svasdssvasds
เนชั่นทีวี

กีฬา

กาลครั้งหนึ่ง...จากเด็กเทพสู่แข้งโนเนม

01 พฤศจิกายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ชั่วโมงนี้อาจเป็นปีทองของแข้ง"สิงโตคำราม"อังกฤษ โดยเฉพาะหลังจากประกาศศักดาความเป็นเต้ยของวงการลูกหนังรุ่นเยาว์ ทั้ง 2 ชุด

ไล่ตั้งแต่ ตำแหน่งแชมป์โลก รุ่นอายุไม่เกิน 20 ปี เมื่อเดือนมิถุนายน กระทั่งมาถึงแชมป์โลก ชุดยู-17 ปี ที่พวกเขาเพิ่งโค่นเจ้าพ่อบอลเด็กอย่าง"กระทิงดุ" สเปน ไปแบบถล่มทลาย 5-2

จึงไม่แปลกที่เวลานี้หลายฝ่ายจะประโคมข่าวว่าอาจถึงเวลาของลูกหนังสิงโตคำรามที่จะก้าวขึ้นมาสร้างชื่อเสียที อย่างไก็ตาม "ความแน่นอนคือความไม่แน่นอน" คำนี้น่าจะใช้ได้ดีที่สุด วันนี้จึงจะขอพาย้อนไปดูเหล่านักเตะแข้งเทพสมัยกระเตาะแต่พอเวลาเปลี่ยนผ่านพวกเขาเหล่านี้กลับกลายสภาพเป็นแข้งโนเนมในปัจจุบัน

กาลครั้งหนึ่ง...จากเด็กเทพสู่แข้งโนเนม

อันแดร์สัน
ดีกรี : นักเตะยอดเยี่ยมฟุตบอลโลก ยู-17 ชิงแชมปโลก 2005
: ดาวรุ่งยอดเยี่ยมยุโรป 2008

แทบไม่เชื่อหูตัวเองเมื่อครั้งหนึ่งอดีตกองกลางแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด รายนี้เคยได้รับการขนานนามว่าจะเป็น "นิว โรนัลดินโญ" แต่แน่นอนเรื่องนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริง


ย้อนกลับไปตอนที่ทำให้ อันแดร์สัน ถูกนำไปเปรียบเทียบกับอดีตตำนานชื่อดังนั้น เป็นเพราะฟอร์มการเล่นที่เฉิดฉายสมัยติดทัพ"เซเลเซา"รุ่นเยาว์และวิธีการเล่นที่เข้าตาสมัยค้าแข้งกับเกรมิโอ ต้นสังกัดในบ้านเกิด โดยเฉพาะปี 2005 ในรายการชิงแชมปโลก รุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี เจ้าตัวพาทีมทะลุเข้าถึงรอบชิงชนะเลิศไปพบกับ เม็กซิโก ซึ่งมีคู่ต่อกรอย่าง คาร์ลอส เวล่า และ โจวานนี ดอส ซานโตส แม้สุดท้ายพวกเขาต้องพ่ายต่อขุนพลจังโก้ไปแบบเละเทะ 0-3 แต่ผลงานส่วนตัวของ อันแดร์สัน ที่ฉายแววโดดเด่นมาตลอดทัวร์นาเมนต์ก็ได้รับเลือกให้คว้าตำแหน่ง "โกลเดน บอล" หรือ ผู้เล่นทรงคุณค่าประจำทัวร์นาเมนต์ไปครอง


ทัวร์นาเมนต์ชิงแชมป์โลกหนนั้นเป็นเหมือนใบเบิกทางที่ทำให้เขาได้มาผจญภัยบนแผ่นดินยุโรปกับปอร์โต ซึ่งเจ้าตัวสานต่อผลงานจนได้รับการโหวตให้คว้ารางวัลใหญ่ของแข้งรุ่นเยาว์ ได้แก่ "โกลเดนบอย" ปี 2008 ร้อนถึงเซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ผู้จัดการทีมแมนฯยูไนเต็ดในตอนนั้น ยอมทุ่มเงิน 20 ล้านปอนด์(ราว 860 ล้านบาท) เพื่อคว้าตัวเขาไปร่วมทีม ด้วยความหวังที่ว่าพวกเขากำลังค้นพบเพชรเม็ดงามน้ำหนึ่ง


อย่างไรก็ตามทุกคนต่างทราบดีถึงชะตากรรมของเขาในรั้วโอลด์ แทรฟฟอร์ด ที่ค่อยๆแปลงสภาพจากมิดฟิลด์ประเภท"บ็อกซ์ ทู บ็อกซ์" มาเป็นกองกลางตัวทำลายเกมที่ต้องใช้เวลาถึง 40 นัด กว่าจะทำประตูแรกกับต้นสังกัดแห่งนี้ และไม่แปลกแต่อย่างใดที่ปัจจุบันจะพบเห็นมิดฟิลด์รายนี้ได้ในลีกบ้านเกิดของเขาเอง

