svasdssvasds
เนชั่นทีวี

ไลฟ์สไตล์

สูญเสียกันไปเท่าไหร่? "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"สาเหตุคร่าชีวิตที่คนไทยต้องตระหนักก่อนภัยมาถึงตัว!

04 กันยายน 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อีกกี่ชีวิตที่ต้องสูญเสีย? คนไทยถึงจะใส่ใจกับความปลอดภัยในชีวิตกันเสียที ที่ผ่านมาเราจะรับรู้ถึงเรื่องราว หรือเหตุการณ์การเสียชีวิตอย่างคาดไม่ถึงจาก "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"

สาเหตุคร่าชีวิตแบบกะทันหันที่หลายคนไม่ทันเตรียมตัวรับมือ เพราะไม่คิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวหรือคนในครอบครัว คนส่วนใหญ่จึงไม่เห็นความสำคัญของการเตรียมพร้อมปฐมพยาบาลเพื่อช่วยเหลือผู้ที่ประสบภาวะนี้ ทำให้ผู้ที่ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจึงมักไม่ได้รับการช่วยเหลือได้ทันเวลา นำไปสู่การสูญเสียที่นับวันจะยิ่งมีอัตราเพิ่มขึ้น

นพ. ณัฐพงศ์ ทรัพย์สาร แพทย์เฉพาะทางสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน โรงพยาบาลมงกุฎระยอง ให้ข้อมูลว่า ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นอาการที่หัวใจหยุดเต้นแต่ยังมีคลื่นไฟฟ้าหัวใจทำงานอยู่ ซึ่งเรียกอาการนี้ว่า หัวใจเต้นพลิ้วไหว และเมื่อเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ได้ จึงส่งผลให้อวัยวะในร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้ผู้ที่ประสบภาวะนี้เกิดอาการหมดสตินั่นเอง ซึ่งคนที่มีโรคหัวใจจะมีความเสี่ยงมากกว่า คนปกติ แต่ที่ยิ่งไปกว่านั้นบางคนที่ภายนอกดูแข็งแรงอาจเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจนเสียชีวิตได้เช่นกัน

สูญเสียกันไปเท่าไหร่? "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"สาเหตุคร่าชีวิตที่คนไทยต้องตระหนักก่อนภัยมาถึงตัว!



จากข้อมูลทางสถิติชี้ว่า ประเทศไทยมีประชาชนเสียชีวิตจากโรคหัวใจเฉลี่ยถึงปีละ 54,000 คน หรือเฉลี่ยเท่ากับชั่วโมงละ 6 คน ถือเป็น 1 ใน 3 สาเหตุของการเสียชีวิตสูงสุด ซึ่งทุกวันนี้มีตัวอย่างการสูญเสียจากภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันให้เห็นกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ วัยทำงาน หรือแม้กระทั่งกรณีนักกีฬ่ามืออาชีพก็เคยล้มฟุบกะทันหันกลางสนามแบบไม่ได้ตั้งตัวด้วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมาแล้วเช่นกัน


จะเห็นได้ว่า "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เข้าสู่ขั้นวิกฤติ แค่เพียงเสี้ยววินาทีของชีวิตก็อาจสูญเสียคนที่คุณรักได้ ถ้าไม่อยากเผชิญหน้ากับสถานการณ์วิกฤตินี้ คนไทยทุกคนต้องตระหนักและเตรียมพร้อมกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ลองคิดดูว่าหากเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวของเราจะเป็นอย่างไร?


สูญเสียกันไปเท่าไหร่? "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"สาเหตุคร่าชีวิตที่คนไทยต้องตระหนักก่อนภัยมาถึงตัว!


รู้หรือไม่ว่าการช่วยเหลือผู้ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ทันเวลา จะช่วยให้พวกเขามีโอกาสรอดชีวิตเพิ่มขึ้น ดังนั้นทุกคนควรศึกษาขั้นตอนการช่วยชีวิตขั้นพื้นฐานสำหรับคนที่มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน หากตกอยู่ในสถานการณ์ฉุกเฉินจะต้องปฏิบัติ
ตัวตามขั้นตอนดังนี้


1.
ตั้งสติเตรียมพร้อม : สิ่งที่สำคัญอย่างแรกเมื่อเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันคือ ผู้ช่วยเหลือจะต้องตั้งสติให้ดี เพื่อเตรียมช่วยชีวิตผู้ประสบภาวะนี้ให้ทันเวลา

2. เรียกสติผู้ประสบอาการ : ให้ตรวจดูก่อนว่าผู้ป่วยหมดสติจริง โดยทำการเรียกหรือตบที่ไหล่ทั้ง 2 ข้าง ของผู้หมดสติ และเช็กดูว่ามีการตอบสนองหรือไม่

