธ์ทั้งมาตรา 35 ,36,37/1 ที่มีการแก้ไข ซึ่งในมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าบุคคลย่อมมีสิทธิเสรีภาพ ในการติดต่อสื่อสารถึงกันไม่ว่าในทางใดๆ การตรวจการกัดหรือการเปิดเผยข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกัน รวมทั้งการกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อให้ล่วงรู้หรือได้มาซึ่งข้อมูลที่บุคคลสื่อสารถึงกันจะกระทำมิได้ เว้นแต่มีคำสั่งหรือหมายของศาลหรือมีเหตุอย่างอื่นตามที่กฎหมายบัญญัติ แต่เมื่อเริ่มต้นกฎหมายป.ป.ช.ในคำปรารภ เขียนว่าบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนี้ มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิเสรีภาพและอ้างมาตราต่างๆที่ขอยกเว้น ซึ่งกรรมาธิการก็ขอยกเว้นมาตรา 36 ของรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อดูร่างพบว่าในมาตรา35,36,37 ซึ่งไม่แน่ใจว่า37/1 สัมพันธ์มากน้อยพียงใด ถ้าเป็นการล่วงลึกไปถึงข้อมูลส่วนบุคคลของประชาชน ตนต้องการความชัดเจนจากกรรมาธิการฯ เพราะเป็นประเด็นใหญ่ของกฎหมายฉบับนี้ ถึงเหตุที่ยกเว้นมาตรา36 ของรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลเพียงแค่มาตรา 35 ไปเกี่ยวโยงกับมาตรา 36 หรือ 37/1ด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกสนช.หลายคนอภิปรายสนับสนุนข้อท้วงติงของนายวัลลภ เนื่องจากคำปรารถจะโยงไปยังมาตรา 37/1 เรื่องการให้อำนาจป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลโดยการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ต่างๆได้ โดยเป็นห่วงว่า เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 36 จึงขอความชัดเจนจากกมธ.และ ขอให้กมธ.ตัดมาตรา 37/1 ทิ้ง โดยนายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า การให้อำนาจป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊กได้เป็นภัยทางการเมืองต่อทุกคน อาจมีการดักฟังข้อมูลในทุกเรื่อง ถือว่าอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน หากยังเดินหน้าต่อไปจะมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างแน่นอน ขณะที่พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม สนช.อภิปรายว่า คำปรารถที่ยกเว้นรัฐธรรมนูญมาตรา 36 ที่เป็นเรื่องของสิทธิเสรีภาพ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรา 37/ 1 ที่เปิดโอกาสให้ป.ป.ช.ดักฟังได้ ถือเป็นการเพิ่มอำนาจให้กับป.ป.ช. โดยกมธ.เสียงข้างมากลงมติให้เพิ่มมาตรานี้มีกมธ.ที่มาจากป.ป.ช.ด้วย ซึ่งเป็นการกระทำเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง


ขณะที่นายตวง อันทะไชย สนช. อภิปรายว่า การออกกฎหมายใดๆต้องพึงระวังเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ อยากทราบว่าจะมีกลไกใดเข้าไปถ่วงอำนาจการสืบค้นข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊กได้ เพราะในอนาคตอาจมีการหยิบยกข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้มาอภิปรายทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองได้ เหมือนอย่างในอดีตที่เคยให้อำนาจกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ล้นฟ้า สุดท้ายกลับตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง นำมาใช้กลั่นแกล้งคู่ต่อสู้ทางการเมือง ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบนางสุรางคณา วายุภาพ สนช.อภิปรายว่า กม.นี้ถือเป็นกม.ที่มีความสำคัญ ซึ่งตนเห็นด้วยกับเหตุผลที่เพื่อนสมาชิกอภิปราย แม้นักการเมือง ผู้บริหารระดับสูง จะเป็นบุคคลสาธารณะ ที่ต้องตรวจสอบได้ แต่รัฐธรรมนูญมาตรา 36 ก็ได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิเสรีภาพ ดังนั้นการตรวจสอบเรื่องการทุจริต ก็ไม่ควรละเมิดสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานพล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อภิปรายว่าเรื่องการให้อำนาจป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลทางโทรศัพท์นั้น ยืนยันว่า กมธ.ไม่มีเจตนาทำลายล้างใคร แต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ทางคดี เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล จึงมีความจำเป็นต้องให้อำนาจส่วนนี้ โดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเห็นชอบก็ทำได้ เมื่อผ่านความเห็นจากคณะกรรมการแล้ว ยังต้องขออนุญาตจากศาลอีกครั้ง รวมถึงต้องเป็นคดีที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสาธารณะด้วย


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาชิกได้อภิปรายมาจนถึงมาตรา 37/1 เรื่องการให้อำนาจป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลโดยการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์และอุปกรณ์อิเลกทรอนิคส์ต่างๆได้ โดยเป็นห่วงว่า เป็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา36 และอาจเป็นดาบ 2คม ขอให้กมธ.ตัดมาตรา37/1ทิ้ง


นายวิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป.ป.ช. ในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย อภิปรายว่า การใช้อำนาจเกินขอบเขต เรียกร้องมากเกินไป อาจทำให้องค์กรสั่นสะเทือนได้ ยิ่งหากหลักฐานที่ได้มาไม่บริสุทธิ์ จะเป็นสิ่งที่ทิ่มตำทำลายผู้ที่นำหลักฐานนั้นมาใช้เอง เป็นห่วงว่า หากข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดีหลุดออกไปอาจเป็นเครื่องมือนำไปใช้แบล็คเมย์ทางการเมืองกันได้ เป็นเรื่องที่ต้องระวัง ประเด็นนี้อ่อนไหวที่สุด ไม่ควรนำมาใส่เลย และต้องฟังเสียงประชาชนให้รอบด้าน ถ้าป.ป.ช.เป็นองค์กรที่น่าเคารพศรัทธา ข้อมูลจะหลั่งไหลมาเอง เป็นการได้ข้อมูลทางลัด ทั้งนี้การใช้มาตรา37/1 เพื่อให้ได้ข้อมูลทางลับเป็นสิ่งต้องพึงระวัง ไม่รู้ว่าข้อมูลที่ได้ว่า ศาลจะเชื่อหรือไม่ อาจทำให้ศาลกระอักกระอ่วนเพราะป.ป.ช.เป็นองค์กรกึ่งตุลาการ รู้สึกไม่สบายใจ แต่เชื่อว่า สนช.จะพิจารณากฎหมายด้วยความรอบคอบ ให้ประชาชนสบายใจ มีความยุติธรรมอย่างแท้จริงนายภัทระ คำพิทักษ์ กมธ.เสียงข้างน้อย กล่าวว่า ไม่ใช่ครั้งแรกที่ ป.ป.ช. พยายามเสนอหลักการนี้เข้ามา ถ้าสนช.เห็นชอบ จะสร้างประวัติศาสตร์ ยอมให้อำนาจนี้กับป.ป.ช. ทั้งนี้มาตรา 50 อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านทุจริต(UNCDC)จะระบุถึงเรื่องการให้ใช้มาตรการพิเศษในการตรวจสอบการทุจริต แต่ระบุเพียงว่า ให้ใช้อย่างเหมาะสม ภายใต้การควบคุมเท่านั้น น่าคิดว่า หากป.ป.ช.ได้อำนาจส่วนนี้ไปแล้วถูกครอบงำจะเกิดอะไรขึ้น การพิจารณามาตรานี้ ใช้เวลาสั้นๆในชั้นกมธ.เพียงไม่เกิน 1 ชั่วโมง ก็เกิดมาตรา37/1 ขึ้นมา ยังไม่รวมถึงเรื่องอำนาจการอำพราง และสะกดรอย ที่เสนอเป็นฝาแฝดพ่วงมาด้วย ถือว่าการพิจารณายังไม่ละเอียดรอบคอบ


นายภัทระ กล่าวว่า ขอยกตัวอย่างประเทศสหรัฐฯ การใช้อำนาจดักฟังจะต้องมีน้ำหนักหลักฐานแน่นหนาทางคดี จึงจะดำเนินการได้ เช่น ตำแหน่งที่ดักฟัง รูปแบบการดักฟัง รายชื่อเป้าหมายการดักฟัง เหตุผลการดักฟัง และต้องเป็นเรื่องที่ไม่สามารถใช้กระบวนการสอบสวนทางปกติได้ ที่สำคัญต้องเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน แต่หลักเกณฑ์ของไทยมีรายละเอียดเหล่านี้หรือไม่ ไม่ใช่แค่ตั้งข้อสงสัยก็ดักฟังกันได้แล้ว นอกจากข้อมูลที่ดักฟังหากไม่ใช่เรื่องที่เกี่ยวกับคดีต้องถูกทำลายทันที ต่างจากมาตรการของไทยที่ไม่ได้ระบุชัดเจน จะทำลายข้อมูลเมื่อใด รวมทั้งต่างประเทศกำหนดให้ต้องรายงานเรื่องการดักฟังต่อศาลทุก 7-10 วัน ต่างจากของไทยที่พอได้รับอนุญาตให้ดำเนินการแล้ว จะมีเวลา 90 วันไปดำเนินการ แล้วจึงนำมารายงานต่อศาล และถ้าถูกดักฟังแล้ว แต่พบว่าไม่เข้าข่ายความผิด ผู้ถูกดักฟังต้องได้รับการแจ้งเตือนทันที และมีโอกาสฟ้องร้องศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ ทั้งนี้บางประเทศ พิสูจน์ได้ว่าการดักฟังไม่มีอคติ แต่ ป.ป.ช.จะมีอคติหรือไม่ก็ไม่รู้ อย่ามุ่งแต่ใช้ข้อมูลที่จะกำจัดคนโกงเพียงอย่างเดียว เพราะจะทำให้ป.ป.ช.ตกอยู่ในความเสี่ยง ถูกเปลี่ยนโฉมไป การได้เครื่องมือปราบทุจริตต้องชั่งน้ำหนักถึงคุณค่าที่ต้องแลกมา เช่น การละเมิดสิทธิในระบอบประชาธิปไตยว่าคุ้มค่ากันหรือไม่


