svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ยก "ทฤษฎีมองแต็สกีเยอ" สอนทักษิณให้เข้าใจใหม่

31 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

31 ส.ค.2560 นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกและคณะทำงานด้านกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายทักษิณ ชินวัตร ทวิตข้อความโดยยกเอาหลักคิดของมงแต็สกีเยอ ที่ว่า "ไม่มีความเลวร้ายใด ที่จะยิ่งไปกว่าความเลวร้ายที่ได้กระทำ โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายหรือในนามของกระบวนการยุติธรรม" นั้นว่า ถ้าคำกล่าวของนายทักษิณ คือกระบวนการยุติธรรมที่หมายถึงศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่ได้ตัดสินคดีจำนำข้าว ก็ถือว่ายกทฤษฎีมาผิด เพราะต้องบอกว่าความเลวร้ายตามความหมายที่นายทักษิณอ้างนั้นต้องอ่านหลักแนวคิดนี้ให้จบ ความหมายของมงแต็สกีเยอ คือกระบวนการยุติธรรมที่ไม่ชอบธรรมที่เกิดจากการร่างกฎหมายเองตั้งศาลตั้งตุลาการขึ้นมาเพื่อจัดการใครคนใดคนหนึ่งเฉพาะโดยไม่มีความเป็นธรรม


แต่ในกรณีคดีจำนำข้าว มีรายละเอียดดังนี้ ประการแรกเป็นคดีที่เริ่มต้นในช่วงเวลารัฐบาลประชาธิปไตย ประการที่สองเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลของฝ่ายนิติบัญญัติคือสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบฝ่ายบริหารขณะนั้น ประการที่สามฝ่ายนิติบัญญัติได้ส่งเรื่องคดีจำข้าวเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมปกติ ผ่าน ปปช. อัยการ และสู่ศาล ประการที่สี่ ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นศาลที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 พิจารณาคดีตัดสินคดีมาแล้วร่วม 20 ปี ไม่ใช่เป็นคณะผู้พิพากษาที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจัดการใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ เป็นผู้พิพากษาอาชีพที่ทำหน้าที่มาตลอดชีวิต แม้จะไม่มีการรัฐประหารคดีจำนำข้าวก็ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการยุติธรรมตามปกติ

เหล่านี้ต่างหากคือข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกต้องเพื่อชี้ให้เห็นว่ากระบวนการยุติธรรมของไทยดำเนินการตามหลักกฎหมายมายาวนาน และนายทักษิณควรอ่านแนวคิดของมองแต็สกีเยอให้ละเอียด ก็จะเห็นว่าคดีจำนำข้าวเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงการตรวจสอบ และถ่วงดุลอำนาจ หรือที่เรียกว่า Check and Balance อย่างแท้จริง คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ ส.ส. ได้ตรวจสอบ อภิปราย ตั้งกระทู้ เพื่อตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร และได้ส่งต่อไปยังอำนาจตุลาการเพื่อตรวจสอบตามกระบวนการยุติธรรม นี่คือการถ่วงดุลอำนาจของ 3 ฝ่าย ซึ่งได้แก่ อำนาจบริหาร อำนาจนิติบัญญัติ และอำนาจตุลาการ ตามความหมายของมองแต็สกีเยอ

แม้ในสมัยที่นายทักษิณมีอำนาจ สามารถสั่งฝ่ายนิติบัญญัติ สั่งฝ่ายบริหารได้ แต่อำนาจเดียวที่สั่งไม่ได้คืออำนาจตุลาการ แต่ที่บอกว่ากระบวนการยุติธรรมที่เลวร้าย เราก็ยังเห็นนายทักษิณให้ทนายความมายื่นฟ้องใครต่อใครต่อกระบวนการยุติธรรมของไทย ดังนั้นขอให้ประชาชนคนไทยได้ภาคภูมิใจว่าเรามีสถาบันตุลาการที่เชื่อถือได้ เป็นสถาบันที่เป็นหลักให้กับประเทศ ไม่ว่าจะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหรือรัฐประหาร แต่อำนาจตุลาการก็ไม่เคยเปลี่ยนแปลงยังทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศ ไม่มีใครแทรกแซงอำนาจตุลาการได้

logoline