svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

เปิดประเด็นชี้ขาด ‘คดียิ่งลักษณ์’ จำนำข้าว

24 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประเด็นวินิจฉัยน่าจะอยู่ใน 2 ประเด็น คือ 1.จำเลยมีเจตนาปล่อยปละให้เกิดความเสียหายในโครงการจำนำข้าวหรือไม่ 2. มีเจตนาปล่อยให้มีการทุจริตในการระบายข้าวหรือไม่

พรุ่งนี้ 25 ส.ค. ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพากษาในคดีที่อัยการยื่นฟ้อง น.ส. ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นจำเลย ว่า ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ไม่ระงับยับยั้งความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวและปล่อยให้เกิดการทุจริต
มาถึงตรงนี้ ก็มีการคาดการณ์กันว่า ประเด็นวินิจฉัยของศาล น่าจะอยู่ใน 2 ประเด็นสำคัญคือ

1. จำเลย มีเจตนาปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตหรือทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวหรือไม่
2 . จำเลย มีเจตนาปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าวจีทูจีหรือไม่

ทั้งนี้หากศาลเห็นว่า จำเลย คือ น.ส. ยิ่งลักษณ์ มีเจตนาในการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตหรือทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว หรือเจตนาปล่อยปละละเลย ให้มีการทุจริตในการระบายข้าว น.ส.ยิ่่งลักษณ์ ก็น่าจะมีความผิด
แต่ถ้าศาลเห็นว่า จำเลย คือ น.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่มีเจตนาให้เกิดการความเสียหายหรือทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และการระบายข้าวจีทูจี น.ส. ยิ่งลักษณ์ ก็น่าจะไม่มีความผิด
ดังนั้นในเรื่อง เจตนาพิเศษ จึงน่าเป็นปัจจัยสำคัญในการชี้ขาด เนื่องจากมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช. ที่ใช้เป็นข้อกล่าวหา น.ส. ยิ่งลักษณ์ เขียนไว้ว่า ' ปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต ' ซึ่งข้อความที่ว่า..'เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือโดยทุจริต 'ตามหลักกฎหมายเรียกว่า เจตนาพิเศษ ดังนั้นการละเว้นปฏิบัติหน้าที่ที่จะมีความผิดตามข้อกล่าวหานี้ ต้องมี เจตนาพิเศษ ดังกล่าวนี้ด้วย จึงต้องดูว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ มีเจตนาละเว้นปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ใคร เช่น รัฐ หรือไม่ หรือ การละเว้นปฏิบัติหน้าที่นั้นเพราะทุจริตหรือไม่
สำหรับอัยการซึ่งเป็นโจทก์ ได้พยายามชี้ให้ศาลเห็นว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง เพื่อป้องกันแก้ไขปัญหาความเสียหายและการทุจริตตามที่ สตง., ป.ป.ช., ธกส. และอีกหลายหน่วยงานรัฐได้ท้วงติง โดยยกตัวอย่างว่า เมื่ออัยการได้ตรวจสอบข้อมูลผ่านมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ แล้ว ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่า คณะรัฐมนตรีได้พิจารณากันอย่างเข้มงวด จริงจัง และตรวจสอบค้นคว้าวิเคราะห์เพื่อปรับปรุงแก้ไขปัญหาความเสียหายและการทุจริตต่าง ๆ ตามที่หน่วยงานต่างๆแจ้งเตือน
นอกจากนี้ คณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ( กขช.)ที่มี ยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน ยังตั้งเลขานุการ รมว.พาณิชย์(ขณะนั้น) ซึ่งต่อมาถูกกล่าวหาว่ามีส่วนร่วมในการสนับสนุนให้เกิดการทุจริตในโครงการระบายข้าวแบบจีทูจี ให้เป็นคณะอนุกรรมการชุดต่างๆในโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวของรัฐหลายคณะ
