svasdssvasds
เนชั่นทีวี

การเมือง

สนช.พิจารณาร่างกฎหมาย 4 ชั่วโคตร

17 สิงหาคม 2560
เกาะติดข่าวสาร >> Nation Story
logoline

หลังจากคณะรัฐมนตรี เห็นชอบร่างกฎหมาย 4 ชั่วโคตร ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้พิจารณาในวันนี้

วันนี้ที่ประชุม สนช.ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการทำผิดเกี่ยวกับการขัดระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม หรือ กฎหมาย 4 ชั่วโคตร หลัง ครม.เห็นชอบ โดยในวันนี้ ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะพิจารณาว่าจะรับหลักการในวาระแรกหรือไม่

ส่วนตัวร่างกฎหมายที่เข้าสู่การพิจารณา มีการระบุหลักการและเหตุผลว่า การบริหารงานของรัฐ ต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส เปิดเผย และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน จึงสมควรกำหนดมาตรการ เพื่อป้องกันและปราบปรามการกระทำอันเป็นการขัดกันของผลประโยชน์ เพื่อเป็นการขจัดการทุจริจและประพฤติมิชอบ
โดยเนื้อหาของกฎหมายฉบับนี้ เป็นการป้องกันเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต รวมถึงเอื้อประโยชน์ให้แก่ญาติของตัวเอง ซึ่งที่คนจับตาดู คือ นิยามของคำว่า ญาติ ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ในตอนแรกเป็นที่มาของคำว่า 7 ชั่วโคตร แต่ต่อมาก็ได้ปรับลดระดับลง เหลือเพียง 4 ชั้น ประกอบด้วย บุพการี เจ้าตัว -คู่สมรส พี่น้อง ทั้ง ร่วมและ ต่าง บิดา มารดา และบุตรบุญธรรม

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือมีการกำหนดผลประโยชน์ที่ไม่ควรได้ อย่าง การให้ค่านายหน้า หรือ ค่าธรรมเนียมการเป็นตัวแทน การขาย หรือการให้เช่าซื้อทรัพย์สินมูลค่าต่ำกว่า หรือ สูงกว่า ความเป็นจริงในท้องตลาด การให้ใช้สถานที่ ยานพาหนะ หรือ ทรัพย์สิน โดยไม่คิดค่าเช่า หรือคิดค่าเช่าน้อยกว่าที่คิดแก่บุคคลอื่นการจัดเลี้ยงให้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือ คิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่คิดแก่บุคคลอื่น

ขณะเดียวกันกฎหมายฉบับนี้ยังกำหนด ห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐ เข้าไปมีส่วนได้เสีย ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม เพื่อประโยชน์ของตัวเองหรือบุคคลอื่น อย่างการกำหนดนโยบาย หรือ เสนอให้ความเห็นชอบร่างกฎหมาย ที่เอื้อประโยชน์แก่ญาติตัวเอง การเสนอจัดทำ หรือ อนุมัติโครงการของรัฐโดยทุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตัวเอง การใช้ทรัพย์สินของหน่วยงาน เพื่อประโยชน์ของตัวเอง การใช้ตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต ไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของคนอื่น อย่าง การโอนย้ายตำแหน่ง เลื่อนเงินเดือน ออกคำสั่งทางปกครอง

นอกจากนี้กำหนดห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่รัฐ รับของขวัญของที่ระลึก เงินทรัพย์สิน ส่วนเจ้าหน้าที่รัฐที่พ้นจากตำแหน่งไปแล้วไม่ถึง 2 ปี ก็ห้าม เป็นกรรมการที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง หรือ ดำรงตำแหน่งอื่น ในธุรกิจของเอกชนที่เคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ที่เคยกำกับดูแล
สำหรับโทษสูงสุดตามกฎหมายฉบับนี้ คือ จำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และถ้าเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้กระทำต้องลงโทษสองเท่า

logoline