กาลครั้งหนึ่ง...จากเด็กเทพสู่แข้งโนเนม


ธีโอ วัลคอตต์
ดีกรี :นักเตะอายุน้อยสุดที่ติดทีมชาติอังกฤษ(17 ปี,75 วัน)

ณ เวลานี้ แนวรุกจากค่าย"ปืนโต"ยังคงครองสถิติเป็นแข้งอายุน้อยสุดที่ติดทีมชาติอังกฤษ โดยตัวเลขระบุไว้ว่า 17 ปี กับ 75 วัน ในนัดที่ อังกฤษ อุ่นเครื่องกับ ฮังการี ที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด ซึ่งนัดนั้น "สิงโตคำราม"เอาชนะไป 3-1 แถมยังเคยสร้างความตื่นตะลึงขึ้นไปอีกเมื่อถูก สเวน โกรัน อีริคส์สัน กุนซือชาวสวีดิช เรียกตัวไปลุยศึกฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนี ทั้งที่ยังไม่เคยได้ลงสนามให้กับอาร์เซนอลเลยสักครั้ง แต่ก็ไม่รู้จะเรียกมาทำไมในเมื่อตลอดทัวร์นาเมนต์ไม่เคยถูกส่งลงสนามไปใช้งานแม้แต่นาทีเดียว


"วัลคอตต์" กลายเป็นข่าวครึกโครมเมื่อถูก อาร์แซน เวนเกอร์ ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล กระชากตัวจากเซาธ์แฮมป์ตันไปร่วมทีมด้วยค่าตัว 12 ล้านปอนด์ ซึ่งตอนนั้นถือว่าสูงมากทีเดียวกับดาวเตะวัยเพียง 16 ปีที่มีค่าตัวระดับนี้


"เวย์น รูนีย์ ประสบความสำเร็จมากมาย และ วัลคอตต์ มีหลายอย่างที่เหมือนกันเมื่อตอนที่ทั้งคู่อายุเท่ากัน และเขาจะเป็นความหวังสำคัญของทีมชาติอังกฤษเหมือนกับ รูนีย์" เวนเกอร์ เคยเปรียบลูกศิษย์ของเขาเมื่อตอนเซ็นสัญญามาร่วมทัพเมื่อปี 2006 ซึ่งตอนนี้ทุกคนคงทราบดีว่าบทสัมภาษณ์ที่กุนซือชาวฝรั่งเศสเคยหล่นทรรศนะเอาไว้นั้นใกล้เคียงกับความจริงหรือไม่


ปัจจุบัน บน วัย 28 ปี กับ 13 ฤดูกาลที่ผ่านมาในถิ่นเอมิเรตส์ สเตเดียม ดูเหมือนสิ่งที่แฟนบอลหลายคนคาดหวังกับดาวเตะรายนี้จะเป็นเพียงความฝันลมๆแล้งๆ เสียแล้ว แม้ชั่วโมงนี้อาการบาดเจ็บที่เคยเป็นปัญหาสำคัญจะไม่มาถามหาบ่อยครั้งเหมือนเก่า ซึ่งถือเป็นเป็นเรื่องดีของตัวนักเตะ แต่ในขณะเดียวกันก็เหมือนกับเป็นการบ่งบอกถึงศักยภาพของเจ้าตัวที่ทุกวันนี้ทุกคนขนานนามให้เขากลายเป็น"ดาวรุ่งตลอดกาล"ไปเสียแล้ว

กาลครั้งหนึ่ง...จากเด็กเทพสู่แข้งโนเนม

ฟลอร็องต์ ซินามา ปงโกลล์ - อองโตนี เลอ ตัลเลก
ดีกรี : แชมป์โลกรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี

