svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

2 ปี 6 เดือน การดำเนินคดียิ่งลักษณ์

21 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

อดีตนายกรัฐมนตรีหญิงของไทยคนแรก ถูกอัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และใช้อํานาจในตําแหน่งหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหาย แต่ละคดีมีโทษ จำคุกสูงสุดถึง 10 ปี ขบวนการต่อคดีในศาลฎีกานักการเมืองกินเวลานานกว่า 2 ปี ก่อนมีการกำหนดวันพิพากษาศุกร์ที่ 25 ส.ค.นี้

คดีที่ "อดีตนายกฯหญิงคนแรก"ถูกฟ้องนี้ ใช้เวลาในกระบวนพิจารณาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นาน 2 ปี 6 เดือน เริ่มตั้งแต่ วันที่19 ก.พ. 2558 ที่อัยการสูงสุด ยื่นฟ้อง "อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์" ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง

24 กุมภาพันธ์ 2558 ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา 146 คน ลงมติเลือกผู้พิพากษา 9 คนเป็นองค์คณะพิจารณาคดี มีนายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาคนที่ 1 เป็นเจ้าของสำนวน19 มีนาคม ปีเดียวกัน องค์คณะฯ มีคำสั่งให้ประทับรับคำฟ้อง 24 มีนาคม เจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการสูงสุด และเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. เดินทางไปยังบ้านเลขที่ 38/9 ซ.นวมินทร์ 111 ของ "อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์"เพื่อปิดหมายศาล แจ้งวันนัดพิจารณาคดีครั้งแรก

19 พฤษภาคม ศาลออกนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก เป็นวันที่ "อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์" ได้ปรากฏตัวต่อหน้าบัลลังก์ศาลทั้ง 9 คน นับแต่ถูกฟ้องในฐานะจำเลย ในวันนั้น อดีตนายกฯ ให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา พร้อมตั้ง"ทนายความ"ถึง 5 คน เพื่อแก้ต่างคดี ที่เอกสารหลักฐานมีมากกว่า 60,000 แผ่น ก่อนที่จะยื่นประกันตัวไประหว่างพิจารณา ด้วยหลักทรัพย์ที่ศาลตีราคาประกันสูงสุดถึง 30 ล้านบาท นับว่า สูงที่สุดที่เคยมีการฟ้องคดีนักการเมือง จากนั้น วันที่ 3 ก.ค.ก็ได้ยื่นคำให้การเป็นลายลักษณ์อักษรต่อศาล

31 สิงหาคม 2558 ศาลเริ่มกระบวนการตรวจหลักฐานและพยานบุคคล พยานเอกสารของโจทก์ ฝ่ายจำเลย พยายามคัดค้านพยานบุคคล 23 ปากและพยานเอกสารหลายหมื่นแผ่นของอัยการ ว่า ไม่สุจริต ไม่เป็นธรรมเพราะเป็นพยานหลักฐานที่ไม่เคยปรากฏในสำนวน ป.ป.ช.มาก่อน ประเด็นนี้ ศาลชี้ ว่า ไม่มีเหตุที่จะไม่รับบัญชีพยานของโจทก์ จากนั้น 29 ตุลาคม องค์คณะ ก็มีคำสั่ง กำหนดให้อัยการนำพยานโจทก์ไต่สวน 15 ปาก ฝ่าย "อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์" ไต่สวนพยานสู้คดี 30 ปาก

15 มกราคม 2559 ศาลเริ่มไต่สวนพยานอัยการครั้งแรก และนัดไต่สวนต่อเนื่อง รวม 10 นัด สิ้นสุด ในวันที่ 24 มิ.ย. 2559

5 สิงหาคม 2559 เริ่มไต่สวนพยานจำเลยนัดแรก "อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์" ยืนแถลงด้วยวาจาเพื่อเปิดคดี โดยใช้เวลา 1 ชั่วโมง ยืนยัน ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต และปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา หลังจากนั้น ก็มีการไต่สวนพยานจำเลยต่อเนื่อง 30 ปากรวม 15 นัด

ในระหว่างนั้น มีความพยายามในการยื่นคำร้องต่อศาลอีก 3 ครั้ง คือ 29 มิ.ย.2560 "อดีตนายกฯ" ยื่นคำร้องขอให้องค์คณะออกไปเผชิญสืบโรงสีข้าวและคลังข้าวจังหวัดอ่างทอง 16 แห่ง ที่เชื่อว่า ไม่พบความเสียหายและการทุจริตตามข้อกว่างหา แต่ศาล เห็นว่าข้าว สามารถเสื่อมได้ตามกาลเวลา เวลานานกว่า 2 ปี ความเสียหายย่อมเป็นข้อเท็จจริง ไม่จำเป็นที่ต้อง "เผชิญสืบ" จึงให้ยกคำขอ

ต่อมา 7 กรกฎาคม 2560 ก่อนจะถึงนัดไต่สวนพยานจำเลยนัดสุดท้าย มีการยกข้อกฎหมายขึ้นโต้แย้ง เสนอประเด็นให้ศาลรัฐธรรมนูญ ตีความว่า มาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 2542 ขัดกับ มาตรา 235 รัฐธรรมนูญฯ ปี 2560 ซึ่งศาล ก็สั่งยกคำขอ ด้วยเหตุ ว่า คดีนี้ศาลให้โอกาส 2 ฝ่ายนำพยานหลักฐานเข้าไต่สวน อย่างเต็มที่แล้ว

อีกครั้ง เมื่อ 26 กรกฎาคม 2560 ทนายจำเลย งัด ก.ม.สู้เฮือกสุดท้ายอีกครั้ง ยื่นคำร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งและกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ กรณีไม่ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยประเด็น มาตรา 5 พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาฯ สุดท้ายองค์คณะ ยกคำร้องนี้ โดยยืนยันว่า เรื่องใดเข้าข้อกำหนด ส่งศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นอำนาจวินิจฉัยศาลยุติธรรม

กระทั่ง 1 ส.ค.60 ถึงเวลาของการแถลงปิดคดี "อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์" ได้อ่านเอกสาร 19 หน้า แถลงปิดคดีด้วยวาจา 6 ประเด็น สะอื้นไห้หน้าศาล 9 คน ไม่ได้ทำอะไรผิด แต่สิ่งที่ทำคือ ใช้ประสบการณ์ของผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง ผลักดันนโยบายเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีให้กับชาวนา ก่อนที่จะส่งเอกสารคำแถลงปิดด้วยลายลักษณ์ตามมาอีก 160 หน้า ขอให้ศาลพิพากษายกฟ้อง

logoline