svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

พบหนอนตัวแบนนิวกินี ในไทย! สัตว์รุกรานต่างถิ่นเลวร้ายระดับ 1 ใน 100 ของโลก

07 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้ก่อตั้งกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (siamensis.org) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสัตว์น้ำ ได้เผยแพร่บทความผ่านเว็บไซต์ siamensis.org เรื่อง รายงานการพบหนอนตัวแบนนิวกินี สัตว์รุกรานต่างถิ่นเลวร้ายระดับ 1 ใน 100 ของโลกในประเทศไทย โดยระบุว่า ..

หนอนตัวแบนนิวกินี เป็นหนอนที่มีถิ่นกำเนิดในนิวกินี เมื่อโตเต็มที่แล้วมีลำตัวยาวประมาณ 5-6 เซนติเมตร ปลายแหลมทั้งสองด้านแต่ด้านที่เป็นหัวจะแหลมเล็กกว่า สีด้านหลังเป็นสีน้ำตาลเข้มและมีลายสีน้ำตาลอ่อนพาดกลางลำตัวตามแนวยาว ด้านท้องสีขาวและมีจุดสีขาวเล็กๆค่อนไปทางด้านหางซึ่งเป็นส่วนปาก

หนอนชนิดนี้กินหอยทากเป็นอาหารหลักและถ้าไม่สามารถหาหอยทากกินได้ ยังมีรายงานกินทากเปลือยและไส้เดือนด้วย ในการล่านั้นหนอนตัวแบนจะเลื้อยออกหากินในเวลากลางคืนและตามล่าหอยทากด้วยการตามกลิ่นเมือกไป โดยการกินหอยทากนั้นหนอนจะปล่อยน้ำย่อยออกมาย่อยเนื้อหอยทากก่อนที่จะดูดกินเข้าไป

หนอนตัวแบนชนิดนี้มีรายงานถูกปล่อยและหลุดออกสู่ธรรมชาตินอกถิ่นอาศัยตามธรรมชาติหลายแห่งและมีรายงานรุกรานกินหอยทากท้องถิ่นจนสูญพันธุ์ ทำให้สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ (IUCN) จัดให้หนอนตัวแบนนิวกินีเป็น หนึ่งในร้อยสัตว์รุกรานต่างถิ่นที่น่ากลัวที่สุดของโลก (100 of the World's Worst Invasive Alien Species)

ทั้งนี้นอกจากประเทศในหมู่เกาะมหาสมุทรแปซิฟิคแล้วหนอนตัวแบนนิวกินียังมีรายงานรุกรานในประเทศฝรั่งเศส รัฐฟลอริด้าของประเทศสหรัฐอเมริกา และที่ใกล้ประเทศไทยที่สุดคือประเทศสิงคโปร์

โดยรายงานในประเทศไทยนั้นถือเป็นรายงานแรกในผืนทวีปหลักของเอเชีย (Mainland Asia) โดยปัญหาที่เอเลี่ยนชนิดนี้ก่อขึ้นในประเทศแถบหมู่เกาะแปซิฟิคที่ตั้งใจปล่อยเพื่อไปกำจัดหอยทากยักษ์แอฟริกา(สัตว์ต่างถิ่น)ที่เป็นศัตรูพืช พบว่าหนอนตัวแบนนิวกินีไม่ได้ล่าแต่หอยทากยักษ์แต่กลับไล่ล่าหอยทากเฉพาะถิ่นจนสูญพันธุ์ไปเป็นจำนวนมาก

โดยหนอนตัวแบนนิวกินีนั้นเมื่ออยู่นอกถิ่นอาศัยก็ขาดการควบคุมจำนวนประชากรเนื่องจากไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติจนเพิ่มจำนวนขึ้นมากมาย ทั้งนี้หนอนชนิดนี้มีสองเพศในตัวเดียว แต่การสืบพันธุ์ต้องมีหนอนสองตัวจึงจะวางไข่ได้ นอกจากนั้นถ้าหนอนตัวขาดก็จะสามารถเติบโตแยกร่างได้

