svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ปปช.แจงไม่อุทธรณ์"สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท"สลายพันธมิตรฯ

31 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

"ป.ป.ช." แจงไม่อุทธรณ์ "สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท" สลายพันธมิตรฯเหตุเป็นฝ่ายนโยบาย ไม่มีเจตนาเล็งเห็นผลชี้อุทธรณ์ "สุชาติ" เพราะเป็นฝ่ายปฏิบัติ


          31 ส.ค. 60 - พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป.ป.ช. และนายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. แถลงข้อเท็จจริงและรายละเอียดกรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติอุทธรณ์ผลคำพิพากษาคดีสั่งสลายการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรฯ เมื่อ 7 ต.ค.ปี 51 เฉพาะ พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว อดีตผู้บัญชาการตำรวจนครบาล (ผบช.น.) จำเลยที่ 4 แต่ไม่อุทธรณ์นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยที่1 พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตรองนายกรัฐมนตรี จำเลยที่2 และ พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) จำเลยที่ 3 
          นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า สาเหตุที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. อุทธรณ์เฉพาะกรณี พล.ต.ท.สุชาติ นั้น เนื่องจากเห็นว่า การสลายชุมนุมแบ่งเป็น 2 ฝ่าย ฝ่ายนโยบายมีจำเลยที่ 1-3 และฝ่ายปฏิบัติคือจำเลยที่ 4 และเมื่อพิจารณาจากคำวินิจฉัยส่วนตัวขององค์คณะผู้พิพากษา 9 รายในคดีนี้ พบว่า มีเสียงข้างน้อย 1 ราย ที่เห็นว่า มีการเตรียมแผนการไว้ก่อน เช่น มีการมอบหมายให้ใช้แผนกรกฎ 48 และการปฏิบัติตามแผนดังกล่าวอาจทำโดยมิชอบ เนื่องจากไม่มีขั้นตอนการใช้รถดับเพลิง ดังนั้นในเมื่อจำเลยที่ 4 เป็นฝ่ายปฏิบัติได้หารือกับผู้ใต้บังคับบัญชาใช้แผนดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วง 6 โมงเย็นถึงหนึ่งทุ่ม อาจทำเกินเลยกว่าเหตุ ป.ป.ช. จึงอุทธรณ์จำเลยที่4 เพียงคนเดียว
          นายสุรศักดิ์ กล่าวว่า ส่วนจำเลยที่ 1-3 นั้น เป็นฝ่ายนโยบาย ไม่ใช่ฝ่ายปฏิบัติ และการสลายการชุมนุมครั้งนี้ทำต่อเนื่องกันและจบภายในวันเดียว ไม่ได้ยืดเยื้อไปหลายวัน หากมีการยืดเยื้อไปหลายวัน แล้วฝ่ายนโยบายไม่มีการทบทวนการปฏิบัติดังกล่าว ฝ่ายนโยบายจึงอาจผิดด้วยได้ ตรงนี้คือสาเหตุว่า ทำไม ป.ป.ช. จึงอุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 4

ปปช.แจงไม่อุทธรณ์"สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท"สลายพันธมิตรฯ

