svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เจาะแนวโน้มคดียิ่งลักษณ์ "เจตนาพิเศษ" ชี้ขาด!

24 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

การจะคาดเดาแนวคำพิพากษาคดีจำนำข้าวของอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของเมืองไทย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องย้อนไปดูก่อนว่าเธอถูกตั้งข้อหาอะไรบ้าง



ข้อหาของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์1.เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ (กฎหมายอาญา)2.เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยทุจริต (กฎหมาย ป.ป.ช.)โทษ : จำคุก 1-10 ปี ปรับ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

อดีตนายกฯหญิงถูกฟ้องเป็นจำเลยใน 2 ข้อหา คือ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 / และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตําแหน่งหรือหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตฯ หรือกฎหมาย ป.ป.ช.

ทั้งสองข้อหานี้มีโทษเท่ากัน คือ จําคุกตั้งแต่ 1 ปีถึง 10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ

พฤติการณ์ตามข้อกล่าวหรือ คือ จงใจละเลยเพิกเฉยให้เกิดการทุจริต หรือทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว

หากมองเผินๆ ว่าโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าวมีการทุจริตเกิดขึ้น นายกรัฐมนตรีในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายข้าวย่อมต้องรับผิดชอบ วิธีคิดแบบนี้อาจเป็นไปได้ แต่นั่นเป็นวิธีคิดนอกศาล เพราะการพิจารณาคดีในชั้นศาลต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมายอย่างเคร่งครัด

องค์ประกอบของมาตรา 157-เป็นเจ้าพนักงาน-ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ-***เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต (เจตนาพิเศษ)

หากพลิกดูประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 องค์ประกอบความผิดของมาตรานี้ นอกจากการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งก็ตรงกับข้อกล่าวหาที่ว่าละเลยเพิกเฉยให้เกิดการทุจริตแล้ว องค์ประกอบสำคัญของมาตรา 157 ยังมีสิ่งที่เรียกว่า "เจตนาพิเศษ" คือ นอกจากการจงใจปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบแล้ว ยังต้องมีเจตนาให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือมีเจตนาทุจริตด้วย

องค์ประกอบของกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 123/1-เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ-ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติในตำแหน่งหรือหน้าที่-(หรือ) ใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบ-***เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือโดยทุจริต (เจตนาพิเศษ)

เช่นเดียวกับข้อหาตามมาตรา 123/1 ตามกฎหมาย ป.ป.ช. องค์ประกอบความผิดก็มี "เจตนาพิเศษ" เช่นเดียวกัน ฉะนั้นแม้โครงการรับจำนำข้าวจะมีความเสียหายหรือมีการทุจริตจริง แต่หากอัยการไม่สามารถพิสูจน์ให้ศาลเห็นได้ว่าความเสียหายหรือการทุจริตนั้นมาจากความจงใจโดยทุจริตของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์...เจ้าตัวก็อาจพ้นผิด

ฉะนั้นการพิสูจน์ "เจตนาพิเศษ" จึงน่าจะเป็น "ประเด็นชี้ขาด" ในคดีนี้ และตลอดการต่อสู้คดีในชั้นศาลนานข้ามปี ทั้งอดีตนายกฯหญิงและทนายความ ก็พยายามต่อสู้ในประเด็นนี้อย่างเต็มสูบ

จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมของ "ทีมล่าความจริง" พบว่า แนวคำพิพากษาศาลฎีกาในอดีตที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงาน เช่น ตำรวจ มีฎีกาจำนวนไม่น้อยที่ศาลไม่ได้ให้น้ำหนักกับ "เจตนาพิเศษ" มากนัก เพราะถือว่าการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ย่อมสร้างความเสียหายและมีเจตนาทุจริตในตัวเองอยู่แล้ว

แต่ขณะเดียวกันก็มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาอีกหลายฉบับ ที่ให้น้ำหนักกับ "เจตนาพิเศษ" ฉะนั้นจึงต้องรอฟังคำพิพากษาจากศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่าจะให้น้ำหนักประเด็นนี้อย่างไร

สำหรับแนวโน้มคำพิพากษาคดีอดีตนายกฯหญิง ก็ไม่ต่างจากคดีอื่นๆ คือมีความเป็นไปได้ 3 แนวทาง คือ

หนึ่ง พิพากษายกฟ้อง ซึ่งถ้าเป็นแนวทางนี้ก็ต้องบอกว่า กองเชียร์ได้เฮกันลั่นแน่ๆ

สอง พิพากษาลงโทษจำคุก แต่ให้รอลงอาญา คือไม่ต้องเข้าคุกจริง แต่อัตราโทษจำคุก ศาลต้องลงโทษไม่เกิน 5 ปีจึงจะเข้าเงื่อนไขรอลงอาญาได้

สาม พิพากษาลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา ซึ่งแม้จะลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ศาลก็อาจใช้ดุลยพินิจไม่ให้รอลงอาญาก็ได้ แต่หากพิพากษาลงโทษจำคุกเกิน 5 ปี ก็จะไม่เข้าข่ายรอลงอาญาอยู่แล้ว

หากคำพิพากษาออกมาในแนวทางที่ 2 หรือ 3 โดยเฉพาะแนวทางที่ 3 อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ก็ต้องยื่นอุทธรณ์ และต้องลุ้นว่าศาลจะให้ประกันตัวหรือไม่ ซึ่งไม่มีใครรู้ใจศาล

ทั้งหมดนี้ อีกไม่กี่ชั่วโมงก็จะได้รู้กัน ยกเว้นอดีตนายกฯหญิงไม่ยอมไปศาล!

logoline