3. รีบขอความช่วยเหลือ : เบื้องต้นให้รีบติดต่อไปที่เบอร์โทรศัพท์ 1669 สายด่วนสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) เพื่อขอความช่วยเหลือทางการแพทย์จากรถพยาบาลโดยเร็วที่สุด

4. ประเมินอาการ : เมื่อประเมินอาการโดยจับสัญญาณชีพจรหรือดูการเคลื่อนไหวของอกและท้องแล้ว หากมีภาวะหัวใจหยุดเต้นให้รีบปฐมพยาบาลด้วยการนวดหัวใจทันที

5. ช่วยชีวิตด้วยการทำ CPR : ช่วยชีวิตผู้ที่หัวใจหยุดเต้นให้กลับมาหายใจเป็นปกติ (CPR) ด้วยการนวดหัวใจ โดยทำตามขั้นตอนนี้

- วางส้นมือข้างใดข้างหนึ่งตรงบริเวณกลางหน้าอกของผู้มีภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
- นำมืออีกข้างวางทับไว้ด้านบน แล้วนวดหัวใจต่อเนื่องโดยให้แขนเหยียดตรง
- กดหน้าอกให้ลึกประมาณ 2 นิ้ว โดยกดและปล่อยให้หน้าอกคืนตัวสุดก่อนการกดในแต่ละครั้ง พยายามทำเป็นจังหวะให้ต่อเนื่องกัน 30 ครั้งร่วมกับช่วยหายใจ 2 ครั้งสลับไปมา และสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการกดหน้าอกคือจะต้อง "แรง" "เร็ว" และ "ต่อเนื่อง"


ขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญมาก เพราะปกติสมองของคนเราจะสามารถทนต่อการขาดออกซิเจนได้ไม่เกิน 4 นาทีเท่านั้น เพราะหากเกินจากนี้อาจทำให้เซลล์สมองตายได้ ดังนั้นการนวดหัวใจจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการให้เลือดไปเลี้ยงสมองได้มากขึ้น

สูญเสียกันไปเท่าไหร่? "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"สาเหตุคร่าชีวิตที่คนไทยต้องตระหนักก่อนภัยมาถึงตัว!


หลังจากการปฐมพยาบาลในเบื้องต้น
ทางที่ดีถ้าผู้ที่มีอาการหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้รับการช่วยชีวิตด้วย เครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (Automated External Defibrillator หรือ AED) ควบคู่ไปด้วย จะยิ่งทำให้มีโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น เรียกได้ว่ายิ่งช่วยชีวิตเร็วเท่าไหร่ ยิ่งมีโอกาสรอดมากขึ้นตามไปด้วย ตอนนี้ที่ต่างประเทศเองมีการติดตั้งเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติตามที่สาธารณะต่างๆ อาทิ สถานีรถไฟ สนามบิน โรงเรียน มหาวิทยาลัยฯ
ปัญหาสำคัญแบบนี้ตามสถานที่สาธารณะหลายแห่งในบ้านเราควรมีการติดตั้งเครื่องช็อกหัวใจอัตโนมัติ เพื่อนำมาใช้ช่วยชีวิตเบื้องต้นเมื่อต้องเจอสถานการณ์ฉุกเฉิน
เห็นไหมว่า ความรู้ในการทำ CPR ที่ถูกต้อง และ เครื่องช็อกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ (AED) จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ และจำเป็นอย่างมากต่อการช่วยชีวิตผู้ประสบภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เพราะหากเตรียมพร้อมทั้งความรู้ที่ถูกต้องและอุปกรณ์ช่วยชีวิตเบื้องต้นแล้ว เราทุกคนก็สามารถทำเองได้ทันทีโดยไม่ต้องรอรถพยาบาลมาถึง


สูญเสียกันไปเท่าไหร่? "ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน"สาเหตุคร่าชีวิตที่คนไทยต้องตระหนักก่อนภัยมาถึงตัว!


วันนี้ถึงเวลาแล้วหรือยัง? ที่คนไทยทุกคนควรตระหนักและใส่ใจกับ
"ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน" ให้จริงจังมากขึ้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิตก่อนที่เหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นกับคนที่คุณรัก วันนี้ยังไม่สายถ้าคนไทยทุกคนลุกขึ้นมาทำความเข้าใจและเตรียมตัวรับมือให้พร้อม คุณเองก็อาจเป็นหนึ่งในหลายล้านคนที่ช่วยกันลดอัตราการสูญเสียและช่วยเพิ่มโอกาสให้ทุกหัวใจได้เดินต่อ
#ขอพื้นที่เล็กๆให้หัวใจได้เต้นต่อ



ขอบคุณข้อมูลอ้างอิง:

โรงพยาบาลพญาไท3

โรงพยาบาลรามคำแหง

Website: Bangkokhealth

logoline