แฟนบอล ลิเวอร์พูล น่าจะคุ้นชื่อของ 2 ดาวเตะเลือดน้ำหอมคู่นี้เป็นอย่างดี หลังจากย้ายมาสู่ถิ่นแอนฟิลด์และเปิดตัวพร้อมกันในปี 2003
หากกล่าวถึงความเก่งกาจของทั้ง ฟลอร็องต์ ซินามา ปงโกลล์ และ อองโตนี เลอ ตัลเลก สองคู่ซี้จากเลอ อาร์ฟ ต้องบอกว่าสำคัญถึงขนาดที่ เชราร์ อุลลิเยร์ ผู้จัดการทีมหงส์แดงในขณะนั้น ต้องจับเซ็นสัญญาล่วงหน้าเพื่อกันท่ายักษ์ใหญ่ทีมอื่นๆ และปล่อยให้ต้นสังกัดเดิมในฝรั่งเศสยืมใช้งานอยู่ถึง 2 ปี จึงค่อยตบเท้าสู่รั้วแอนฟิลด์อย่างเต็มตัว
ทั้งคู่แจ้งเกิดในรายการ ยู-17 ชิงแชมป์โลก เมื่อปี 2001 ที่ประเทศตรินิแดดฯ เป็นเจ้าภาพ หลังจากสามารถพาขุนพล"ตราไก่"ชุดเล็กผงาดครองแชมป์โลกได้สำเร็จ โดย ปงโกลล์ เป็นดาวซัลโว(9ประตู)และคว้ารางวัลโกลเดนบอล หรือ นักเตะทรงคุณค่าประจำทัวร์นาเมนต์ ส่วน เลอ ตัลเลก เพื่อนซี้ของเขาเข้าป้ายผู้เล่นยอดเยี่ยมประจำรายการอันดับสอง จึงไม่แปลกที่หลายฝ่ายต่างมองว่าอนาคตที่สดใสและเกียรติยศต่างๆกำลังเปิดรอดาวเตะคู่นี้อยู่
อย่างไรก็ตามเรื่องราวกลับไม่เป็นไปตามนั้น โดยหลังจากที่ย้ายมาซบตักยอดทีมจากเมอร์ซีย์ไซด์ ความเก่งกาจที่เคยมีกลับเหมือนทำหล่นหายไปดื้อๆ เสียอย่างนั้น สุดท้าย"เดอะ ค็อป" จึงจำได้เพียงประตูของ ปงโกลล์ ที่ซัดตีเสมอ โอลิมเปียกอส ก่อนกรุยทางสุ่เจ้ายุโรป เมื่อปี 2005 ส่วนของ เลอ ตัลเลก นั้นอาจไม่ค่อยมีอะไรให้เอ่ยถึงนัก เมื่อตลอดช่วงเวลาในแอนฟิลด์ดันยิงให้ทีมไปตั้ง 1 ลูก

กาลครั้งหนึ่ง...จากเด็กเทพสู่แข้งโนเนม

เฟรดดี อาดู
ดีกรี :ผู้เล่นอายุน้อยสุดที่เซ็นสัญญานักฟุตบอลอาชีพลีกสหรัฐ(14ปี)

เขาได้รับฉายาว่า"นิวเปเล่", เคยทดสอบฝีเท้ากับแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ปี 2004 เป็นนักเตะอเมริกันอายุน้อยที่สุดที่เซ็นสัญญาเป็นนักเตะอาชีพ ในวัย 14 ปีกับสโมสร ดีซี ยูไนเต็ด ในศึกฟุตบอลเมเจอร์ลีกของสหรัฐ, ถูกคาดหมายว่าจะพาซอคเกอร์ลีกเมืองมะกันยกระดับขึ้นไปอีกขั้น และจะเป็นซูเปอร์สตาร์แห่งวงการลูกหนังคนแรกที่เกิดบนแผ่นดินสหรัฐอเมริกา


แต่แล้วสิ่งที่หลายคนคาดหวังก็ไม่ได้เกิดขึ้น โดยนับตั้งแต่ย้ายออกจากดีซี ยูไนเต็ด ในปี 2006 ดาวเตะรายนี้ก็ไม่ได้ลงหลักปักฐานกับที่ไหนเป็นหลักเป็นแหล่ง 12 ทีม กับ 8 ประเทศ แม้เคยย้ายไปอยู่กับ เบนฟิกา และถูกยืมตัวไป โมนาโก แต่ก็เป็นแค่การได้ไปอยู่เท่านั้นโดยโอกาสลงเล่นแทบจะนับครั้งได้ ไม่มีใครทราบได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงมาจากความกดดัน หรือ จริงๆแล้วถูกอวยเกินงามทั้งๆที่ศักยภาพไม่ถึงขั้น


อดีตดาวรุ่งประวัติศาสตร์ลูกหนังอเมริกันซึ่งเกิดบนแผ่นดินกานา ปัจจุบันเป็นนักเตะไร้สังกัดนานกว่า 18 เดือน หลังจากถูก "แทมปา เบย์ โรว์ดี" ทีมในลีกรองของสหรัฐ ปล่อยตัวออกมาตั้งแต่ปี 2016 แถมเมื่อหน้าร้อนที่ผ่านมา เขาเกือบได้เซ็นสัญญากับสโมสรในโปแลนด์หลังจากผู้อำนวยการด้านเทคนิคแสดงเจตจำนงต้องการดึงตัวไปร่วมทีม แต่สุดท้ายการย้ายทีมไม่เกิดขึ้นจากสาเหตุไม่เป็นที่ต้องการของผู้จัดการทีม



จาก"โกลเดนบอล" ของ โดมินิค โซลันเก ในรายการชิงแชมป์โลกที่เกาหลีใต้ เรื่อยมาถึง ฟิล โฟเดน ที่ อินเดีย 2017 แม้จะเป็นคนละทัวร์นาเมนต์และคนละรุ่นอายุ แต่แน่นอนว่ามีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกันก็คือ ความคาดหวังที่พวกเขาต้องแบกรับโดยไม่รู้ตัว เฉกเช่นเดียวกับอดีตเด็กเทพที่ยกตัวอย่างมา ที่กว่าพวกเขาจะรู้สึกตัวบางคนก็ถลำไปไกลเสียแล้ว

logoline