svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

ชะตากรรม "ครูจอมทรัพย์" ทำวงการแพะสะเทือน?

25 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ต้องเรียกว่าชีวิตพลิกผันแบบ 360 องศา สำหรับ "ครูจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร" อดีต "ครูแพะ" ที่สังคมพากันเห็นใจเพราะเชื่อกันเกือบทั้งประเทศว่าต้องติดคุกฟรีทั้งที่ไม่ได้กระทำผิดฐานขับรถชนคนตายเมื่อปี 2548

แต่แล้วเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษา "ยกคำร้อง" ขอรื้อฟื้นคดี ไม่เพียงผลกระทบที่เกิดกับอนาคตทางราชการของครูจอมทรัพย์ที่อาจถึงขั้นปิดตาย 100% เท่านั้น แต่การที่ "นายสับ วาปี แอนด์เดอะแก๊ง" แผลงฤทธิ์ ยอมรับสารภาพหน้าตาเฉยว่ารับจ้างด้วยเงิน 4 แสนบาทเพื่อ "สมอ้าง" รับผิดแทนครูจอมทรัพย์ นั่นทำให้เส้นทางชีวิตอดีตครูแพะที่วันนี้สังคมพากันขนานนามว่า "ครูแกะ" เข้าขั้นวิกฤติ และเสี่ยงต้องติดคุกติดตะรางกันอีกรอบ

ล่าสุด "ครูจอมทรัพย์" ถูกศาลอนุมัติหมายจับใน 2 ข้อหา คือ "นำสืบหรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดี" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 180 ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และข้อหาซ่องโจร คือ "สมคบกันตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป เพื่อกระทำความผิดอย่างหนึ่งอย่างใด" ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 210 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เฉพาะ 2 ข้อหานี้ โทษจำคุกสูงสุดรวมกันก็สูงถึง 12 ปีแล้ว

แต่ครูจอมทรัพย์อาจไม่ได้โดนดำเนินคดีแค่ 2 ข้อหานี้เท่านั้น เพราะยังมีความผิดอื่นที่เกี่ยวเนื่องกันอีก บัญญัติไว้ในมาตรา 177 ของประมวลกฎหมายอาญา คือข้อหา "เบิกความเท็จ" ระบุว่า "ผู้ใดเบิกความอันเป็นเท็จในการพิจารณาคดีต่อศาล ถ้าความเท็จนั้นเป็นข้อสำคัญในคดี ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ" และเมื่อคดีนี้เป็นคดีอาญา จึงเข้าข่าย "บทหนัก" ต้องระวางโทษจำคุกเพิ่มเป็น 7 ปี ปรับไม่เกิน 140,000 บาท

แนวทางการดำเนินคดีของตำรวจ เป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลฎีกาที่ให้ยกคำร้องขอรื้อคดีของครูจอมทรัพย์ โดยศาลระบุชัดว่า เรื่องนี้มีขบวนการว่าจ้างให้มีการรับสมอ้างว่าเป็นผู้ขับรถชนคนตาย เพื่อรับผิดแทนครูจอมทรัพย์ การที่ศาลเชื่อแบบนี้ และเขียนไว้ในคำพิพากษาด้วย ถือว่ามีน้ำหนักมากว่ามีขบวนการรับจ้างติดคุกแทนจริงๆ

ชะตากรรมของครูจอมทรัพย์ที่อาจต้องโดนดำเนินคดีและเสี่ยงติดคุกอีกรอบ "เนชั่นทีวี" ได้สอบถามข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย ได้ความว่า ครูจอมทรัพย์ยังมีโอกาสต่อสู้คดีเพื่อให้พ้นผิด เพราะการเบิกความเท็จ หรือแสดงพยานหลักฐานอันเป็นเท็จต่อศาล เจ้าตัวต้องมีเจตนาด้วย คือต้องรู้อยู่แล้วว่า "คำเบิกความ" หรือ "พยานหลักฐาน" นั้นเป็นเท็จ ถ้าหากไม่รู้ หรือเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจว่าเป็นพยานหลักฐานจริง ก็ต้องถือว่าขาดเจตนา ไม่ครบองค์ประกอบของความผิด

เช่นเดียวกับข้อหา "ซ่องโจร" ที่กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่าต้อง "สมคบกัน" ฉะนั้นครูจอมทรัพย์ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าตนเองไม่ได้รู้เห็นกับขบวนการรับจ้างติดคุกแทน หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ "สมคบกัน" มาตั้งแต่แรก หากพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ก็ยังพอมีทางรอด

