svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ท่าทีองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ต่อเชื้อเพลิงถ่านหิน "ต้องเดินตามนโยบายรัฐ" !

29 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

สัมภาษณ์พิเศษ นางประเสริฐสุข จามรมาน ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ในวันที่สถานการณ์คัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินร้อนระอุ และสภาวะโลกร้อนทวีความรุนแรงมากขึ้น ...



นางประเสริฐสุข จามรมาน  ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก  กล่าวว่าอุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้น 2 องศา เป็นเรื่องที่ทุกทั่วโลกให้ความสำคัญ ผลกระทบที่ตามมาที่เห็นชัด คือ โรคที่เกิดขึ้นใหม่ โรคที่อุบัติซ้ำ เช่นโรคไข้เลือดออกพบเพิ่มขึ้นทุกปี เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังและเตรียมพร้อม  อีกเรื่องคือเรื่องความมั่นคงทางอาหาร อุณภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้ผลผลิตตกต่ำลง เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนวิธีทำการเกษตร  ปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงโคนม โคเนื้อ หรือแม้กระทั่งสุกร ทำอย่างไรให้ผลผลิตเพียงพอ นอกจากนั้นที่สำคัญคือการใช้พลังงาน ถ้าเราใช้พลังงานอย่างประหยัดก็เท่ากับช่วยกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้

"ทางที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกทางหนึ่ง คือการเพิ่มพื้นที่ป่า จะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ร้อยละ 20 ดังนั้นทุกคนต้องช่วยกันดูแลรักษาป่า และช่วยกันปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น" 

นางประเสริฐสุข  ยอมรับว่าเรื่องของถ่านหินเป็นเรื่องที่หลายประเทศยังให้ความสำคัญอยู่ และขณะเดียวกันหลายประเทศมีเทคโนโลยีก้าวหน้า พยายามลดการใช้ถ่านหินน้อยลง ประเทศไทยจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าเราจะสามารถลงทุนในเรื่องรักษาพลังงานให้มั่นคงได้อย่างไร อย่าลืมว่าพลังงานต้องมีเสถียรภาพ แล้วถ้าต้องการพลังงานที่มีเสถียรภาพ มันควรจะมาจากแหล่งใดบ้าง นี่เป็นรายละเอียดที่เราต้องมาพูดคุยหารือกัน

"โดยทั่วไปแล้วในภาพรวมทางวิชาการแน่นอนว่าถ่านหินก็ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งเป็นก๊าซเรือนกระจก แต่มันก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่สามารถทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากถ่านหินลดน้อยลงไปได้ แต่การที่ลดน้อยลงไปนี้ ประเทศแต่ละประเทศมีการยอมรับในระดับที่แตกต่างกัน สำหรับประเทศไทย  นอกจากกระบวนการทาง EIA หรือ EHIA แล้ว เราต้องพูดถึงทิศทางการพัฒนาพลังงานของเราด้วย ว่าเราต้องการจะใช้พลังงานประเภทไหน เพื่อความมั่นคงของประเทศเรา" 

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก มีมุมมองอย่างไรต่อนโยบายการใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน  นางประเสริฐสุข  ตอบว่า เป็นนโยบายของแต่ละหน่วยงาน องค์กรบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ดูเรื่องของการลดหรือส่งเสริมให้เกิดการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกที่มีประสิทธิภาพ มันต้องขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลด้วยว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นในระดับไหน ต้องดูปัจจัยหลายๆอย่างมาประกอบกัน คงไม่ได้ตัดสินใจในเรื่องอย่างใดอย่างหนึ่งในทันที เรื่องนี้ (ถ่านหิน) รัฐบาลก็ชัดเจน

เมื่อถามต่อว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก กังวลต่อนโยบายใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินของรัฐหรือไม่ ? เธอ บอกว่า เราส่งเสริมให้ลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก  แต่เราไม่จำเป็นที่ต้องลดในทุกๆอย่าง จนกระทั่งเราทำอะไรไม่ได้ อย่าลืมว่าหลักการของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศทุกประเทศ ต้องอยู่พื้นฐานของการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศด้วย ต้องอยู่บนหลักการ ว่าเราเองต้องการพัฒนาประเทศ ไปทิศทางไหนที่จะเกิดสมดุล 

"เรื่องนี้องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ไม่ได้บอกว่าไม่ควรใช้ถ่านหิน หรือจะบอกว่าจะส่งเสริมการใช้ถ่านหิน เป็นเรื่องของทิศทางประเทศที่เราต้องดูในภาพรวม จุดยืนขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกในฐานะที่เราเป็นที่เราเป็นหน่วยงานของรัฐ เราก็ต้องตอบสนองนโยบายของรัฐบาล เพราะตรงนี้เป็นหน้าที่ขององค์การ  เราไม่ได้เป็นองค์กรอิสระหรือ NGO แต่เราเป็นหน่วยงานของรัฐ เราต้องดูนโยบายของรัฐบาล รัฐ (คสช) ต้องการอย่างไร เราก็มีหน้าที่ที่จะสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลให้ไปในทิศทางนั้น เราไม่ได้พูดว่าคัดค้านหรือสนับสนุน แต่ขอตอบว่าต้องดำเนินการตามนโยบายของรัฐเป็นหลัก"

นางประเสริฐสุข  ทิ้งท้ายว่า ทุกคนต้องบอกได้ว่ามันปล่อยเท่าไหร่ จะบอกว่ารัฐบาลควรใช้หรือไม่ควรใช้ไม่ได้ รัฐบาลรู้ ไม่ต้องบอก ก็รู้อยู่แล้ว   

logoline