นายสมชาย แสวงการ สนช. อภิปรายว่า การให้อำนาจป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊กได้เป็นภัยทางการเมืองต่อทุกคน อาจมีการดักฟังข้อมูลในทุกเรื่อง ถือว่าอันตรายต่อสิทธิเสรีภาพประชาชน หากยังเดินหน้าต่อไปจะมีผู้ยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอย่างแน่นอน


นายตวง อันทะไชย สนช.อภิปรายว่า การออกกฎหมายใดๆต้องพึงระวังเรื่องการละเมิดสิทธิเสรีภาพเกินสมควรแก่เหตุ อยากทราบว่าจะมีกลไกใดเข้าไปถ่วงอำนาจการสืบค้นข้อมูลส่วนตัวทางโทรศัพท์ ไลน์ เฟซบุ๊กได้ เพราะในอนาคตอาจมีการหยิบยกข้อมูลส่วนตัวเหล่านี้มาอภิปรายทำลายคู่ต่อสู้ทางการเมืองได้ เหมือนอย่างในอดีตที่เคยให้อำนาจกรมสอบสวนคดีพิเศษ(ดีเอสไอ)ล้นฟ้า สุดท้ายกลับตกเป็นเครื่องมือของนักการเมือง นำมาใช้กลั่นแกล้งคู่ต่อสู้ทางการเมือง ขอให้พิจารณาอย่างรอบคอบ


ขณะที่ฝั่งกมธ.เสียงข้างมาก พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานป.ป.ช. อภิปรายว่า การใช้คำว่าดักฟังเป็นการสร้างภาพที่น่ากลัว เพราะกมธ.เสียงข้างมากไม่มีเจตนาต้องการล่วงละเมิดสิทธิเสรีภาพประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 36 เพราะการจะใช้อำนาจตามมาตรา37/1 ได้ ต้องผ่านมติเห็นชอบจากคณะกรรมการป.ป.ช.ทั้ง 9 คนก่อนว่ามีเหตุผลเพียงพอที่จะขอยื่นอนุมัติต่อศาล เมื่อป.ป.ช.อนุญาตแล้วต้องส่งเรื่องให้อธิบดีศาลทุจริตและประพฤติมิชอบให้ความเห็นชอบด้วย ไม่ใช่แค่ให้ผู้พิพากษาทั่วไปอนุญาต ที่สำคัญฐานความผิดที่เข้าข่ายใช้มาตรา37/1ได้ ต้องเป็นเรื่องสำคัคญมีผลกระทบในวงกว้าง เมื่ออธิบดีศาลฯอนุญาตแล้ว ป.ป.ช.จะมีเวลาไม่เกินครั้งละ90 วันในการใช้อำนาจตามมาตราดังกล่าว ส่วนข้อมูลที่ได้มา จะใช้เฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคดีเท่านั้น ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวกับคดีจะถูกทำลายทันที ป.ป.ช.ไม่มีเจตนาจะละเมิดสิทธิประชาชน แต่จะทำทุกทางเพื่อตรวจสอบการทุจริต


พล.ต.อ.ชัชวาลย์ อภิปรายว่าเรื่องการให้อำนาจป.ป.ช.สืบค้นข้อมูลทางโทรศัพท์นั้น ยืนยันว่า กมธ.ไม่มีเจตนาทำลายล้างใคร แต่เป็นการทำเพื่อประโยชน์ทางคดี เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล จึงมีความจำเป็นต้องให้อำนาจส่วนนี้ โดยมีกฎหมายรองรับอย่างชัดเจน ซึ่งการดักฟังข้อมูลทางโทรศัพท์ต้องผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการ ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งเห็นชอบก็ทำได้ เมื่อผ่านความเห็นจากคณะกรรมการแล้ว ยังต้องขออนุญาตจากศาลอีกครั้ง รวมถึงต้องเป็นคดีที่เป็นภัยร้ายแรงต่อสาธารณะด้วยผู้สื่อข่าวรายงานว่า การอภิปรายในมาตราดังกล่าวสมาชิกสนช.หลายคนอภิปรายไม่เห็นด้วยกับการเพิ่มเติมมาตราทา 37/1 โดยใช้เวลาการอภิปรายนานหลายชั่วโมง แต่ยังไม่มีข้อสรุป ทำให้นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. ทำหน้าที่ประธานในขณะนั้น ได้สั่งพักการประชุมเป็นเวลา 10 นาทีเพื่อให้กรรมาธิการฯทั้งเสียงข้างมาก ข้างน้อยและสมาชิกไปหารือนอกรอบ หลังการหารือเสร็จนายพรเพชร ได้เปิดประชุมและแจ้งว่า กรรมาธิการฯเสียงข้างมากยังคงยืนยันไม่ถอน มาตรา 37/1 ที่ถูกท้วงติง แต่เนื่องจากยังมีประเด็นที่สนช.อภิปรายไม่ครบถ้วนจึงขอเลื่อนการประชุมเป็นวันที่ 22 ธ.ค.เวลา 9.00 น.

logoline