svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชาวบ้านเขาไม้แก้วยันค้านสร้างเตาเผาขยะ ระบุ! ทนปัญหามลพิษนาน 30 ปี แต่เมืองพัทยาไม่เคยเข้ามาดูแล

29 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ไม่เชื่อลมปาก! ชาวบ้านเขาไม้แก้วยันค้านสร้างเตาเผาขยะรองรับ Cluster ที่ 2 ของชลบุรี ระบุทนทุกข์ปัญหามลพิษมานานกว่า 30 ปี ร้องเรียนปัญหายาวนานแต่เมืองพัทยาไม่เคยเข้ามาดูแลแก้ไข

วันนี้ (29 พ.ย.) ที่อาคารเอนกประสงค์ โรงเรียนบ้านห้วยไข่เน่า อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เจ้าหน้าที่จากเมืองพัทยา พร้อมด้วยตัวแทนจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ ในฐานะที่ปรึกษาที่ได้รับการว่าจ้างของเมืองพัทยาในประมาณกว่า 4 ล้านบาท เพื่อทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวด ล้อมและศึกษาความเหมาะสมการก่อสร้างและบริหารจัดการกลุ่มพื้นที่ในการจัดการขยะมูลฝอย ในพื้นที่ Cluster กลุ่มที่ 2 ของจังหวัดชลบุรี โดยเชิญผู้นำชุมชน และชาวบ้านในพื้นที่บริเวณโดยรอบบริเวณบ่อทิ้งขยะแบบฝังกลบในพื้นที่ 140 ไร่ ของตำบลเขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี เพื่อทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับแผนการจัดสร้างเตาเผาขยะเพื่อรองรับปัญหาขยะในพื้นที่ของเมืองพัทยา อ.บางละมุง และ อ.สัตหีบ ซึ่งอยู่ในกลุ่ม Cluster ที่ 2 ของจังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นไปตามความ เห็นชอบของคณะทำงานบริหารจัดการขยะมูลฝอยชุมชนจังหวัดสะอาด เมื่อวันที่ 14 และ 22 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยแบ่งการจัดการปัญหาขยะในพื้นที่จังหวัดชลบุรีเป็น 5 กลุ่ม โดยในกลุ่มที่ 2 ได้มอบหมายให้เมืองพัทยาเป็นเจ้าภาพหลักในการบริหารจัดการศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยเพื่อผลิตพลังงาน เพื่อรองรับปริมาณขยะมูลฝอยจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรวม 16 แห่ง ในปริมาณขยะกว่า 856 ตันต่อวัน เพื่อมาทำการกำจัดในพื้นที่บ่อขยะของเมืองพัทยาเดิม ในพื้นที่ 140 ไร่ ม.4 บ้านห้วยไข่เน่า ต.เขาไม้แก้ว อ.บางละมุง จ.ชลบุรี โดยมุ่งเน้นที่ให้การจัดการเป็นไปอย่างถูกสุขลักษณะ ไม่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และพัฒนาการอย่างยั่งยืน
รศ.ดร.สมรัฐ เกิดสุวรรณ ที่ปรึกษาโครงการฯ ชี้แจงว่าหลังจากได้รับมอบหมายจากเมืองพัทยาให้เข้ามาทำการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมและความเหมาะสมในการก่อสร้างและบริหารจัดการขยะมูลฝอยในพื้นที่ Cluster กลุ่มที่ 2 ก็ได้ทำการสำรวจปริมาณขยะซึ่งพบว่าในกลุ่มนี้จะมีปริมาณขยะมากกว่า 1,000 ตันต่อวันซึ่งถือว่ามีปริมาณมาก ดังนั้นการจัดการปัญหาดังกล่าวคงจะดำเนินการใน 2 วิธีหลัก ซึ่งได้แก่ 1.การจัดทำระบบบีบอัดขยะในลักษณะแคปซูล ณ.จุดพักขยะ 3 แห่งจาก 3 พื้นที่ โดยระบบนี้จะดำเนินการในลักษณะระบบปิดเพื่อลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษกับชุมชน โดยจะมีการนำขยะที่จัดเก็บมาทำการพักไว้ก่อนจะนำมาเข้าเครื่องบีบอัดให้เป็นลักษณะของแคปซูลเพื่อไล่ความชื้น ซึ่งระบบนี้จะป้องกันทั้งปัญหาการรั่วซึมและมลพิษระหว่างขนถ่าย และ 2.