          นายสุรศักดิ์ กล่าวอีกว่า จำเลยที่ 4 ย่อมทราบดีถึงสถานการณ์ที่ต้องใช้แก๊สน้ำตาโดยตลอดช่วงเวลาการสลายการชุมนุม ตั้งแต่ช่วงเช้า-บ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาพลบค่ำ ขณะรักษาความปลอดภัยให้แก่กองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) อันเป็นบริเวณเกิดเหตุ โดยเป็นผู้สั่งการ หรือรู้เห็นยินยอมให้ผู้ใต้บังคับบัญชาระดับรองลงไปสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจผู้ปฏิบัติยิงหรือขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่กลุ่มผู้ชุมนุม ทำให้มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต ทั้งที่จำเลยที่ 4 เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ สมควรประเมินสถานการณ์และระงับยับยั้งเหตุการณ์ เพื่อบรรเทาหรือป้องกันมิให้เกิดอันตรายแก่ผู้ชุมนุมเพิ่มเติม แต่กลับไม่ได้ระงับยับยั้งหรือปรับเปลี่ยนวิธีการใช้แก๊สน้ำตา จึงเป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามประมวลกฏหมายอาญา มาตรา 157
          "เนื่องจากมีขั้นตอนจากเบาไปหาหนัก มีการเจรจาก่อนใช้แก๊สน้ำตา ดังนั้น การรับผิดทางอาญาของจำเลยที่ 1-3 ต้องมีการกระทำที่แสดงถึงเจตนา หรือการกระทำที่รู้สำนึกโดยหวังผล ซึ่งเป็นไปตามคำพิพากษาศาล นอกจากนั้น ถ้าเทียบกรณีดังกล่าว ถ้าลูกจ้างขับรถชนคนตาย นายจ้างต้องรับผิดชอบไหม ถ้ารับก็รับผิดในทางแพ่ง" นายสุรศักดิ์ กล่าว 
          พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวว่า ตรงนี้ไม่ใช่เวทีที่เราจะมาวินิจฉัย เรื่องนี้อย่างที่นายสุรศักดิ์ชี้แจงไปแล้วว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ฟ้องจำเลยทั้ง 4 ราย ใน 4 ประเด็น คณะกรรมการ ป.ป.ช. หยิบยกคำพิพากษากลาง และคำวินิจฉัยส่วนตัวขององค์คณะผู้พิพากษาทั้ง 9 ราย มาพิจารณาแล้ว เห็นว่า ประเด็นที่ 1-3 นายสุรศักดิ์ ชี้แจงว่า ยังห่างไกล เป็นนโยบาย ไม่มีประเด็นอะไรที่จะอุทธรณ์ต่อ และส่งผลทำให้ศาลฎีกาฯพิพากษากลับได้ แต่ประเด็นที่ 4 เกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงค่ำ ที่นายสุรศักดิ์ อธิบายว่าอาจเกินเลย และไม่ชอบด้วยกระบวนการต่างๆ

ปปช.แจงไม่อุทธรณ์"สมชาย-ชวลิต-พัชรวาท"สลายพันธมิตรฯ


          พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวอีกว่า คณะกรรมการมาวิเคราะห์ตรงนี้ ในฐานะฝ่ายโจทก์ ต้องให้ความเป็นธรรมตามหน้าที่ ในฐานะองค์กรที่ให้ความเป็นธรรมกับทุกราย อย่างที่เคยบอกว่า มีหลายเรื่องที่พยานหลักฐานไม่เพียงพอ ให้ข้อกล่าวหาตกไปเยอะแยะ เช่นเดียวกันกับกรณีนี้ และคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติไปอย่างนั้นคือ อุทธรณ์เฉพาะจำเลยที่ 4 
          "ย้ำว่าป.ป.ช.วิเคราะห์จากคำพิพากษากลาง และคำวินิจฉัยส่วนตัว และคณะกรรมการ ป.ป.ช. เสียงไม่ได้เอกฉันท์ แต่อยู่ด้วยระบบเสียงข้างมาก ตัวผมเองไม่ได้ออกเสียง โดยเสียงข้างมาก 7 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง เห็นว่าไม่ควรอุทธรณ์จำเลยที่ 1-3 ส่วนจำเลยที่ 4 เสียงข้างมาก 8 ต่อ 0 เสียง เห็นควรควรอุทธรณ์ ผมไม่ได้ออกเสียง นี่คือบทสรุป ส่วนรายละเอียดตรงไหน อย่างไร เป็นอำนาจศาลฎีกาที่จะวินิจฉัย แต่อำนาจหน้าที่ของ ป.ป.ช. คือมาวิเคราะห์ วินิจฉัยในอำนาจหน้าที่ว่า ควรอุทธรณ์หรือไม่อย่างไร แต่อุทธรณ์เฉพาะที่เห็นว่า มีพยานหลักฐาน เหตุผลเพียงพอที่ควรอุทธรณ์" พล.ต.อ.วัชรพล กล่าว.

logoline