svasdssvasds
เนชั่นทีวี

สังคม

เด็กชายแดนใต้ขาดสารอาหาร แถมเสี่ยงเอดส์

18 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ในขณะที่รัฐบาลและกลุ่มผู้เห็นต่างฯ ยังคงสาละวนโทษกันไปมาเกี่ยวกับความล้มเหลวในการกำหนด "พื้นที่ปลอดภัยอำเภอแรก" เพื่อเดินหน้าลดเหตุรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบมายาวนานกว่า 13 ปี แต่ปรากฏว่าอีกด้านหนึ่ง "องค์การยูนิเซฟ" หรือกองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ ได้เผยแพร่ผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยในจังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่ามีอัตราขาดสารอาหาร หรือที่เรียกว่า "ทุพโภชนาการ" สูงสุดในประเทศ แถมยังมีความรู้ความเข้าใจเรื่องการป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีต่ำที่สุด เพียงไม่ถึงร้อยละ 20



ผลสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีรายจังหวัด ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ / สนับสนุนโดยยูนิเซฟ / พบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีในจังหวัดนราธิวาส ยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลา มีภาวะเตี้ยแคระแกร็น ซึ่งหมายถึงความสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุ หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า "ผอมแห้ง" ก็ได้ / โดยเด็กที่มีภาวะผอมแห้งในจังหวัดชายแดนภาคใต้มีจำนวนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ / ในจังหวัดนราธิวาสมีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีที่มีภาวะเตี้ยแคระแกร็นถึงร้อยละ 29 ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศอยู่ที่ร้อยละ 11 เท่านั้น / ขณะที่จังหวัดยะลา ปัตตานี สตูล และสงขลา เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีมีภาวะเตี้ยแคระแกร็น อยู่ที่ร้อยละ 21 ร้อยละ 19 ร้อยละ 17 และร้อยละ 13 ตามลำดับ
ผลสำรวจยังชี้ว่า การได้รับวัคซีนของเด็กยังคงเป็นปัญหาสำคัญในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะในขณะที่ทั่วประเทศมีเด็กอายุ 12-23 เดือนถึงร้อยละ 72 ได้รับภูมิคุ้มกันครบก่อนอายุ 1 ปี แต่สัดส่วนนี้ต่ำมากในจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี ซึ่งมีเด็กได้รับภูมิคุ้มกันครบเพียงร้อยละ 37 ร้อยละ 39 และร้อยละ 40 ตามลำดับเท่านั้น
ผลสำรวจรายจังหวัดยังพบว่า เยาวชนอายุ 15-24 ปีในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนใหญ่ยังขาดความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตนเองจากเอชไอวี โดยในจังหวัดนราธิวาสมีเยาวชนชายเพียงร้อยละ 16 และเยาวชนหญิงเพียงร้อยละ 21 ที่สามารถตอบคำถามได้ถูกต้องเกี่ยวกับการแพร่เชื้อเอชไอวี / ในขณะที่จังหวัดปัตตานี เยาวชนชายร้อยละ 20 และเยาวชนหญิงร้อยละ 25 ตอบคำถามได้อย่างถูกต้อง / ซึ่งแสดงให้เห็นว่าระดับความรู้ความเข้าใจของเยาวชนในจังหวัดเหล่านี้อยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 45 สำหรับเยาวชนชาย และร้อยละ 46 สำหรับเยาวชนหญิง
คุณโธมัส ดาวิน ผู้แทนองค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย บอกว่า ปัญหานี้น่าเป็นห่วงมาก เพราะหมายความว่าเด็กที่อยู่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน การขาดสารอาหารทำให้การเจริญเติบโตทางร่างกายและการพัฒนาสมองของเด็กต้องหยุดชะงัก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถเรียกกลับคืนมาได้ ทั้งหมดนี้ส่งผลเสียในระยะยาวต่อตัวเด็กเองและสังคมโดยรวม
นี่แหละค่ะคือภาพสะท้อนปัญหาสังคมและสุขภาวะ ซึ่งเป็นปัญหาที่แท้จริงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่แทบไม่ถูกพูดถึงเลยตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา เพราะหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมัวแต่สาละวนกับการแก้ไขปัญหาความมั่นคง / น่าคิดว่าถ้าหน่วยงานภาครัฐหันมาให้ความสำคัญ สร้างคุณภาพชีวิตประชาชนให้ดีขึ้นอย่างแท้จริง น่าจะแรงผลักดันให้ปัญหาความไม่สงบลดลงได้หรือเปล่า

logoline