จะได้ทำการขนส่งมายังโรงงานเตาเผาขยะ ซึ่งตามแผนจะใช้พื้นที่เดิมที่เมืองพัทยาในเขตตำบลเขาไม้แก้วเป็นจุดสร้างในงบประมาณกว่า 500-1,000 ล้านบาทตามปริมาณของขยะที่เกิดขึ้น โดยโรงงานเตาเผาขยะนี้ก็จะจัดทำเป็นระบบปิดเช่นกัน โดยใช้การเผาทำลายแทนการฝังกลบแบบเดิมด้วยเตาเผาที่มีอุณหภูมิความร้อนกว่า 700 องศาเซลเซียส ซึ่งจากอุณหภูมิขนาดนี้จะทำให้ปริมาณขยะจาก 100 ตันจะเหลือเพียงขี้เถ้าในสัดส่วน 20 % เท่านั้น ขณะที่ปัญหาของกลิ่นและควันจะมีการใช้ความร้อนผาทำลาย ซึ่งสามารถสลายได้ทั้ง กลิ่น เชื้อโรค และสัตว์พาหะ จากนั้นจึงจะนำขี้เถ้าไปฝังกลับและบำบัดน้ำก่อนปล่อยลงสู่แหล่งธรรมชาติ ขณะที่ความร้อนที่ได้ก็จะนำไปผลิตกระแสไฟ ซึ่งจะได้พลังงานกว่า 12 เมกะวัตต์มาใช้ประโยชน์ต่อไป โดยระบบนี้ถือว่าเป็นระบบสากลที่ใช้กันมานานกว่า 100 ปี และเปิดใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในทวีปเอเชีย และยุโรป
อย่างไรก็ตามแผนการนี้เป็นการรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและชี้แจงรายละเอียดเบื้องต้น ก่อนจะทำประชาพิจารณารับฟังความคิดเห็นจากประชาชนรวม 3 ครั้ง จากนั้นจะได้รวบรวมเสนอเป็นแผนส่งต่อไปยังนายกเมืองพัทยาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ด้าน นายจำเนียร กีทีปกูล นายก อบต.เขาไม้แก้ว ระบุว่าจากการนำเสนอพบว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาชาวบ้านเขาไม้แก้วเสียสละให้เมืองพัทยามานานแล้วกว่า 30 ปี กระทั่งมีปัญหามลพิษ ซึ่งแม้จะพยายามร้องให้แก้ไขแต่ก็ไม่มีความคืบหน้า สุดท้ายจึงไม่ยินยอมให้มีการขนขยะมาทิ้งอีกจนถึงปัจจุบัน แม้กระทั่งปัจจุบันปัญหาน้ำเสียก็ยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังไม่ได้รับการดูแลแก้ไข
ขณะที่ชาวบ้านรายหนึ่ง ระบุว่าการชี้แจงของที่ปรึกษาโครงการระบุว่าโรงงานเป็นระบบปิดไม่สร้างมลพิษ และในหลายประเทศจัดสร้างอยู่กลางพื้นที่ชุมชนในเขตเมือง จึงไม่เข้าใจว่าทำไมจะต้องมาดำเนิน การในพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้วอีกแทนที่จะไปหาพื้นที่ใหม่บริหารจัดการแทน ที่กล่าวเช่นนี้เพราะที่ผ่านมาชาว บ้านต้องทนทุกข์กับมลพิษนานาชนิดนานกว่า 30 ปี สัญญาที่เคยทำร่วมกับเมืองพัทยาที่มีการลงนามเป็นลายลักษณ์อักษรว่าจะใช้งานแค่ 10 ปีหรือรอให้ขยะเต็มบ่อก็จะยุติ แต่สุดท้ายก็ไม่ดำเนินการจะมีแต่การนำขยะมาทิ้งเพิ่มจนล้นพื้นที่จัดเก็บ ขณะที่ปัญหาเรื่องมลพิษของกลิ่น น้ำเน่าเสีย และอื่นๆ ทางสำนักสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ซึ่งรับผิดชอบดูแลก็ไม่เคยมาใส่ใจแก้ปัญหาให้ แม้จะมีการนำเอกสารร้องเรียนไปนับร้อยนับพันฉบับก็ตาม จนปัจจุบัน สวน ไร่ นาของชาวบ้านมีสภาพที่เสียหายอย่างหนัก น้ำใต้ดินปน เปื้อนสารพิษ ขยะเดิมก็ไม่มีแผนบริหารจัดการ ราคาที่ดินตกต่ำ ที่สำคัญผังเมืองชลบุรีที่ประกาศไว้ว่าพื้นที่ตำบลเขาไม้แก้วเป็นพื้นที่สีเขียวหรือพื้นที่เกษตรกรรม แต่รัฐจะมายกเว้นเพื่อทำที่กำจัดขยะหรือโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ถือว่าถูกต้องหรือไม่
ทั้งนี้ในช่วงท้ายของการประชุมได้มีกลุ่มชาวบ้าน ผู้นำชุมชน และเด็กนักเรียน พากันถือป้ายประ ท้วงแผนดำเนินการดังกล่าว โดยระบุว่าไม่อยากให้ใช้พื้นที่ของตำบลเขาไม้แก้วเป็นจุดกำจัดขยะมูลฝอยอีกต่อไป ซึ่งกรณีนี้ทางที่ปรึกษาจะได้นำผลการหารือที่ได้ไปสรุปรวมเสนอผู้เกี่ยวข้อง และปรับแผนในการดำ เนินการต่อไป

logoline