ส่วนด้าน น.ส. ยิ่งลักษณ์ ได้ต่อสู้ว่า 1.ไม่ได้มีเจตนาพิเศษ ในการปล่อยปละละเลยให้เกิดการทุจริตหรือทำให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว โดยได้ส่งข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. และ สตง.ให้ กขช. และหน่วยงานปฏิบัติที่เกี่ยวข้องรับทราบ และคณะรัฐมนตรีได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการฯและอนุกรรมการขึ้นมาเพื่อป้องกันการทุจริตในการรับจำนำข้าวฯ และหลังจาก ส่งหนังสือของ ป.ป.ช. และ สตง. ไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ปรากฏว่ามีหน่วยงานใดเห็นค้านโครงการรับจำนำข้าวหรือเสนอให้ยกเลิก หรือยุติโครงการรับจำนำข้าว
และ 2.ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในการระบายข้าว โดยการระบายข้าว เป็นงานในระดับปฏิบัติที่มีคณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ,รมว.พาณิชย์ ,กรมการค้าต่างประเทศเป็นผู้รับผิดชอบ เป็นวิธีการที่ดำเนินการมาทุกยุคทุกสมัย อย่างไรก็ตามในสมัยที่เป็นรัฐบาล ก็ได้มีการวางมาตรการในการป้องกันการทุจริตในการระบายข้าวให้เข้มงวดมากขึ้น ดังนั้นหากตนมีเจตนาทุจริตหรือสมยอมให้เกิดทุจริต แล้วตนและคณะรัฐมนตรี จะสร้างหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดมากขึ้นทำไม
สำหรับแนวทางคำพิพากษา มี 3 ทาง ดังนี้
1.พิพากษาจำคุก เนื่องจากข้อกล่าวหาต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตาม มาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 123/1 พ.ร.บ. ป.ป.ช. มีอัตราจำคุก ตั้งแต่ 1-10 ปี ดังนั้นหากศาลเห็นว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความผิด ศาลจะลงโทษจำคุก น.ส. ยิ่งลักษณ์ โดยไม่รอลงอาญาหรือรอการกำหนดก็ได้ แต่โทษจำคุกจะลงได้เต็มที่ไม่เกิน 10 ปี
2.พิพากษาจำคุกแต่รอลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ กรณีนี้ศาลเห็นว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์มีความผิด ให้จำคุกแต่รอลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษ ทั้งนี้การที่ศาลจะรอลงอาญาหรือรอการกำหนดโทษได้ ต้องลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี
ทั้งนี้เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ที่บัญญัติว่า ในคดีที่ศาลลงโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี ถ้าปรากฏว่าบุคคลนั้น
(1) ไม่เคยรับโทษจําคุกมาก่อน หรือ
(2) เคยรับโทษจําคุกมาก่อนแต่เป็นโทษสําหรับความผิดที่ได้กระทําโดยประมาท หรือความผิดลหุโทษ หรือเป็นโทษจําคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ
(3) เคยรับโทษจําคุกมาก่อนแต่พ้นโทษจําคุกมาแล้วเกินกว่า 5 ปีแล้วมากระทําความผิดอีก โดยความผิดในครั้งหลังเป็นความผิดที่ได้กระทําโดยประมาทหรือความผิดลหุโทษ
ศาลจะพิพากษาว่าบุคคลนั้นมีความผิดแต่รอการกําหนดโทษหรือรอลงอาญาไว้ไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่ศาลพิพากษา โดยจะกําหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติของบุคคลนั้นด้วยหรือไม่ ก็ได้
'รอการกำหนดโทษ' กับ 'รอลงอาญา' แตกต่างกันอย่างไร
รอการกำหนดโทษ ก็คือกรณีที่ศาลพิพากษาว่ามีความผิด แต่ยังไม่กำหนดโทษจำคุกว่าจะต้องถูกจำคุกเท่าใด โดยกำหนดระยะเวลาในกำหนดโทษไว้ อย่างเช่น ให้รอกำหนดโทษไว้ 2 ปี จึงยังไม่ทราบว่าจำคุกเท่าใด แต่หากภายใน 2 ปี ได้กระทำความผิด จึงจะถูกกำหนดโทษ (แต่จะลงโทษจำคุกได้ไม่เกิน 5 ปี) ในทางตรงกันข้ามถ้าภายใน 2 ปีไม่ได้กระทำผิด ถือว่า พ้นโทษ
ส่วนการ 'รอลงอาญา ' คือ กรณีที่ศาลพิพากษาว่า บุคคลนั้นมีความผิดและกำหนดโทษจำคุกมีเวลาแน่นอนแล้ว แต่บุคคลนั้นยังไม่ต้องถูกจำคุกโดยรอลงอาญาไว้ เช่น ศาลสั่งจำคุก 2 ปี แต่รอลงอาญาไว้ 2 ปี หากภายใน 2 ปี ไม่กระทำความผิดอีก ถือว่า พ้นโทษ
3. พิพากษายกฟ้อง กรณีศาลเห็นว่า น.ส. ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้กระทำกระทำความผิด ก็จะพิพากษายกฟ้อง

logoline