svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

กม.ใหม่อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย -ไม่นับคดีอายุความ "ทักษิณ" หนีตลอดชีวิต คิวต่อไป ใคร?

21 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เช้าวันที่ 21 พฤศจิกายน อัยการสูงสุด แถลงข่าว มีคำขอให้ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดำเนินกระบวนการพิจารณาคดีต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ตามกฎหมายใหม่เป็นครั้งแรก กับ 2 คดี ของนายทักษิณ ชินวัตร


หลังมีการตราพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง พ.ศ. 2560 อัยการสูงสุดจึง ตั้งคณะทำงานพิจารณาสำนวนคดี ที่ดำเนินการโดยคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อรัฐ และสำนวนที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติดำเนินการต่อ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม ที่ผ่านมา 

คณะทำงานชุดนี้ได้ตรวจสอบแล้วพบว่า มีคดีที่เกี่ยวข้องที่ต้องพิจารณาคดีลับหลังจำเลย ตามกฎหมายใหม่ คือ สำนวนที่อัยการสูงสุดเคยยื่นฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี มีรวมอยู่ด้วยกัน 2 สำนวน  คือ  คดีธนาคารกรุงไทยปล่อยกู้บริษัท กฤษดามหานคร  ซึ่ง นายทักษิณ  หลบหนีคดีไปในการพิจารณาคดีนัดแรก  และศาลออกหมายจับเมื่อ 11 ต.ค.  2555 และศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว  และ คดีทุจริตแปลงสัมปทานมือถือ - ดาวเทียม เป็นภาษีสรรพสามิต เป็นการออกหมายจับเมื่อวันที่ 15 ต.ค. 51  เนื่องจาก นายทักษิณ หลบหนีคดีในการพิจารณาคดีนัดแรกและศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว

โดยวันนี้ อัยการสูงสุด ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้มีคำสั่งยกเลิกคำสั่งจำหน่ายคดีชั่วคราว และมีคำสั่งดำเนินกระบวนพิจารณาคดีต่อไปโดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย ไปแล้ว 

แต่สำหรับคดีของนายทักษิณ ที่อยู่ระหว่างพิจารณาคดีในชั้นศาล นอกจาก 2 คดี นี้ยังมี คดีทุจริตโครงการออกสลากพิเศษเลขท้าย 2 และ 3 ตัว (หวยบนดิน ) เป็นการออกหมายจับเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 51  เนื่องจาก นายทักษิณ  หลบหนีคดีในการพิจารณาคดีนัดแรกและศาลสั่งจำหน่ายคดีไว้ชั่วคราว และ คดีทุจริตปล่อยกู้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงค์) ให้กับรัฐบาลพม่าวงเงิน 4,000 ล้านบาท เป็นการออกหมายจับ นายทักษิณ เมื่อ 16 ก.ย. 2551 เนื่องจาก พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีคดี ในการพิจารณาคดีนัดแรก 

สำหรับ 2 คดีที่อัยการฟื้นคดีใหม่ ตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ฉบับใหม่  ไม่ว่า นายทักษิณ จะหนีคดีไปนานแค่ไหน ก็ไม่ขาดอายุความ และ สามารถพิจารณาคดี ไต่สวนพยานต่อไปได้ ไม่ต้องพักไว้เหมือนเดิมอีกต่อไป    

และถ้าไปดู คดีนักการเมืองรายอื่นที่อยู่ระหว่างหลบหนีคดี ก็พบคดีของนายวัฒนา อัศวเหม คดีที่ดินคลองด่าน อดีต รมช. มหาดไทย  ปัจจุบันอยู่ระหว่างการหลบหนีหมายจับคำพิพากษาจำคุก  จากการที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2551 ในคดีที่นายวัฒนา อัศวเหม อดีต รมช.มหาดไทย เป็นจำเลย ในกรณีสืบเนื่องจากนายวัฒนาใช้อำนาจข่มขู่ หรือชักจูงใจให้ผู้อื่นร่วมออกโฉนดที่ดิน 1,900 ไร่ ทับที่คลองสาธารณประโยชน์ เพื่อนำไปขายให้กรมควบคุมมลพิษเพื่อก่อสร้างโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จังหวัดสมุทรปราการ โดยศาลพิพากษาลงโทษจำคุกนายวัฒนา 10 ปี อายุความคดี 15 ปี (ครบ 18 ส.ค. 2566)

และคดีของนายประชา มาลีนนท์  อดีต รมช.มหาดไทย คดีทุจริตจัดซื้อเรือ-รถดับเพลิง กทม. ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่ง มีคำพิพากษาเมื่อ 10 ก.ย. 2556 จำคุก 12 ปี นายประชาหลบหนีคดีไป อายุความคดี 15 ปี  (ครบ 10 ก.ย. 2571 ) 

*****************************

สาระสำคัญ เนื้อหาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่า ด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งการเมือง พ.ศ. 2560 

          -ศาลรับฟ้องคดีได้ แม้ยังไม่ได้ตัวผู้ถูกกล่าวหา  (มาตรา 26 )

          -พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้(มาตรา 27 วรรคสอง  กรณีศาลได้รับฟ้องไว้แล้วและมีหมายเรียกแต่จำเลยไม่มาศาล และได้มีการออกหมายจับ แต่ไม่สามารถจับจำเลยได้ภายใน 3 เดือน นับแต่ออกหมายจับ  ให้ศาลมีอำนาจพิจารณาคดีได้ โดยไม่ต้องกระทำต่อหน้าจำเลย) 

         -หนีคดีไม่ขาดอายุความไม่ว่าจะหนีในชั้นพิจารณาคดีหรือหลังศาลมีคำพิพากษา (มาตรา  24/1 วรรคสอง  ในกรณีที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจำเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี หรือระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ไม่ให้นับอายุความ  และวรรคสาม ในกรณีที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ  ไม่นับอายุความ ) 

        -ถอนฟ้องคดีไม่ได้(มาตรา 29 เมื่อศาลประทับรับฟ้องแล้ว ห้ามมิให้ศาลอนุญาตให้ถอนฟ้อง) 

        -อุทธรณ์คดีได้ง่ายกว่าเดิม ไม่จำเป็นต้องมีหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญของคดีก็อุทธรณ์ได้ (มาตรา 59 คำพิพากษาของศาลให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน  30 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา)

        -จะยื่นอุทธรณ์คดีได้ จำเลยต้องมาศาล (มาตรา 60)

         ที่สำคัญ ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ มี บทเฉพาะกาล ให้นำร่างกฎหมายฉบับนี้มาใช้บังคับกับคดีที่มีอยู่ก่อน ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ใช้บังคับได้   

          โดยในมาตรา 67   ในบทเฉพาะกาลบัญญัติว่า  บทบัญญัติในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนี้ ไม่กระทบต่อการดำเนินการใด ในคดีที่ยื่นฟ้องไว้ก่อน พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญนี้ใช้บังคับ  ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนวันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนี้ใช้บังคับ ส่วนการดำเนินการต่อไปนี้ให้ดำเนินการตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญนี้

logoline