สำหรับรายงานการพบในประเทศไทยนั้น เริ่มจากคุณมงคล อันทะชัย ได้แปะภาพหนอนตัวแบนนิวกินีกำลังกินหอยทากในบริเวณบ้านแถบอำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2560 ในกลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ (siamensis.org) เพื่อสอบถามว่าเป็นสัตว์ชนิดใด

ซึ่งอาจารย์ยิ่งยศ ลาภวงศ์ ได้ระบุชนิดว่าเป็นหนอนตัวแบนนิวกินี ต่อมาทางกลุ่มสยามเอ็นสิส โดยดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์และนายจิรวัฒน์ ผลเพิ่มพูล ได้ตามไปเก็บตัวอย่างที่บ้านคุณมงคลเพื่อยืนยัน จนมั่นใจว่าเป็นชนิดดังกล่าวจริงๆ
หนอนตัวแบนนิวกินีนี้นอกจากจะเป็นภัยต่อหอยทากท้องถิ่นของประเทศไทย ซึ่งหลายชนิดมีการกระจายพันธุ์ที่แคบและมีความสวยงามมากนั้น ยังเป็นพาหะแพร่เชื้อ Angiostrongylus cantonensis หรือพญาธิปอดหนู/พญาธิหอยโข่ง ซึ่งติดต่อสู่คนได้

โดยพยาธิดังกล่าวนี้มีหนูเป็นพาหะหลักจึงไม่สามารถเจริญเติบโตจนครบวงจรในร่างกายมนุษย์ได้ แต่ตัวอ่อนจะไปอาศัยอยู่ในระบบประสาทส่วนกลางของผู้ติดเชื้อและตายลง ทำให้เกิดการอักเสบในเยื่อหุ้มสมอง โดยผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิจะมีอาการปวดหัวอย่างรุนแรง เป็นไข้ อาเจียนพุ่ง คอแข็ง ตาพร่ามัว ท้องเสีย และปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

แต่ถ้ามีการติดเชื้ออย่างรุนแรงสามารถนำไปสู่อาการเรื้อรังของโรคจนอาจทำให้เสียชีวิตได้ ทั้งนี้พยาธิดังกล่าวในประเทศไทยก็มีสัตว์หลายชนิดที่เป็นพาหะอยู่แล้วเช่น หอยทากยักษ์แอฟริกาและหอยในกลุ่มหอยโข่ง/ขม

ซึ่งพยาธิชนิดนี้จะเข้าสู่ร่างกายคนผ่านทางการกิน จึงควรหลีกเลี่ยงการกินหอยที่ไม่สุก รวมไปถึงล้างทำความสะอาดผักในบริเวณที่มีหอยทากและหนอนตัวแบนอาศัยอยู่ให้ดีก่อนรับประทานหรือรับประทานเฉพาะผักที่สุกแล้วเท่านั้นและหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่ไม่ได้ผ่านการต้มหรือกรองมาก่อนโดยเฉพาะในแหล่งที่มีหอยและหนอนตัวแบนนิวกินีอาศัยอยู่


ทั้งนี้การกำจัดหนอนตัวแบนนิวกินีนั้นสามารถทำได้สองวิธีคือใช้น้ำร้อนลวกหรือหยอดด้วยเกลือป่น ห้ามใช้การสับหรือหั่นเพราะแต่ละชิ้นจะเติบโตเป็นตัวใหม่ได้และจะกลายเป็นยิ่งเพิ่มจำนวนขึ้นไปอีก อยากขอร้องให้ทุกคนที่พบเห็นช่วยกันกำจัดหนอนตัวแบนเพื่อช่วยชีวิตหอยทากท้องถิ่นของประเทศไทย
ถ้าหากใครพบหนอนตัวแบนนิวกินี ขอให้รายงานมาที่กลุ่มสยามเอ็นสิส ผ่านทาง FB กลุ่มที่ siamensis.org หรือผ่านทางกลุ่มไลน์งูเข้าบ้านที่@sde5284v โดยขอให้ถ่ายภาพและระบุสถานที่พบเพื่อเป็นข้อมูลในการจัดการต่อไป

ขอบคุณข้อมูล กลุ่มอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและสิ่งแวดล้อม (siamensis.org) http://siamensis.org/article/41220

logoline