svasdssvasds
เนชั่นทีวี

อาชญากรรม

ตรวจสอบทุจริตโอที "การท่าเรือฯ"

22 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ตรวจสอบทุจริตโอที "การท่าเรือฯ" สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์กับ พ.อ. พินิจ ตั้งสกุล ผบ. สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา

"ดีเอสไอ" สรุปสำนวน "การท่าเรือฯ" ทุจริตเบิกโอทีส่ง "ป.ป.ช." ไต่สวน ระบุเป็นคดียุ่งยากเอกสารกว่า 420,000 แผ่น คนทำผิด 560 คน

กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.อ.พินิจ ตั้งสกุล ผบ.สำนักคดีทรัพย์สินทางปัญญา ในฐานะหัวหน้าคณะพนักงานสอบสวนคดีทุจริตเบิกจ่ายค่าตอบแทนล่วงหน้า หรือโอที ของพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ดีเอสไอได้สรุปสำนวนคดีที่สอบสวนพบว่าพนักงานการท่าเรือฯ ร่วมกันสนับสนุนกันทุจริตเบิกจ่ายเงินค่าล่วงเวลาของการท่าเรือฯ ส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)ไต่สวนตามอำนาจหน้าที่แล้วเมื่อวันที่ 18 ส.ค.ที่ผ่านมา หลังจากรับสอบสวนเป็นคดีพิเศษที่ 4/2557 ตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากมีผู้ร้องขอให้ตรวจสอบความผิดปกติในการเบิกเงินจ่ายค่าล่วงเวลา เหตุที่ดีเอสไอใช้เวลานานสอบสวนค่อนข้างมาก เพราะต้องยอมรับว่าคดีดังกล่าวมีความยุ่งยาก ซับซ้อน และเป็นคดีใหญ่มาก เฉพาะสำนวนที่ส่งให้ป.ป.ช.มีกว่า 420,000 แผ่น ครอบคลุมผู้กระทำผิด 560 คน 

สำหรับพฤติการณ์ที่พบเป็นการเบิกโดยไม่ได้ทำงานจริง ซึ่งลักษณะการทำงานของการท่าเรือฯจะมีหน้าที่ให้บริการต่อผู้ขอใช้บริการทั้ง การนำเรือมาเทียบท่า บรรทุกของ ขนถ่ายสินค้า เก็บรักษาสินค้า ส่งมอบสินค้า ซึ่งบางครั้งต้องให้บริการ 24 ชม. ทำให้พนักงานในส่วนดังกล่าวมีสิทธิที่จะเบิกค่าล่วงเวลาได้ แต่กรณีที่ดีเอสไอพบคือพนักงานที่ไม่ได้ปฏิบัติงานในส่วนงานหรือแผนกที่เกี่ยวข้องกลับมีการจัดทำเอกสารขอเบิกเงินค่าล่วงเวลาด้วย ทั้งที่การเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดินต้องยึดหลักเกณฑ์ ระเบียบ คำสั่งที่กำหนด แต่กลับกลายเป็นผู้เบิกจัดทำใบเบิกโดยไม่ได้ทำงานจริง ขณะที่ผู้มีหน้าที่ตรวจไม่ใส่ใจการตรวจ ฝ่ายควบคุมก็ไม่มีการตรวจสอบซ้ำ ผู้อนุมัติก็ไม่ดูให้ดี จนอนุมัติให้จ่ายทั้งที่ไม่ได้ทำงานจริง 

พ.อ.พินิจ กล่าวต่อว่า กรณีนี้พบว่าเคยเป็นคดีในศาลแรงงานที่มีการเรียกเงินเพิ่มเติมในช่วงปี 2545-2555 ซึ่งพบว่ามีผู้ฟ้องมากถึง 1,200 คน มีการเรียกค่าชดเชยเพิ่มประมาณ 3,300 ล้านบาท ในส่วนนี้มีทั้งคำพิพากษาให้บางกลุ่มได้เงินตามฟ้อง และบางกลุ่มไม่ได้เงินเพราะศาลไม่เชื่อว่าคำฟ้องเป็นจริง เช่นใน 1 วันมี 24 ชม. มีการระบุว่าตัวเองต้องทำงาน 22 ชม. หรือบางกลุ่มที่ฟ้องศาลพิจารณาให้เฉพาะการทำงานในวันหยุด ขณะที่การตรวจสอบของดีเอสไอได้ย้อนหลังไปก่อนปี 2555 ก่อนจะมีการฟ้องศาล 

"เฉพาะการเบิกเท็จพบมีมากถึงปีละ 300-400 ล้านบาท เชื่อว่าพฤติการณ์ทุจริตในลักษณะนี้น่าจะทำกันมานานแล้ว แต่จะถามว่าเมื่อไหร่คงบอกไม่ได้ บอกได้เพียงนานมาก กระทำทุจริตก็ว่าหนักหนาแล้ว แต่กรณีนี้ยังมีการทำเอกสารที่ทุจริตไปฟ้องเรียกค่าชดเชยอีก" พ.อ.พินิจ กล่าว 

เมื่อถามถึงพนักงานในแผนกที่ไม่ได้เกี่ยวข้องแต่กลับเบิกเงินค่าล่วงเวลาด้วยมีหน่วยงานใดบ้าง พ.อ.พินิจ กล่าวว่า มีเกือบทุกแผนกของการท่าเรือฯ ซึ่งจากการสอบสวนเมื่อพบว่ามีเจ้าหน้าที่ระดับสูงเกี่ยวข้องก็ต้องส่งให้ป.ป.ช.ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ซึ่งกรณีนี้มีตั้งแต่ระดับล่างไปถึงระดับสูง เบื้องต้นในจำนวนผู้เกี่ยวข้องที่ดีเอสไอสรุปสำนวนส่งป.ป.ช.มีระดับผู้อำนวยการกอง 9 คน ระดับผู้อำนวยการสำนัก 1 คน และผู้ช่วยผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบังในขณะนั้นรวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ เดิมคดีดังกล่าวมีผู้ร้องเป็นพนักงานการท่าเรือฯ ก่อนที่ต่อมาการท่าเรือฯจะส่งผู้แทนเข้าร้องทุกข์เอง

logoline