svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชี้ผู้ป่วยแม่สอด ติดเชื้อแอนแทรกซ์ จากเนื้อแพะ

29 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุผลตรวจผู้ป่วยที่แม่สอด ติดเชื้อแอนแทรกซ์ 2 ราย ตรวจสอบพบมีประวัติการชำแหละเนื้อแพะที่ตายผิดธรรมชาติมากิน


จากกรณีที่กรณีชาวบ้านแม่โกนเกน ต.มหาวัน อ.แม่สอด จ.ตาก ได้บริโภคเนื้อแพะ ก่อนมีอาการป่วยและเข้ารับการรักษาที่ รพ.แม่สอด และเกิดสงสัยว่าเป็นโรคแอนแทรกซ์ จึงได้มีการส่งตรวจเชื้อทางห้องปฏิบัติการกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ล่าสุด นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัด ก.สาธารณสุข เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ถึงผลการตรวจสอบหาเชื้อของ 2 ผู้ต้องสงสัยติดเชื้อดังกล่าว โดยผลพบว่า 1 รายมีผลเป็นบวกติดเชื้อแอนแทรกซ์ ส่วนอีก 1 รายผลการตรวจรอบแรกไม่พบเชื้อ

ส่วนผู้ป่วยอีก 1 ราย ซึ่งผลยังไม่ออก แต่เนื่องจากมีลักษณะอาการและแผลเหมือนกัน จึงคาดว่าติดเชื้อเช่นกัน จึงสรุปว่ามีการติดเชื้อแอนแทรกซ์ทั้ง 2 คน สำหรับที่มาของการติดเชื้อแอนแทรกซ์คือ การนำแพะที่ตายแล้วจากประเทศเพื่อนบ้านมาชำแหละ แล้วมือคลุกเคล้าตอนทำอาหาร จากนั้นจึงเกิดแผลดังกล่าวขึ้นมา

ความเสี่ยงการติดเชื้อแอนแทรกซ์ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย มีการติดต่อได้ 3 ทาง คือ 1.ผิวหนัง เช่น 2 รายนี้ คือเชื้อโรคเข้าทางแผลที่ผิวหนัง ซึ่งมีโอกาสเสียชีวิต 20% 2.ทางเดินหายใจ คือเข้าทางปอด ทำให้มีอาการหายใจลำบาก โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นเป็น 50% และ 3.ทางเดินอาหาร คือ เกิดจากการกินเนื้อสัตว์สุกๆ ดิบ การรับเชื้อทางนี้ถือว่าอันตรายที่สุด มีโอกาสเสียชีวิตถึง 80%

นพ.เจษฎา กล่าวด้วยว่า การป้องกันเชื้อแอนแทรกซ์ที่ดีที่สุดคือหลีกเลี่ยงสัตว์ที่ป่วยตายผิดธรรมชาติ ซึ่งเชื้อแอนแทรกซส่วนใหญ่มักพบในแพะ แกะ วัว และควาย ซึ่งหากพบสัตว์เหล่านี้ตายผิดธรรมชาติให้รีบแจ้งปศุสัตว์ วิธีทำลายที่ดีที่สุดคือการเผา ซึ่งเชื้อจะตายจากการเผาที่อุณหภูมิ 100 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 30 นาที ไม่ควรฝังลงพื้นดิน เพราะเชื้อสปอร์สามารถอยู่ได้เป็นสิบๆ ปี และไม่ควรนำเนื้อสัตว์เหล่านี้มากินเด็ดขาด แม้จะทำให้สุกก็ตาม

logoline