svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

ประธาน กสม. ติง"กรธ."จุดยืนไม่นิ่ง

17 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

ประธาน กสม. เล็งหารือ กสม. หลัง สนช.ลงมติให้เซ็ตซีโร่ กสม. ทั้งคณะ แนะสนช.พิจารณาเหตุผลให้ถ่องแท้ อาจสร้างความคลางแคลใจแก่สถาบันสิทธิมนุษยชนในอาเซียน

     เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 เวลา 15.30 น. นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) แถลงภายหลังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (พรป.กสม.) ในวาระสองและสาม ให้เซ็ตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบันทั้งคณะว่า ในฐานะประธาน กสม. ยอมรับผลการพิจารณาตามขั้นตอนกฎหมายของ สนช. ส่วนจะเห็นด้วยหรือไม่เป็นอีกเรื่องหนึ่ง และจะนำมติของ สนช. เข้าหารือในที่ประชุม กสม. เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไร ที่สำคัญต้องรอฟังเหตุผลอย่างเป็นทางการจาก สนช. มาประกอบด้วย

     นายวัส กล่าวว่า ขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 267 เมื่อ สนช. พิจารณาร่าง พรป.กสม. แล้วเสร็จ ให้ส่งร่างฯ ไปให้องค์กรที่เกี่ยวข้อง ในกรณีนี้คือ กสม. และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เพื่อพิจารณา หากเห็นว่าร่างฯ ดังกล่าวไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ให้แจ้งประธาน สนช. ทราบภายใน 10 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่างฯ และให้ สนช. ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญคณะหนึ่ง จำนวน 11 คนขึ้นมาพิจารณา โดยประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องเป็น 1 เสียงอยู่ในคณะนี้ ทั้งนี้ส่วนตัวเห็นว่าควรจะต้องเดินไปตามครรลองที่รัฐธรรมนูญกำหนด และจะทำตามเงื่อนเวลาที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้โดยเร็ว

      “ผมรับได้ทุกอย่าง แต่ความเห็นของฝ่ายใดจะมีน้ำหนักยังมีขั้นตอนที่ดำเนินการได้ และสุดท้ายองค์กรประชาชนจะเป็นผู้ตัดสิน” ประธาน กสม. ระบุและยืนยันว่า กสม.ชุดปัจจุบันได้ผ่านการพิจารณาจาก สนช.ชุดนี้เมื่อปลายปี 2558 โดยกระบวนการตามกฎหมายเก่า แต่การสรรหาก็เป็นเครื่องยืนยันได้ว่า กสม.ชุดปัจจุบันมีความหลากหลายตามหลักการปารีส ทั้งนี้หลักการปารีสไม่ได้เขียนว่าหากกระบวนการสรรหาไม่หลากหลายแล้วจะต้องให้ กสม.ชุดนั้น ๆ พ้นจากหน้าที่แต่อย่างใด"

      ส่วนกรณีนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ระบุว่า กสม.ไทยไม่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศทำให้ต้องไปประชุมในฐานะทีมงานของกระทรวงการต่างประเทศนั้น นายวัส กล่าวว่า เป็นข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ขอยืนยันว่า กสม. ไม่ได้ไปประชุมในฐานะทีมงานของกระทรวงการต่างประเทศ ต่างคนต่างมีบทบาทของตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าร่วมประชุมคณะกรรมการประจำอนุสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศที่ไทยเป็นภาคี กสม.ไทยถือว่ามีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกับประเทศภาคีสมาชิกอื่น

     “เป็นที่น่าสังเกตว่า กรธ.อ้างเหตุผลจากต่างประเทศเพื่อเซ็ตซีโร่ กสม.ชุดนี้ แต่จุดยืนของ กรธ. ไม่นิ่ง เห็นได้จากในร่าง พรป.กสม.ของ กรธ.ฉบับวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2560 มีบทบัญญัติเรื่องความคุ้มกันการปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริต กสม.ไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่งหรือทางอาญา แต่ในร่างที่ กรธ. ส่งเข้า สนช. กลับถอดหลักเกณฑ์ข้อนี้ออกไป ครั้นมี สนช. สอบถามในการประชุมพิจารณาวาระแรกขั้นรับหลักการเมื่อวันที่  30 มิถุนายน 2560 ฝ่าย กรธ. กลับตอบว่าใส่หลักเกณฑ์ข้อนี้ไม่ทัน จะขอไปใส่ในชั้น สนช. และเป็นผู้แทนของ กสม. ที่ได้เสนอขอให้ใส่ความคุ้มกันกลับเข้าไปในร่าง พรป.กสม. เพราะหากไม่มีมาตรการดังกล่าวนี้ กสม.ไทยจะไม่มีทางเรียกสถานะ A กลับคืนมาได้” ประธาน กสม. ระบุ

     นายวัส กล่าวด้วยว่า กสม.ชุดปัจจุบันมีผลงานเป็นที่ชื่นชมในเวทีระหว่างประเทศและได้รับคำชมเชยว่าเป็นแบบอย่างที่ดีในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชน และที่สำคัญ ได้ดำเนินการผลักดันให้รัฐบาลและภาคธุรกิจร่วมกันลงนามในปฏิญญาว่าจะนำหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนขององค์การสหประชาชาติมาปฏิบัติใช้ในประเทศ อันเป็นกลไกผลักดันให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน จนเลื่องลือไปยังสหภาพยุโรปและทั่วโลก จึงอยากให้ สนช. พิจารณาเหตุผลให้ถ่องแท้ เพราะการเซ็ตซีโร่หรือแม้กระทั่งลดวาระการดำรงตำแหน่งของ กสม.ชุดปัจจุบัน อาจจะสร้างความคลางแคลงใจแก่สถาบันสิทธิมนุษยชนในอาเซียนและองค์การระหว่างประเทศได้

logoline