svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

แรงงานไทยแฉแหลก ถูกบริษัทฯจัดหางานไทยลอยแพที่เมืองดูไบ

17 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

เหยื่อแรงงานไทยแฉแหลก ถูกบริษัทฯจัดหางานในประเทศไทยลอยแพ ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ แถมถูกยึดพาสปอร์ต กินหัวคิว 2.5 หมื่นบาท พร้อมบังคับให้ลงชื่อไม่เอาผิดกับนายจ้างหน้าเลือด


จากกรณีกลุ่มแรงงานไทยกว่า 100 คน ที่เดินทางไปทำงานที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยบริษัทจัดหางานเป็นผู้ดำเนินการให้ แต่เมื่อไปทำงานตำแหน่งที่แรงงานสมัครไป กลับไม่ตรงกับตำแหน่งที่บริษัทจ้างงานที่เมืองดูไบต้องการ ทำให้แรงงานถูกยกเลิกการจ้างงาน และต่อมาถูกบริษัทจัดหางานในประเทศไทยลอยแพ ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศไทยได้ ซึ่งขณะนี้ทางการไทยหลายหน่วยงาน ประกอบด้วยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงแรงงาน เจ้าหน้าที่พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และตำรวจกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ ได้ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือ แรงงานไทยที่อยู่ในเมืองดูไบ เพื่อกลับสู่ประเทศไทยแล้วจำนวน 61 คน ล่าสุดวันนี้ได้เดินทางถึงไทยเพิ่มอีก 36 คน ซึ่งเป็นล๊อตที่ 5 รวมทั้งหมดเป็น 97 คน โดยทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ บก.ปคม. ได้นำตัวแรงงานทั้งหมดมาให้ข้อมูลถึงเรื่องดังกล่าว

ล่าสุดที่กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ เมื่อเวลา 15.00 น. วันที่ 17 พ.ย.2560 พล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง ผบก.ปคม. พร้อมด้วย พ.ต.อ.จิรเดช พระสว่าง รอง ผบก.ปคม. ร่วมกันชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ขณะนี้กำลังเรียกผู้เสียหายมาสอบปากคำ พร้อมกับทางเจ้าหน้าที่ พม. และ สตม. โดยขณะนี้กำลังรอคำสั่งจากทาง สตช. ว่าจะให้หน่วยงานใดดำเนินการ หากเป็นทาง ปคม.ก็พร้อมทำงานอย่างเต็มความสามารถ ทั้งนี้ คนงานที่ไปทำงานที่เมืองดูไบ มีทั้งหมด 130 คน ขณะนี้กลับมาแล้ว 97 คน ยังคงเหลืออีก กว่า 30 คน ที่อยู่ในระหว่างการช่วยเหลือกลับประเทศ เบื้องต้นทางตำรวจ ปคม. จะต้องสอบปากคำแรงงานทั้งหมด รวมถึงเรียกบริษัทนายหน้ามาสอบปากคำด้วย จากนั้นจึงจะสรุปว่าเข้าข่ายความผิดการค้ามนุษย์หรือไม่

เบื้องต้นคาดว่า น่าจะเข้าข่ายความผิดการค้าแรงงาน ผิดสัญญาจ้างงาน การโฆษณาชวนเชื่อ หรือการฉ้อโกงประชาชน เนื่องจากความผิดฐานค้ามนุษย์ ส่วนใหญ่นั้นแรงงานจะถูกกักขังหน่วงเหนี่ยว ไม่ให้ได้รับอิสรภาพ แตกต่างจากคดีนี้ที่แรงงานยังสามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ ส่วนกรณีการยึดพาสปอร์ตนั้น จะต้องพิจารณาถึงเจตนาของผู้ยึดก่อน ว่ามีเจตนากักขังหน่วงเหนี่ยวแรงงาน หรือเพียงเก็บรักษาเอกสารสำคัญ อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณกรมการกงสุลที่ทำหน้าที่สำคัญในการประสานงานช่วยเหลือแรงงานดังกล่าว

ขณะที่ นายสม (นามสมมติ) อายุ 36 ปี ซึ่งเป็นหนึ่งในแรงงานที่ถูกหลอกไปทำงาน เปิดเผยว่า ที่ผ่านมารู้จักกับบริษัทจัดหางานจากเพื่อนที่เคยไปทำงานด้วยกัน โดยทางบริษัทอ้างว่าจะจ้างให้ไปทำงานในตำแหน่งเชื่อมเหล็ก และจะได้ค่าจ้าง 5 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง โดยไปทำงานอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ผ่านทางกรมแรงงาน เเละมีสวัสดิการต่างๆ อาทิ ที่พัก ค่าอาหาร และการรักษาพยาบาล ซึ่งเมื่อข้อเสนอเป็นดังนี้ จึงได้ตกลงไปทำงานและจ่ายค่าดำเนินการ ประกอบด้วย ค่าตั๋วเครื่องบิน และค่าวีซ่า รวมจำนวน 25,000 บาท แต่เมื่อไปถึงกลับถูกยึดพาสปอร์ต และให้ทำงานในตำแหน่งงานที่ยากกว่า ซึ่งควรจะได้รับค่าจ้าง 7-8 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง อีกทั้งยังไม่ได้รับสวัสดิการตามที่ตกลงกันไว้ ต้องแอบทำอาหารในที่พักอย่างหลบๆซ่อนๆ อยู่กันอย่างยากลำบาก ทำให้แรงงานเกิดความไม่พอใจ และหยุดงานเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรม แต่กลับถูกทางบริษัท ที่ประเทศดูไบ ได้มีคำสั่งยกเลิกสัญญาโดยไม่จ่ายค่าจ้าง และบังคับให้แรงงานเซ็นยอมรับว่า มีการหยุดงานจริง เพื่อแลกกับการได้รับพาสปอร์ตคืน เพื่อเดินทางกลับประเทศ

ทางด้านนายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ในฐานะกรรมการปฏิรูปประเทศ (ด้านกระบวนการยุติธรรม) เปิดเผยว่า ตนได้รับติดต่อจากผู้เสียหายกลุ่มดังกล่าว จึงได้เข้าไปช่วยเหลือพร้อมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น ตำรวจ สตม. บก.ปคม. และกระทรวงแรงงาน ทั้งนี้ เมื่อสอบถามจึงทราบว่าคนไทยเหล่านี้ถูกหลอกไปทำงานเป็นช่างแรงงาน ตำแหน่งช่างเชื่อมที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมีเรตส์ ซึ่งบริษัทฯแห่งหนึ่ง (ยังไม่ขอเปิดเผยชื่อบริษัท) ที่หลอกคนงานเหล่านี้ไปทำงาน แต่สุดท้ายไม่ได้ทำ และทางดูไบไม่ยอมรับงาน แถมเก็บค่าหัวคิว และค่าดำเนินการไปคนละ 25,000 บาท ทั้งนี้ เมื่อต้องการกลับประเทญไทย กลุ่มแรงงานก็จะถูกบังคับให้เซ็นเอกสาร ว่าไม่ติดใจเอาความกับทางบริษัทที่นำไป หลังจากนี้จะเข้าข่ายการค้ามนุษย์หรือไม่ ต้องรอให้ตำรวจสอบปากคำ และดูข้อกฎหมาย รวมทั้งให้ผู้เสียหายหาหลักฐาน และใบโบว์ชัวรโฆษณาชวนเชื่อให้ตำรวจเป็นหลักฐานในการตรวจสอบ และดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป

logoline