ผลสะเทือนจากคดีครูจอมทรัพย์ มีบางประเด็นที่ถูกหยิบไปถกเถียงกันในสังคม โดยเฉพาะในแวดวงนักกฎหมาย ก็คือการที่ตำรวจย้อนกลับมาเล่นงานครูจอมทรัพย์แบบ "จัดหนัก" หลังจากศาลฎีกายกคำร้องการขอรื้อฟื้นคดี จะทำให้กระบวนการขอรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ ซึ่งมีเงื่อนไขยากเย็นอยู่แล้ว ทำได้ยากมากขึ้นไปอีกหรือไม่ จนอาจส่งผลให้คนที่เป็น "แพะจริงๆ" อาจไม่กล้าขอรื้อฟื้นคดีหรือไม่ เพราะถ้าพลาด อาจโดนแบบครูจอมทรัพย์

กฎหมายว่าด้วยการรื้อฟื้นคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ บังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2526 นับถึงปัจจุบัน 34 ปี ยังไม่เคยมีคดีไหนรื้อได้สำเร็จเลยแม้แต่คดีเดียว สะท้อนถึงความยากของเงื่อนไขการขอรื้อคดี ยิ่งกรณีของครูจอมทรัพย์ตกเป็นข่าวเกรียวกราว จาก "แพะ" กลายเป็น "แกะ" หนำซ้ำยังอาจต้องเดินเข้าเรือนจำอีกรอบ อาจยิ่งส่งผลตอกย้ำทางความรู้สึกว่า กระบวนการรื้อฟื้นคดี ใช้การไม่ได้จริง หรือไร้ผลในทางปฏิบัติ

ช่วงที่ผ่านมามีการขอรื้อคดีอาญาขึ้นพิจารณาใหม่ โดยผ่านทางกระทรวงยุติธรรม ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นการดำเนินการโดยมี "หน่วยงานรัฐ" เป็นพี่เลี้ยง ย้อนดูสถิติจะพบว่ามีคดีที่ขอรื้อฟื้นรวม 3 คดี คือ หนึ่ง คดี นายพัสกร สิงคิ หนุ่มใบ้ชาวสิงห์บุรี ผู้ต้องโทษคดีร่วมกันฆ่าผู้อื่น ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 20 ปี ต่อมาศาลอุทธรณ์มีคำสั่งให้รื้อฟื้นคดี แต่ศาลฎีกายกคำร้อง สอง คดีของครูจอมทรัพย์ ซึ่งก็เพิ่งทราบผลกันไปเมื่อไม่นานนี้ และ สาม คดี นางจารุพรรณ วุ่นสุวรรณ ตกเป็นจำเลยในข้อหาจ้างวานฆ่าสามี นายจงรักษ์ วุ่นสุวรรณ เจ้าของร้านเครื่องเขียน ใน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ศาลฎีกาพิพากษาจำคุกตลอดชีวิต ปัจจุบันศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ขณะนี้คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลว่าจะกลับคำพิพากษาเดิมหรือไม่

ปฏิเสธไม่ได้ว่าบนเส้นทางของกระบวนการยุติธรรมไทย มี "แพะ" เกิดขึ้นไม่น้อยเลย ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มาจากปัญหาการรวบรวมพยานหลักฐานในชั้นสอบสวน แม้แต่คดีครูจอมทรัพย์ / หากตัดประเด็นที่มีขบวนการรับจ้างติดคุกออกไป / คดีนี้ก็มีข้อสงสัยในสำนวนการสอบสวนหลายข้อ จนทำให้ศาลอุทธรณ์เคยพิพากษายกฟ้องมาแล้ว / การที่วันนี้ทุกฝ่ายเลือกให้ความสำคัญเฉพาะกับการเล่นงาน "ครูจอมทรัพย์" กับ "ขบวนการรับจ้างติดคุก" โดยละเลยที่จะพูดถึงข้อบกพร่องในงานสอบสวนของตำรวจ จึงน่าจะไม่เป็นธรรมนัก

และสุดท้ายคดีครูจอมทรัพย์ก็จะกลายเป็นแค่เครื่องมือสร้างผลงานและความสะใจของบางฝ่าย โดยที่ปัญหาในกระบวนการสอบสวนรวบรวมพยานหลักฐานซึ่งยังมีช่องโหว่อีกมากมาย ยังคงถูกซุกไว้ใต้พรมเหมือนเดิม

logoline